xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง : ทั้ง ‘ทรัมป์’ และ ‘ไบเดน’ ต่างมุ่งขี่กระแส ‘อเมริกันชนไม่ชอบจีน’ เพื่อชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวอเมริกันเวลานี้กำลังมีความรู้สึกเป็นปรปักษ์กับจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ และทั้ง 2 พรรคการเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นรีพับลิกัน หรือเดโมแครต ต่างพยายามฉวยคว้าหล่อเลี้ยงมู้ดของมวลชนเช่นนี้มาสร้างความได้เปรียบให้ตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 นักการเมืองซึ่งน่าจะกลายเป็นตัวแทนของพรรคทั้งสอง เข้าชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในการเลือกตั้งต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ โจ ไบเดน

ผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกัน ที่กระทำโดยศูนย์กลางวิจัย พิว รีเสิร์ช เซนเตอร์ (Pew Research Center ) ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (https://www.pewresearch.org/global/2020/04/21/u-s-views-of-china-increasingly-negative-amid-coronavirus-outbreak/) เปิดเผยให้เห็นว่า “ประมาณกันอย่างหยาบๆ ประมาณสองในสามของอเมริกันชนเวลานี้บอกว่า พวกเขามีความคิดเห็นในทางไม่ชอบประเทศจีน ถือเป็นเปอร์เซ็นต์ความรู้สึกลบต่อประเทศนี้ที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ที่สถาบันแห่งนี้เริ่มต้นถามคำถามนี้ในปี 2005 และเพิ่มขึ้นเกือบๆ 20 เปอร์เซนต์นับตั้งแต่คณะบริหารทรัมป์เริ่มบริหาร” ปกครองสหรัฐฯ ในปี 2017

“มีเพียงราว 1 ใน 4” ของอเมริกันชนซึ่งสำรวจโดยพิว ที่บอกว่า “มีทัศนคติในทางชื่นชอบ” ประเทศจีน

จุดที่สำคัญมากก็คือ “ในกลุ่มประชากรต่างๆ หลากหลายทั่วไปหมด มีทัศนะเชิงลบต่อจีนเป็นจำนวนมาก” เป็นต้นว่า ผลการสำรวจครั้งนี้พบว่าผู้คนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจะมองจีนในแง่บวกมากกว่าอเมริกันชนซึ่งอายุมากกว่า เวลานี้กลับมีทัศนะเชิงลบต่อประเทศนี้กันสูงขึ้น รวมทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่จะมองจีนเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯยิ่งกว่าในปีก่อนๆ ขณะเดียวกัน อเมริกันชนในกลุ่มอายุมากกว่า ยังคงมีจุดยืนแง่ลบยิ่งกว่าเพื่อนร่วมชาติซึ่งอายุน้อยกว่าของพวกตน ในแง่มุมด้านต่างๆ แทบทั้งหมดของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

ประมาณกันอย่างหยาบๆ ได้ว่า 6 ใน 10 ของผู้ที่แสดงตัวเป็นชาวพรรคเดโมแครต รวมทั้งพวกความคิดเห็นอิสระที่เอนเอียงไปทางเดโมแครต ... และ 7 ใน 10 ของผู้ที่แสดงตัวเป็นชาวรีพับลิกัน รวมทั้งพวกความคิดเห็นอิสระที่เอนเอียงไปทางรีพับลิกัน ... ต่างมีทัศนะไปในทางไม่ชื่นชอบจีน” ตามรายงานผลการสำรวจของ พิว

ในทางกลับกัน รายงานผลการสำรวจครั้งนี้ของพิว กล่าวต่อไปด้วยว่า “เวลานี้มีชาวอเมริกันเพิ่มมากขึ้นที่มองเห็นว่า สหรัฐฯเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจผู้นำหน้ากว่าใครเพื่อนของโลก ซึ่งถือว่าสูงกว่าการสำรวจครั้งใดๆ ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา” และ “เชื่อกันอย่างมากมายท่วมท้นเช่นกันว่าประเทศของพวกเขาเป็นผู้นำในด้านการทหารของโลก และเชื่ออีกว่าโลกนี้ดีขึ้นด้วยการมีสหรัฐฯเป็นผู้นำ เมื่อเปรียบเทียบกับการให้จีนเป็นผู้นำ”

