xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ เริ่มกระบวนการถอนตัวจาก WHO พ้นสถานภาพสมาชิกกลางปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มกระบวนการถอนสหรัฐฯออกจากองค์การอนามัยโลกอย่างเป็นทางการ ความเคลื่อนไหวที่เป็นไปตามตามคำประกาศกร้าวก่อนหน้า ในการตัดสัมพันธ์กับหน่วยงานด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแห่งนี้ ตอบโต้แนวทางรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ในวันอังคาร (7 ก.ค.)

สหรัฐฯ คือผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ที่สุดขององค์การอนามัยโลก หน่วยงานสาธารณสุขระหว่างประเทศที่เคยเป็นแกนนำต่อสู้กับโรคร้ายต่างๆ ของโลก ไล่ตั้งแต่โปลิโอ, โรคหัด ไปจนถึงสุขภาพจิต อย่างไรก็ตาม องค์การแห่งนี้ตกเป็นเป้าโจมตีของทรัมป์อย่างหนักหน่วง ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่

หลังจากขู่ระงับเงินอุดหนุนที่สหรัฐฯ มอบแก่องค์กรแห่งนี้ปีละ 400 ล้านดอลลาร์ และตามด้วยประกาศว่าจะถอนตัว ล่าสุด ในวันอังคาร (7 ก.ค.) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอเมริการายหนึ่ง เผยว่า ทรัมป์ได้แจ้งกับอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติแล้วว่า ได้เริ่มกระบวนการถอนสหรัฐฯ ออกจากองค์การอนามัยโลกอย่างเป็นทางการ

การถอนตัวจะมีผลภายใน 1 ปี คือ วันที่ 6 กรกฎาคม 2021 แต่เกือบจะแน่นอนว่า โจ ไบเดน ว่าที่ตัวแทนพรรคเดโมแครต คู่แข่งของทรัมป์ ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี จะยับยั้งเรื่องนี้และจะรักษาสถานภาพสมาชิกขององค์การอนามัยโลกไว้ต่อไป หากว่าเขาเอาชนะทรัมป์ในศึกเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน

โฆษกของเลขาธิการสหประชาชาติยืนยันว่า ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการขอถอนตัวจากองค์การอนามัยโลกของสหรัฐฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ตอนที่สหรัฐฯเข้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี 1948 วอชิงตันจำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้า 1 ปี เพื่อถอนตัว และปฏิบัติตามพันธสัญญาทางการเงินที่ยังค้างคาอยู่

ทรัมป์กล่าวหาองค์การอนามัยโลกว่าลำเลียงเข้าข้างจีน โดยบอกว่าหน่วยงานของสหประชาชาติแห่งนี้เพิกเฉยต่อสัญญาณต่างๆ ของการแพร่ระบาดจากคนสู่คนในช่วงต้นๆ ของการแพร่ระบาด

อย่างไรก็ตาม พวกนักวิจารณ์มองว่า ทรัมป์ พยายามที่จะเบี่ยงเบนไม่ให้ถูกประณามกล่าวโทษสำหรับความล้มเหลวของเขาเองในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ในสหรัฐฯ ซึ่งกลายเป็นชาติที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดในโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น