ปางช้างต่างๆ ไม่มีผู้ไม่เที่ยวชม, ข้าวของสินค้าแปลกๆ ตามตลาดขายไม่ออก, ขณะที่รถตุ๊กตุ๊กต่างจอดนิ่งไม่มีลูกค้า เหล่านี้คือตัวอย่างสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเผชิญหน้าการสูญเสียเงินทองเป็นพันเป็นหมื่นล้านดอลลาร์ สืบเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนหดหาย นับแต่ที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19”
ตั้งแต่ หลวงพระบาง ทางภาคเหนือของลาว ไปจนถึง พัทยา ในประเทศไทย ฮอยอัน ในเวียดนาม ไปจนถึง พระสีหนุ (สีหนุวิลล์) เมืองกาสิโนในกัมพูชา ล้วนแล้วแต่อยู่ในอาการย่ำแย่ ขณะที่นักเดินทางท่องเที่ยวชาวจีนพบว่าตนเองตกเป็นเป้าหมายของมาตรการจำกัดควบคุมทั้งจากภายในแดนมังกรเองและจากหลายพื้นที่ในต่างประเทศ
“เราไม่ได้เห็นคนจีนเอาเลยมาเป็นเวลา 10 วันแล้วนับตั้งแต่ที่พวกเขาปิดถนนสายที่มาจากยุนนาน “ เป็นคำบอกเล่าของ ออง เตา วัย 47 ปี จากแผงขายผลไม้ปั่นของเธอในเมืองหลวงพระบาง เมืองเก่าซึ่งเต็มไปด้วยวัดวาอาราม
“ขายของลดลงไป 20-30 เปอร์เซ็นต์ ... แล้วมันคงจะแย่ยิ่งกว่านี้อีก” เธอบ่น
ทั้งมัคคุเทศก์นำเที่ยว, พนักงานตามศูนย์การค้า, และคนทำงานภัตตาคารร้านอาหาร ล้วนแต่กำลังรู้สึกได้ถึงความสูญเสีย จากการที่คนจีนซึ่งเป็นนักเดินทางท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดของโลก พากันอยู่บ้านท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขที่กำลังแผ่ลามไปทั่วโลก ผสมผเสกับข่าวลือข่าวปลอมที่หลายคนหลายฝ่ายบอกว่าแพร่กระจายไปอย่างน่ากลัวยิ่งกว่าโรคระบาดจริงๆ เสียอีก
“เพื่อนผมเจอกรุ๊ปทัวร์ใหญ่ๆ ยกเลิกไปแล้ว 4-5 กรุ๊ป ... พวกเขาควรจะเป็นตัวทำรายได้ให้แก่ช่วงโลว์ซีซั่นของเพื่อนผมนะ” ที ไกด์ผู้หนึ่งในหลวงพระบางซึ่งยอมบอกเพียงชื่อเล่น กล่าว ขณะที่มีรถตุ๊กตุ๊กจำนวนมากพากันจอดนิ่งอยู่ด้านหลังของเขา
แต่ในฐานะที่เป็นหนึ่งในประเทศซึ่งมีทรัพยากรพรักพร้อมรับมืออยู่น้อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมาจึงอาจจะถือเป็นด้านที่สดใสด้านหนึ่งก็ได้ นอกเหนือจากความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลันเช่นนี้แล้ว
“เราไม่รู้หรอกเกี่ยวกับวิธีการที่จะป้องกันพวกเราเอง” จากโรคระบาด เขากล่าวต่อ “รัฐบาลไม่ได้บอกกล่าวอะไรกับประชาชนเลย ... ดังนั้นการมีคนจีนเข้ามาน้อยลงก็อาจเป็นเรื่องดีก็ได้สำหรับในตอนนี้”
เงินกู้และการตกงาน
การหล่นวูบอย่างฮวบฮาบเป็นสิ่งที่กำลังรู้สึกกันได้อย่างชัดเจนมากในประเทศไทย ที่ซึ่งพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวบอกว่า จำนวนผู้ที่เดินทางมาจากจีน –ซึ่งปกติอยู่ในระดับเกือบๆ 1 ล้านคนต่อเดือน— ได้หายหดสุดกู่ถึง 90% ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นับจนถึงขณะนี้
ที่ปางช้าง “ช้าง ไซแอม เอเลเฟน ปาร์ก” ในพัทยา นันทกร พัฒน์น้ำรอบ ผู้เป็นเจ้าของแสดงความหวั่นเกรงว่า อีกไม่ช้าไม่นานเขาอาจถูกบีบคั้นให้ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อประคับประคองธุรกิจ ซึ่งทำให้เขาสูญเสียไปเกือบๆ 65,000 ดอลลาร์ (ราว 2 ล้านบาทเศษ) แล้ว ตั้งแต่ที่เกิดโรคระบาด
“คนเขาหวาดกลัวไม่กล้ามาเที่ยว” เขาบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี “ถ้าหากมันยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ผมก็จะต้องไปขอเงินกู้จากแบงก์แล้วล่ะ”
พวกฟาร์มจระเข้ และสวนเสือ –สถานที่โปรดปรานของพวกนักท่องเที่ยว ถึงแม้ก่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งกันไม่ใช่เบา โดยตามแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ ผู้ไปเยือนสามารถเล่นกับสัตว์เหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง – ก็ร้างไร้แขกผู้ไปเที่ยว ทิ้งให้พวกเจ้าของต้องเสียค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเหล่าสตาร์ที่เป็นเสน่ห์เรียกความสนใจ
โรคระบาดยังขู่ขวัญสร้างความหวาดหวั่นให้แก่พวกนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกในช่วงพีคของฤดูท่องเที่ยว หลังจากที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยต้องผ่านระยะเวลาอันยากลำบากอยู่ก่อนแล้วสืบเนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาท
ประเทศไทยคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะลดน้อยลงไปราว 5 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งหมายถึง “รายรับที่จะหายไป 250,000 ล้านาท (มากกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์)” ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ของธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผย
“ความหวังของเราที่ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะทำได้ดีกว่าเมื่อปีที่แล้วนั้น มีความเป็นไปได้น้อยมาก ... เป็นไปได้ทีเดียวว่ามันอาจจะเติบโตต่ำกว่า 2%” เขากล่าวต่อ
นี่ย่อมหมายถึงข่าวร้ายสำหรับคนไทยจำนวนมากมายทว่ายังไม่มีตัวเลขอันชัดเจน ซึ่งอยู่ในภาคการท่องเที่ยว
มะ เมียะ (Ma Mya) วัย 22 ปี ซึ่งขายของเบ็ดเตล็ดกระจุกกระจิกอยู่ในพัทยา บอกว่าอีกไม่นานเธอคงต้องกลับไปบ้านซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ
“มันไม่มีกำไรเอาเลย – ทุกๆ อย่างมีแต่แย่ลงไปเรื่อยๆ”
ทุกๆ อย่างจะดีขึ้น
จากการที่ต้องพึ่งพาอาศัยนักท่องเที่ยวจีนซึ่งไหลทะลักเข้ามาตามฤดูกาล อย่างมากมายเหลือเกิน บางประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงกำลังดิ้นรนหาทางไม่ให้มีอะไรมารบกวนพวกคนจีนที่ยังคงเดินทางมาเที่ยวกันอยู่
ประเทศไทยยินดีให้นักท่องเที่ยวชาวจีนสามารถขอวีซ่าได้เมื่อเดินทางมาถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองของไทยแล้ว (visa on arrival) ถึงแม้ในช่วงแรกๆ มีเสียงคัดค้านจากผู้คนในสื่อสังคมที่อุดมด้วยความหวาดผวาเนื่องจากข่าวลือนานา โดยในปัจจุบัน ไทยพบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 34 คน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต รองลงมาจากญี่ปุ่น ซึ่งมี 413 ราย เสียชีวิต 1 ราย, สิงคโปร์ 72 ราย, และฮ่องกง 57 ราย เสียชีวิต 1 ราย
ในบรรดาผู้ป่วยที่ประเทศไทย มีอย่างน้อย 2 รายซึ่งเป็นคนไทยที่ติดโรคหลังจากขับรถรับส่งผู้โดยสารชาวจีนที่ป่วยด้วยไวรัส ทำให้เกิดเสียงแสดงความหวาดหวั่นว่า เศรษฐกิจกำลังมีลำดับความสำคัญเหนือกว่าการรับมือจัดการกับวิกฤตการณ์สาธารณสุขครั้งนี้หรืออย่างไร
สำหรับกัมพูชา ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของปักกิ่ง และมีรายงานยืนยันพบผู้ติดเชื้อเพียงรายเดียว ท่ามกลางความสงสัยข้องใจโดยเฉพาะจากฝ่ายตะวันตก เนื่องจากมีชาวจีนอยู่ในประเทศนั้นจำนวนมาก ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีฮุนเซน ยังคงกล่าวย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อมุ่งลดทอนน้ำหนักเกี่ยวกับความเสี่ยงของโรคระบาดที่จะมีกับประเทศนี้
กระนั้น การท่องเที่ยวของกัมพูชาก็กำลังได้รับความกระทบกระเทือนอย่างแรงอยู่นั่นเอง
ยอดขายบัตรผ่านประตูเข้าไปชมโบราณสถานนครวัดนครธมอันมีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัดเสียมเรียบ ตกลงมาระหว่าง 30-40 % ในปีนี้ ขณะที่ในเมืองพระสีหนุ เมืองพักผ่อนตากอากาศริมทะเลทางภาคใต้ของประเทศซึ่งฉาวโฉ่เลื่องลือเรื่องบ่อนพนันกาสิโน รายได้จากนักท่องเที่ยวก็เหี่ยวแห้งหดลด
“ผมเคยทำได้วันละ 100 ดอลลาร์” จันธา รีค ผู้ขับขี่รถแท็กซี่แบบเรียกผ่านแอป บอก “ตอนนี้เหลือแค่ 10 ดอลลาร์เท่านั้น”
ธุรกิจทั้งหลายจึงต่างกำลังภาวนาให้ไวรัสร้ายถูกควบคุมได้โดยเร็ว และเศรษฐกิจสามารถดีดตัวกลับฟื้นขึ้นมาได้ไวๆ
ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามา 10 ล้านคนต่อปี ประเทศไทยหวังว่าบาดแผลที่เกิดขึ้นจะทุเลาลงภายในเวลาไม่กี่เดือน
เหริน หรัน หญิงวัย 25 ปี ชาวเมืองเฉิงตู ในมณฑลเสฉวน ของจีน ผู้มาเยือนไทยอยู่เป็นประจำ ยังคงมาเที่ยวพัทยาถึงแม้คำเตือนต่างๆ ในเรื่องโรคระบาด
“ฉันสนใจแค่นิดหน่อยเท่านั้นแหละ ในเรื่องที่ว่ายังมีประเทศอื่นๆ ต้อนรับพวกเรามากน้อยแค่ไหน” เธอบอกกับเอเอฟพี “แต่เมื่อมันมีการบำบัดรักษาได้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะดีขึ้น”
(เก็บความและเพิ่มเติมจากเรื่อง Southeast Asia feels the burn as virus keeps Chinese tourists at home ของสำนักข่าวเอเอฟพี)