xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ‘ทรัมป์’ ไม่แคร์โลก! เดินหน้านำสหรัฐฯ ถอนตัว WHO มะกันสยองติดเชื้อพุ่งวันละ 6 หมื่น-ยอดรวมทะลุ 3 ล้าน ผู้นำบราซิลจ๋อยติด ‘โควิด-19’ หลังเย้ยแค่หวัดทั่วไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ ยังเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ขั้นรุนแรง ล่าสุด ยอดผู้ติดเชื้อรายวันทำสถิติพุ่งสูงถึงวันละ 60,000 คน ขณะที่ยอดผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศเกินกว่า 3 ล้านคน ทว่า รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงดึงดันที่จะนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างเป็นทางการ ขณะที่ออสเตรเลียต้องสั่งล็อกดาวน์นครเมลเบิร์น และเตรียมชะลอการรับพลเมืองกลับเข้าประเทศเพื่อยับยั้งการระบาดระลอกสอง ส่วนประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู แห่งบราซิล ซึ่งต่อต้านการเว้นระยะห่างทางสังคมมาโดยตลอดมีผลตรวจยืนยันแล้วว่าติดเชื้อโควิด-19

จากฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ จนถึงเช้าวันพฤหัสบดี (9 ก.ค.) จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกพุ่งแตะ 12 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสมรณะกว่า 544,000 คน โดยหลายประเทศที่ตัดสินใจเปิดเมืองไปแล้วต้องหันกลับมาฟื้นมาตรการล็อกดาวน์อีกหน เนื่องจากยอดผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก สะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตโรคระบาดคราวนี้จะยังคงยืดเยื้อไปอีกนาน

กว่า 20 รัฐในอเมริกามียอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแคลิฟอร์เนีย, ฮาวาย, ไอดาโฮ, มิสซูรี, มอนทานา, โอกลาโฮมา และ เทกซัส มีรายงานผู้ป่วยใหม่สูงเป็นประวัติการณ์ในวันอังคาร (7) ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่ามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายพื้นที่ยังคงล้มเหลว

โรงพยาบาลกว่า 40 แห่งใน 25 เทศมณฑลของรัฐฟลอริดารายงานว่าเตียงคนไข้ในหอผู้ป่วยหนักเต็มหมดแล้ว และจากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันอังคาร (7) พบว่า ยังเหลือเตียงไอซียูสำหรับผู้ใหญ่ว่างอยู่แค่ 17% จากทั้งหมด 6,010 เตียงทั่วทั้งรัฐ ลดลงจาก 20% เมื่อ 3 วันก่อนหน้า

ทั้งนี้ หากมีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลจนระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว อัตราการตายจากโควิด-19 ในสหรัฐฯ อาจเพิ่มสูงขึ้นอีก หลังจากที่ขณะนี้คร่าชีวิตชาวอเมริกันไปแล้วมากกว่า 132,000 คน และทำให้มียอดติดเชื้อสะสม 3.05 ล้านคน

สถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation - IHME) แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ออกมาคาดการณ์เมื่อวันอังคาร (7) ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในสหรัฐฯ จะสูงถึง 208,000 คน ภายในวันที่ 1 พ.ย. และอัตราการแพร่เชื้ออาจรุนแรงขึ้นเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนที่เคยหวังกันว่าการแพร่เชื้อน่าจะลดลงในฤดูร้อนนั้นก็ไม่เกิดขึ้นจริง

“สหรัฐฯ ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุดของการระบาดระลอกแรกด้วยซ้ำ” ดร.คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ ผู้อำนวยการ IHME ระบุในคำแถลง “และนั่นจะไม่ช่วยให้เรารอดพ้นจากการระบาดระลอก 2 ในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อรัฐที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในขณะนี้”

ประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู แห่งบราซิลซึ่งประกาศจุดยืนต่อต้านการล็อกดาวน์ กลายเป็นผู้นำประเทศรายล่าสุดที่ติดเชื้อโควิด-19
นพ.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับแนวหน้าในการต่อสู้โควิด-19 ออกมาเตือนเมื่อวันจันทร์ (6) ว่า การระบาดของเชื้อไวรัสในอเมริกาตอนนี้ “ไม่ดีเอาเสียเลย” และถือเป็น “สถานการณ์ร้ายแรงที่จำเป็นต้องรีบจัดการในทันที”