การที่ ทรัมป์ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ เที่ยวโจมตีจีนในเรื่องโควิด-19 กระทั่งร่วมเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดที่ว่าไวรัสโคโรนานี้ออกมาจากห้องแล็บไวรัสวิทยาในเมืองอู่ฮั่น แบบไม่เกรงอกเกรงใจพวกนักวิทยาศาสตร์ในโลกรวมทั้งนักวิทยาศาสตร์อเมริกัน และกระทั่งหน่วยงานข่าวกรองอเมริกันเองถูกตีความว่าเป็นความพยายามของประมุขสหรัฐฯ ที่จะโบ้ยความผิดไปที่คนอื่น เพื่อหันเหความสนใจจากความผิดพลาดบกพร่องของคณะบริหารทรัมป์เอง ในเรื่องการรับมือจัดการกับโรคระบาดนี้ในสหรัฐฯ จนทำให้อเมริกากลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก และมีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดเนี้สูงที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำเอาเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของอเมริกันชนมาพิจารณาด้วย คำอธิบายที่ดูจะรอบด้านมากกว่าก็คือ ทรัมป์กำลังใช้การโจมตีจีน ทั้งเพื่อเบนความสนใจให้ออกจากความผิดพลาดร้ายแรงของตนเอง และทั้งมุ่งขี่กระแสเป็นปรปักษ์กับจีนเพื่อเรียกคะแนนเสียง

แล้วไม่เพียงเฉพาะทรัมป์ และพรรครีพับลิกันเท่านั้น ค่ายเดโมแครตของไบเดนก็กำลังวางแผนหาประโยชน์จากมู้ดของอเมริกันชนในเรื่องนี้

ในรายงานพิเศษชิ้นหนึ่งเมื่อเร็วๆ ของสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งได้ไปสัมภาษณ์ เจค ซุลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาอาวุโสของไบเดน เขาเปิดเผยว่าทีมรณรงค์หาเสียงของไบเดนกำลังเตรียมตัวที่จะเปิดเผยนโยบายต่างๆ ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า คณะบริหารในอนาคตของไบเดน จะรับมือและจัดการกับจีนได้ดีกว่าทรัมป์ รวมทั้งจะแสดงให้เห็นด้วยว่าทรัมป์นั้นอ่อนปวกเปียกอย่างไรบ้างในการต่อสู้กับคู่แข่งระดับท็อปทั้งในทางภูมิรัฐศาสตร์และในทางเศรษฐกิจของอเมริการายนี้

“ท่านรองประธานาธิบดีมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำ 2 อย่าง ได้แก่ การทำให้ทรัมป์ต้องแสดงความรับผิดสำหรับความล้มเหลวชุดใหญ่ในเรื่องการติดต่อสัมพันธ์กับจีนของเขาซึ่งกำลังก่อให้เกิดความวิบัติหายนะ และอีกอย่างหนึ่งคือการชี้ให้เห็นว่าทรัมป์พูดจาแข็งกร้าวแต่การกระทำกลับอ่อนปวก โดยมีช่องว่างอย่างใหญ่โตมโหฬารระหว่างคำพูดกับการกระทำของเขา” ซุลลิแวนบอก ทั้งนี้เขาเป็นหนึ่งในอดีตเจ้าหน้าที่คณะบริหารโอบามาหลายๆ คนซึ่งเวลานี้มาอยู่ในทีมนโยบายการต่างประเทศของไบเดน ขณะที่ไบเดนรับตำแหน่งหมายเลข 2 ของประธานาธิบดีบารัค โอบามาตลอดระยะเวลา 8 ปี


