เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีแนวคิดขวาจัดของบราซิล ยอมรับติดเชื้อโรคโควิด-19 หลังดื้อแพ่งไม่สวมหน้ากากและเว้นระยะห่างทางสังคมมานานหลายเดือน ขณะที่อเมริกาเริ่มกระบวนการถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างเป็นทางการ แม้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันอังคาร (7 ก.ค.) พุ่งทำสถิติใหม่ที่กว่า 60,000 คน ส่วนออสเตรเลียเล็งชะลอการรับพลเมืองกลับประเทศระหว่างการควบคุมการระบาดรอบสองในเมืองเมลเบิร์น
การถอนตัวของอเมริกามีขึ้นในวันเดียวกับที่องค์การอนามัยโลกกล่าวในการแถลงข่าวประจำวัน ยอมรับมีหลักฐานบ่งชี้ว่า ไวรัสโคโรนาอาจแพร่กระจายทางอากาศได้นานและไกลกว่าที่เคยคาดไว้ ทำให้โรคนี้ยิ่งน่ากลัวมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 11.8 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 540,000 คนทั่วโลก
ในวันอังคาร (7) เช่นกัน ประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู ของบราซิล ให้สัมภาษณ์ทางทีวีโดยยังคงไม่ยอมสวมหน้ากากว่า แม้ตรวจพบว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 แต่ตนมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยและรู้สึกสบายดี
ผู้นำขวาจัดแดนแซมบ้าเพิกเฉยต่อมาตรการป้องกันไวรัสมาตลอด ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคมและการสวมหน้ากากคาดปิดปากปิดจมูก ถึงแม้บราซิลเป็นประเทศที่มีการระบาดรุนแรงที่สุดอันดับ 2 ของโลกรองจากอเมริกา ด้วยตัวเลขผู้เสียชีวิตกว่า 66,000 คน
ที่วอชิงตัน เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งเผยว่า อเมริกาได้แจ้งต่อ อันโตนิโอ กูเตียเรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ว่าต้องการถอนตัวจาก WHO ซึ่งเป็นองค์กรชำนัญพิเศษด้านสาธารณสุขของยูเอ็น โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 กรกฎาคมปีหน้า
ทั้งนี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ วิจารณ์การรับมือโรคระบาดโควิด-19 ของ WHO และกล่าวหาองค์การอนามัยโลกว่า เอนเอียงเข้าข้างจีน อีกทั้งเพิกเฉยต่อสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่า โรคนี้สามารถติดต่อระหว่างคนได้
อเมริกาเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ที่สุด โดยสมทบทุนให้ WHO ปีละ 400 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของทรัมป์ถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่า เป็นความพยายามที่จะป้ายความผิดไปที่คนอื่น เพื่อหันเหความสนใจของชาวอเมริกันให้ออกไปจากความล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดในสหรัฐฯของตนเอง
ทางด้าน โจ ไบเดน ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ประกาศว่า ถ้าชนะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน จะยกเลิกการถอนตัวจาก WHO
ไวรัสโคโรนาคร่าชีวิตชาวอเมริกันไปแล้วกว่า 131,000 คน ซึ่งมากที่สุดยิ่งกว่าชาติใดๆ ในโลก และมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์เปิดเผยเมื่อวันอังคารว่า อเมริกามีผู้ติดเชื้อใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มากกว่า 60,000 คน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดครั้งใหม่
นอกจากนั้นหลายรัฐ เช่น มิสซูรี โอกลาโฮมา และมอนแทนา ต่างรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ ขณะที่โรงพยาบาลบางแห่งในรัฐฟลอริดาเผยว่า แผนกผู้ป่วยวิกฤตขณะนี้มีคนไข้เต็มแล้ว
นายแพทย์ แอนโธนี ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชั้นนำ เตือนว่า สถานการณ์การระบาดในอเมริกายังอยู่ในระลอกแรกและรุนแรงมาก
ทว่า วันอังคาร ทรัมป์ประกาศว่า ไม่เห็นด้วยกับฟาวซีโดยยืนยันว่า อเมริกาปลอดภัยดี
ขณะเดียวกัน WHO ระบุในการแถลงข่าวว่า จะปรึกษาหารือกับพวกผู้เชี่ยวชาญของตน เกี่ยวกับข้อเสนอแนะของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกกว่า 200 คนที่เชื่อว่า ไวรัสโคโรนาสามารถแพร่กระจายทางอากาศได้ไกลและนานกว่าที่เคยเชื่อกัน
สำหรับที่เมลเบิร์น เมืองใหญ่อันดับ 2 ของออสเตรเลีย และเป็นเมืองหลวงของรัฐวิกตอเรีย ประชาชนแห่ซื้อของตุนเตรียมพร้อมรับมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ที่มีกำหนดเริ่มต้นคืนวันพุธ กินระยะเวลา 6 สัปดาห์ และครอบคลุมประชาชนราว 5 ล้านคน ขณะที่รัฐวิกตอเรียได้ปิดพรมแดนติดต่อกับรัฐอื่นๆ ตั้งแต่คืนวันอังคาร
เชน ซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่สุดในออสเตรเลียต้องฟื้นมาตรการจำกัดการซื้อสินค้าบางอย่าง เช่น พาสตา ผัก และน้ำตาล หลังลูกค้าแห่เข้าร้านในย่านที่มีการล็อกดาวน์
นายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวเมื่อวันพุธว่า จะเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและผู้นำดินแดนที่จะมีขึ้นในวันศุกร์ (10) ให้ชะลอการนำพลเมืองออสเตรเลียและผู้พำนักถาวรกลับประเทศ ขณะที่ออสเตรเลียกำลังพยายามควบคุมการระบาดรอบสองในรัฐวิกตอเรีย ซึ่งเมื่อวันพุธพบเคสใหม่ 134 คน ลดลงจากวันก่อนหน้าที่สูงถึง 191 คน แต่ยังสูงกว่าอีก 7 รัฐ และดินแดนที่มีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในอัตราเลขหลักเดียว
นอกจากนั้น เมื่อวันอังคาร นิวซีแลนด์ เพื่อนบ้านของออสเตรเลีย ประกาศว่า สายการบินแห่งชาติจะไม่รับจองตั๋วเดินทางเข้าประเทศนาน 3 สัปดาห์ เพื่อลดภาระศูนย์กักกันโรคที่ขณะนี้มีผู้เข้ารับการกักตัวล้นแล้ว