เฟาซี ยังย้ำเหมือนกับผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ว่า สหรัฐฯ ยังไม่ผ่านพ้นการระบาดระลอกแรกด้วยซ้ำ และไม่เคยลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ให้ต่ำลงได้ตามเป้าหมาย ซึ่งตนหวังว่า ท้ายที่สุดแล้ววัคซีนที่หลายบริษัทกำลังแข่งกันพัฒนาอยู่จะใช้ได้ผลและสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่คงจะไม่สามารถป้องกันได้อย่างถาวร

แม้สถานการณ์ในอเมริกาจะยังอยู่ในขั้นเลวร้าย แต่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยืนกรานที่จะผลักดันการเปิดเศรษฐกิจและเรียกร้องให้ชาวอเมริกันกลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติ ล่าสุด ทรัมป์ ยังแถลงกดดันเมื่อวันอังคาร (7) ให้ผู้ว่าการรัฐต่างๆ อนุมัติเปิดโรงเรียนในฤดูใบไม้ร่วง และยังอ้างว่ามีคนพยายามหาข้ออ้างปิดโรงเรียนเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง

“ไม่มีทาง เราจะกดดันให้ผู้ว่าการรัฐและรวมถึงคนอื่นๆ ทุกคนยอมเปิดโรงเรียนให้ได้” ทรัมป์ กล่าว

ล่าสุด โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังออกมาเผยว่า ทรัมป์ ได้แจ้งให้ อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ รับทราบแล้วว่า สหรัฐฯ มีความประสงค์จะถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลกอย่างเป็นทางการ โดยจะมีผลภายใน 1 ปี คือในวันที่ 6 ก.ค. ปี 2021

ทรัมป์ เคยขู่ไว้แล้วว่าจะระงับเงินอุดหนุนที่สหรัฐฯ มอบให้แก่ WHO ปีละราวๆ 400 ล้านดอลลาร์ และจะนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติแห่งนี้ โดยกล่าวหาว่า WHO เอนเอียงเข้าข้างจีน อีกทั้งยังเพิกเฉยต่อสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่าโรคนี้สามารถติดต่อระหว่างคนได้

อย่างไรก็ดี คาดว่า โจ ไบเดน ผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นคู่แข่งของทรัมป์ คงจะยับยั้งกระบวนการถอนตัวดังกล่าว หากว่าเขาสามารถคว้าเก้าอี้ผู้นำทำเนียบขาวคนใหม่ได้สำเร็จในศึกเลือกตั้งเดือน พ.ย.

ชังการ์ กูร์ฮาเด (Shankar Kurhade) นักธุรกิจชาวอินเดียในเมืองปูเน่ โชว์หน้ากากปิดจมูกที่ทำจากทองคำมูลค่า 289 ดอลลาร์
จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยรอยเตอร์ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อในอเมริกามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ใน 42 รัฐ กระทั่งช่วงบ่ายวันอังคาร (7) จำนวนผู้ป่วยยืนยันในสหรัฐฯ ได้พุ่งเกินกว่า 3 ล้านคน ซึ่งหมายความว่า เวลานี้มีชาวอเมริกัน 1 คน จากทุกๆ 100 คนติดเชื้อโควิด-19 หรือเทียบเท่าประชากรทั้งหมดของรัฐเนวาดา

ที่รัฐแอริโซนา อัตราการตรวจพบเชื้อโควิด-19 เป็นบวกเพิ่มขึ้นเป็น 26% เมื่อช่วงสุดสัปดาห์จนถึงวันที่ 5 ก.ค. ซึ่งตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) นั้นถือว่าการตรวจพบเชื้อเป็นบวกเกินกว่า 5% เข้าข่ายน่ากังวล

ยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทำให้หลายรัฐตัดสินใจชะลอการเปิดเมือง หลังจากที่ได้สั่งปิดภาคธุรกิจต่างๆ ไปในช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย. จนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และชาวอเมริกันหลายสิบล้านคนต้องตกงาน

มหกรรมแสดงสินค้าในรัฐเทกซัส (Texas state fair) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25 ก.ย. ได้ประกาศยกเลิกการจัดงานปีนี้เป็นครั้งแรกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอมีคำสั่งให้ประชาชนใน 7 เทศมณฑลต้องสวมหน้ากากในที่สาธารณะตั้งแต่เย็นวันพุธ (8) เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ออสเตรเลียซึ่งเคยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 และเริ่มคลายล็อกเปิดเมืองไปก่อนหน้านี้ ล่าสุด ต้องหวนกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งที่เมืองเมลเบิร์น เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศซึ่งมีประชากรราว 5 ล้านคน หลังพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นเกือบ 200 รายในรอบ 24 ชั่วโมง เมื่อวันอังคาร (7) โดยคำสั่งล็อกดาวน์ระลอกใหม่มีกำหนดเริ่มต้นเที่ยงคืนวันพุธ (8) และจะกินเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์

นายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลีย ยังเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ชะลอการนำพลเมือง และผู้พำนักถาวรกลับประเทศ หลังโควิด-19 มีแนวโน้มจะกลับมาระบาดหนักอีกครั้ง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างนิวซีแลนด์ประกาศเมื่อวันอังคาร (7) ว่าสายการบินแห่งชาติจะงดรับผู้โดยสารขาเข้าเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อลดภาระของศูนย์กักกันโรคซึ่งเวลานี้มีผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้ารับการกักตัวเป็นจำนวนมาก

บราซิลซึ่งเป็นชาติที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 1.71 ล้านคน เสียชีวิตแล้วกว่า 68,000 คน ขณะที่ประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู ได้เข้ารับการตรวจร่างกายเมื่อวันจันทร์ (6) หลังมีอาการป่วยคล้ายคนเป็นโควิด-19 และสุดท้ายก็มีผลตรวจออกมาเป็น “บวก”

โบลโซนารู เคยปรามาสไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ว่าเป็นแค่ “ไข้หวัดเล็กน้อย” ทั้งยังเพิกเฉยต่อมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและคำแนะนำให้สวมหน้ากากปิดหน้าและจมูก จนกระทั่งเมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย. ศาลสูงบราซิลต้องออกคำสั่งให้ผู้นำรายนี้สวมหน้ากากเมื่ออยู่ที่สาธารณะ

ตำรวจออสเตรเลียเดินตรวจตรารอบอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในนครเมลเบิร์นเมื่อวันที่ 4 ก.ค. หลังมีคำสั่งล็อกดาวน์เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19
อินเดียมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็นกว่า 742,000 คนในวันพฤหัสบดี (8) ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็พุ่งทะลุหลัก 20,000 คน ขยับแซงรัสเซียกลายเป็นชาติที่โควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรงอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และบราซิล

จำนวนคนป่วยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โรงพยาบาลในเมืองศูนย์กลางการระบาดอย่างมุมไบและนิวเดลี ประสบปัญหาขาดแคลนเตียงผู้ป่วย และต้องหันไปใช้โรงเรียน โรงแรม สนามกีฬา หรือแม้กระทั่งตู้รถไฟทำเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19

องค์การอนามัยโลกแถลงเมื่อวันอังคาร (7) ว่าจะมีการตรวจสอบหลักฐานใหม่เกี่ยวกับการแพร่กระจายทางอากาศของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และเตรียมเผยแพร่ข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ในอีกไม่วันข้างหน้า หลังกลุ่มนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ 239 คนออกมาเรียกร้องเมื่อวันจันทร์ (6) ให้ WHO และหน่วยงานอื่นๆ ยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สามารถแพร่กระจายทางอากาศในระยะไกลเกินกว่า 2 เมตร และขอให้ปรับแก้กรอบคำแนะนำมาตรการป้องกันโรคระบาดร้ายแรงนี้

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ระบุว่า เวลาที่ผู้ติดเชื้อไอหรือจามจะมีละอองฝอยขนาดต่างๆ ถูกพ่นออกมาด้วย โดยละอองฝอยที่มีขนาดใหญ่กว่า 5-10 ไมโครมิเตอร์ จะร่วงสู่พื้นอย่างรวดเร็วในรัศมี 1-2 เมตร แต่ละอองฝอยที่มีขนาดเล็กกว่านั้นสามารถค้างอยู่ในอากาศได้นาน และอาจลอยไปไกลกว่านั้นมาก

ทีดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO เตือนว่า ขณะนี้โรคระบาดใหญ่โควิด-19 ยังไม่มีสัญญาณชะลอตัว ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกมากกว่า 400,000 คน

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้เตรียมส่งนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเดินทางไปจีนในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อสืบหาร่องรอยความเป็นไปได้ที่ไวรัสอาจแพร่จากสัตว์ป่าหรือแม้กระทั่งปศุสัตว์มาสู่มนุษย์


กำลังโหลดความคิดเห็น