ว่าเฉพาะเรื่องไวรัสโคโรนา ซุลลิแวนเผยว่า ไบเดนจะวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์ไม่หยุดยั้ง ในเรื่องที่ทรัมป์ได้เคยกล่าวชมเชยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงแม้ทั่วโลกบังเกิดความกังวลว่าผู้นำมังกรขาดไร้ความโปร่งใสในเรื่องความร้ายแรงของวิกฤตการณ์ครั้งนี้

เกี่ยวกับการสร้างพันธมิตรทั่วโลก ทีมงานของไบเดนจะมุ่งชี้ให้เห็นว่า ทรัมป์กำลังกลายเป็นผู้ช่วยเหลือจีน ด้วยการบ่อนทำลายความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯ มีอยู่กับพวกชาติพันธมิตรเก่าแก่แต่ไหนแต่ไรมาของตน รวมทั้งยังกำลังลดทอนบทบาทและอิทธิพลของอเมริกาซึ่งมีอยู่ในพวกสถาบันระหว่างประเทศแห่งต่างๆ

สำหรับสงครามการค้ากับจีนที่ดำเนินมาเป็นปีๆ แล้ว ทีมรณรงค์หาเสียงของไบเดนจะเน้นย้ำข้อโต้แย้งของฝ่ายตนที่ว่า สิ่งที่ทรัมป์ทำอยู่ มีแต่ทำให้อเมริกันชนต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าราคาแพงขึ้น ขณะที่แทบไม่ได้รับอะไรตอบแทนกลับคืนมา

“เป็นเรื่องดีอยู่หรอกที่ท่านประธานาธิบดีต้องการที่จะผลักดันให้จีนยอมดำเนินการเปลี่ยนแปลง” ซุลลิแวน กล่าว “แต่สิ่งที่คุณจะถูกวิ นิจฉัยตัดสินนั้น ไม่ใช่เรื่องการผลักดันหรอกนะ แต่ต้องดูที่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรแค่ไหน”

ถึงแม้ยังอีกหลายเดือนกว่าถึงวันเลือกตั้ง 3 พฤษจิกายน แต่เวลานี้ผู้สมัครทั้งสองก็กำลังใช้เงินกันเป็นล้านๆ ดอลลาร์แล้วในการโฆษณาหาเสียงซึ่งพุ่งเป้าโจมตีประวัติและผลงานเกี่ยวกับจีนของอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้มันกลายเป็นจุดโฟกัสจุดหนึ่งของการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไปอย่างรวดเร็ว

ทีมหาเสียงของทรัมป์ยืนยันว่า ไบเดนจะไม่สามารถแข็งกร้าวเหนียวแน่นกับจีนได้เท่ากับทรัมป์ ในอีเมลที่ส่งถึงพวกผู้สนับสนุนของเขาเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ทีมรณรงค์ของประธานาธิบดีสังกัดพรรครีพับลิกันผู้นี้ ได้เรียกไบเดนว่าเป็น “ผู้สมัครที่รักชอบจีน” (China-loving candidate)

“โจ ไบเดน มีประวัติและผลงานที่เลวร้ายมากในเรื่องเกี่ยวกับจีน คอยแต่เอาอกพอใจจีนเรี่อยมาตลอดเวลา 4 ทศวรรษที่เขาอยู่ในวอชิงตัน” ซาราห์ แมตทิวส์ (Sarah Matthews) โฆษกทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ กล่าวถึงไบเดน ซึ่งก่อนเป็นรองประธานาธิบดี ก็เป็นวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ อยู่หลายสมัย

“ท่านประธานาธิบดีทรัมป์นั้นจะกดดันเรียกร้องเสมอมาให้จีนต้องรับผิดสำหรับการกระทำของพวกเขา แต่ ปักกิ่งไบเดน (Beijing Biden ฉายาที่ทรัมป์และทีมงานตั้งขึ้นมาเพื่อใช้โจมตีไบเดน) นั้นไม่สามารถไว้วางใจได้เลยจริงๆ ในเรื่องการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของอเมริกา” เธอกล่าวต่อ

ไม่เพียงเรื่องไวรัสโคโรนา ช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังๆ นี้ ทรัมป์ยังเพิ่มความเข้มข้นในการวิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่งในเรื่องอื่นๆ รวมทั้งข่มขู่จะใช้มาตรการขึ้นภาษีรอบใหม่ หรือถึงขั้นตัดสัมพันธ์กันเลย ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่ของเขากำลังพิจารณามาตรการในการลงโทษหลังจากกล่าวหาปักกิ่งต้องรับผิดชอบเรื่องโควิด-19 ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการออกกฎระเบียบใหม่ซึ่งมุ่งบีบคั้น หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ อย่างสาหัส

“ปล่อยให้เกิดสุญญากาศ”

แทนที่จะใช้วิธีการแบบอเมริกา-โดดๆ เดียวดาย เท่านั้นที่ต่อสู้กับจีน อย่างที่ทรัมป์กระทำอยู่ ไบเดนจะทำงานร่วมกับพวกประเทศที่มีความคิดเห็นทำนองเดียวกัน ในการกดดันประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก, เพิ่มความเข้มแข็งในเรื่องการจำกัดการถ่ายโอนเทคโนโลยี และยกระดับประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนให้ขึ้นสู่ระดับสูงสุด ซุลลิแวน บอก

ชาวพรรคเดโมแครตกำลังเชื่อกันว่า เป็นยุทธศาสตร์ที่เฉียบแหลมในการทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นการลงประชามติตัดสินเรื่องผลงานเกี่ยวกับจีนของทรัมป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อพวกผู้ลงคะแนนที่เป็นพวกอิสระไม่ฝักใฝ่พรรคใดเป็นพิเศษ จะเป็นพวกที่ทรงความสำคัญยิ่งยวด ในการชิงชัยครั้งนี้ซึ่งผู้สมัครของทั้ง 2 พรรคน่าจะได้คะแนนคู่คี่กันมากๆ

ทั้งนี้ ผลโพลของรอยเตอร์/อิปซอส (Reuters/Ipsos) ที่สำรวจความความคิดเห็นของชาวอเมริกันระหว่างวันที่ 15 ถึง 21 เมษายน แสดงให้เห็นว่า 52% ของผู้ที่บอกว่าตนเป็นพวกอิสระ ไมพอใจการรับมือกับจีนของทรัมป์ เปรียบเทียบกับที่มี 33% ซึ่งพอใจ


อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์บางคนและผู้เชี่ยวชาญนโยบายเรื่องจีนบางรายที่เห็นว่า ในที่สุดแล้วไบเดนยังจำเป็นที่จะต้องเสนอวิสัยทัศน์ซึ่งมีรายละเอียดแจกแจงในเรื่องที่ว่าเขาจะทำให้ดีกว่าทรัมป์ในอย่างไรในเรื่องเกี่ยวกับจีน อันเป็นภารกิจซึ่งเห็นกันว่าออกจะยุ่งยากซับซ้อนสืบเนื่องจากมรดกนโยบายจีนในยุคคณะบริหารโอบามา-ไบเดน

บอนนี แกลเซอร์ (Bonnie Glaser) ผู้อำนวยการของโครงการ ไชน่า พาวเวอร์ (China Power Project) ที่ ศูนย์กลางเพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies) คลังสมองด้านนโยบายการต่างประเทศชื่อดังซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ชี้ว่า พวกผู้นำจีนเคยพึงพอใจและคาดหวังว่าจะได้ประโยชน์จากการโอนอ่อนของคณะบริหารโอบามา-ไบเดน สืบเนื่องจากการที่คณะบริหารดังกล่าวยืนยันเรื่อยมาว่า ประเด็นปัญหาสำคัญๆ ระดับโลกจะไม่สามารถแก้ไขคลี่คลายได้ถ้าหากปราศจากความช่วยเหลือของฝ่ายจีน

เธอเรียกร้องต่อไปว่า คณะบริหารไบเดนหากจะเกิดขึ้นมาในอนาคต จำเป็นที่จะต้องระมัดระวังอย่าไป “จมปลัก” อยู่ในการสนทนาทางการเมืองกับปักกิ่ง

นอกจากนั้นแล้ว ไบเดนยังทำให้ประชาคมนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯพากันขมวดคิ้วด้วยความกังขาเมื่อปีที่แล้ว ตอนที่เขาพูดแบบไม่ค่อยให้ราคาแก่ความสามารถของจีนในการแข่งขันชิงชัยกับสหรัฐฯ

ทางด้านซุลลิแวนยอมรับว่า การทำให้พวกชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ แสดงความร่วมมือร่วมใจกับอเมริกาในการเผชิญหน้าจีนนั้น จะไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายดายแน่นอน แต่เขายังคงกล่าวปกป้องการที่ไบเดนยืนยนว่าจะต้องใช้วิธีการแบบพหุภาคีในการจัดการกับจีน โดยระบุว่า มันเป็นการใช้ “คำพูดที่อ่อนโยน” แต่ “ไม่ใช่นโยบายที่อ่อนปวก”

การรวมเอาพวกชาติเศรษฐกิจตลาดก้าวหน้าทั้งหลายมาบีบคั้นจีน ย่อมจะเป็น “เรื่องดีกว่าเยอะแยะมากมายนัก กับการมีเพียงสหรัฐฯ เท่านั้นซึ่งเลือกที่จะพยายามต่อสู้ทำสงครามการค้ากับจีนทั้งหมดทั้งสิ้นด้วยตัวเราเอง” เขากล่าวต่อ

เขาบอกด้วยว่า ไบเดนยังจะพิจารณาเรื่องการขยายเพิ่มเติมข้อจำกัดต่างๆ เพื่อสกัดกั้นการถ่ายโอนเทคโนโลยีให้จีน โดยเฉพาะเมื่อเป็นเทคโนโลยีซึ่งจีนนำไปใช้เพื่อช่วยให้สามารถกักกันผู้คนที่ส่วนใหญ่คือชาวมุสลิมชาติพันธุ์อุยกูร์จำนวน 1 ล้านคนหรือกว่านั้นในแคว้นซินเจียง โดยนี่จะถือเป็นประเด็นปัญหาหนึ่งซึ่งไบเดนจะหยิบยกขึ้นมาพูดกับสีโดยตรง

ซุลลิแวนบอกว่า ไบเดนยังจะเพิ่มการให้เงินทุนสนับสนุนเพื่อ นวัตกรรม, การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานของอเมริกัน พร้อมกับระบุว่าคณะบริหารทรัมป์ได้ยินยอมอ่อนข้อแก่จีนในการแข่งขันทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“พูดกันจริงๆ แล้ว ทรัมป์กำลังปล่อยให้เกิดสุญญากาศที่ให้จีนเข้ามาเติมเต็มได้” ซุลลิแวนบอก “เวลานี้คุณกำลังได้ใครคนหนึ่งในห้องทำงานรูปไข่ (ของทำเนียบขาว) ผู้ซึ่งติดแน่นอยู่กับพวกเหล็กกล้า, ถ่านหิน, และเรือประจันบาน แทนที่จะเป็นเรื่อง ควอนตัมคอมพิวเตอร์, ปัญญาประดิษฐ์, และเทคโนโลยีชีวภาพ”

(รวบรวมและเก็บความจากเรื่อง Biden to hammer Trump's 'tough talk, weak action' on China, top adviser says ของสำนักข่าวรอยเตอร์ และเรื่อง Deciphering Trump’s political attacks on China ในเอเชียไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น