รัฐสภาจีนผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่และเริ่มบังคับใช้กับฮ่องกงแล้วในสัปดาห์นี้ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวิถีชีวิตชาวฮ่องกงนับตั้งแต่ถูกส่งกลับสู่อ้อมอกจีนเมื่อ 23 ปีก่อน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติที่มองว่าความเคลื่อนไหวนี้อาจบ่อนทำลายสถานะของฮ่องกงซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินที่สำคัญของโลก
คณะกรรมการประจำของสภาประชาชนแห่งชาติจีน (Standing Committee of China's National People's Congress) ได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ด้วยคะแนนเสียงที่เป็นเอกฉันท์เมื่อวันอังคารที่ 30 มิ.ย. โดยกฎหมายได้กำหนดบทลงโทษสำหรับความผิดอาญา 4 ข้อใหญ่ๆ ได้แก่ การแบ่งแยกดินแดน, การล้มล้างระบอบการปกครอง, การก่อการร้าย และการสมคบคิดกับรัฐบาลต่างชาติเพื่อทำลายความมั่นคง ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต
กฎหมายฉบับนี้กระพือความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ, อังกฤษ และชาติตะวันตกอื่นๆ ซึ่งมองว่าปักกิ่งกำลังลิดรอนอำนาจปกครองตนเองขั้นสูงของฮ่องกง ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการรับมอบเกาะคืนจากอังกฤษเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ปี 1997
เพื่อเป็นการตอบโต้จีน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้เริ่มต้นกระบวนการถอนสถานะพิเศษของฮ่องกง โดยจะระงับส่งออกอาวุธและจำกัดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
รัฐบาลจีนและฮ่องกงเอ่ยย้ำหลายครั้งว่า กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่พุ่งเป้าเล่นงานเฉพาะ “พวกที่สร้างปัญหา” แค่ไม่กี่คน และจะไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนส่วนใหญ่ รวมถึงผลประโยชน์ของนักลงทุนด้วย อย่างไรก็ตาม อังกฤษซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมชี้ว่าจีนกำลังละเมิดพันธกรณีที่มีต่อนานาชาติ และผิดสัญญาที่เคยให้ไว้กับอังกฤษก่อนที่จะมีการส่งคืนเกาะฮ่องกงว่าจีนจะรับรองเสรีภาพพลเมือง และให้อำนาจปกครองตนเองขั้นสูงทั้งในทางตุลาการและนิติบัญญัติแก่ฮ่องกงจนถึงปี 2047 หรือที่เรียกกันว่าสูตร “หนึ่งประเทศ-สองระบบ”
ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาย้ำเตือนจีนถึงสัญญาข้อนี้ พร้อมประกาศว่าวอชิงตันจะมีมาตรการตอบโต้การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง
“จีนสัญญาว่าจะรับรองเสรีภาพแก่ชาวฮ่องกงเป็นเวลา 50 ปี แต่กลับให้แค่ 23 ปีเท่านั้น” เขากล่าว
พอมเพโอ ระบุด้วยว่า การกระทำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในครั้งนี้ทำให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจทบทวนนโยบายที่สหรัฐฯ มีต่อฮ่องกง โดยนับแต่นี้เป็นต้นไปสหรัฐฯ จะงดส่งออกยุทโธปกรณ์กลาโหมต่างๆ ให้แก่ฮ่องกง และจะดำเนินการระงับส่งออกเทคโนโลยีที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งในเชิงพาณิชย์และการทหาร (dual-use technologies)
“สหรัฐฯ จำเป็นต้องทำเช่นนี้เพื่อปกป้องความมั่นคงของเราเอง เราไม่สามารถแยกแยะระหว่างการส่งออกสินค้าควบคุมไปยังฮ่องกงหรือจีนแผ่นดินใหญ่ได้อีกต่อไป” พอมเพโอ กล่าว
ญี่ปุ่นและไต้หวันก็ออกมาแสดงความกังวลเช่นกัน โดย โยชิฮิเดะ สุงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่า หากจีนตัดสินใจบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงกับฮ่องกงจริงๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่ “น่าเสียใจ” และเป็นการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของสูตรการปกครอง “หนึ่งประเทศ-สองระบบ” ที่เปิดโอกาสให้พลเมืองฮ่องกงได้มีสิทธิและเสรีภาพกว้างขวางกว่าชาวจีนบนแผ่นดินใหญ่
ด้านคณะรัฐมนตรีไต้หวันก็ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของจีนส่งผลกระทบรุนแรงต่อเสรีภาพ ความเป็นประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง และไต้หวันยืนกรานที่จะมอบความช่วยเหลือแก่ชาวฮ่องกงต่อไป
“รัฐบาลไต้หวันขอประณามกฎหมายนี้ และยืนยันว่าเราพร้อมสนับสนุนชาวฮ่องกงซึ่งยืนหยัดต่อสู้เพื่อเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตย” เอเวียน ติง โฆษกคณะรัฐมนตรีไต้หวัน ระบุ พร้อมเตือนพลเมืองไต้หวันให้ “ระวังความเสี่ยง” หากจะเดินทางไปฮ่องกงภายหลังจากที่กฎหมายความมั่นคงถูกบังคับใช้แล้ว
การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงได้รับความเห็นอกเห็นใจจากไต้หวัน และล่าสุด ไทเปยังได้ประกาศเปิดสำนักงานใหม่เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ชาวฮ่องกงที่ต้องการลี้ภัย
ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ให้สัมภาษณ์ว่า การที่จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงกับฮ่องกงแสดงให้เห็นว่า สูตรหนึ่งประเทศ-สองระบบที่ปักกิ่งอ้างว่าจะเป็นรากฐานของการหลอมรวมชาติ “ไม่อาจเป็นไปได้จริง” และเรียกร้องให้ชาวฮ่องกงยึดมั่นในหลักเสรีภาพ, ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนที่พวกเขาหวงแหนต่อไป
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่จีนผ่านกฎหมายความมั่นคง ‘โจชัว หว่อง’ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยฮ่องกงคนดัง ก็ประกาศลาออกจากการเป็นผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ‘เดโมซิสโต’ (Demosisto) พร้อมแกนนำคนอื่นๆ และต่อมาทางกลุ่มได้ประกาศ “ยุบพรรค”
หว่อง เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการเป็นแกนนำ “ประท้วงร่มเหลือง” ในฮ่องกงเมื่อปี 2014 และได้ออกเดินสายขอการสนับสนุนจากรัฐบาลและองค์กรในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งทำให้จีนออกมาประณามหนุ่มแว่นรายนี้ว่าเป็น “มือสีดำ” ที่ทำงานรับใช้ต่างชาติ
หว่อง เคยออกมาพูดก่อนหน้านี้ว่า “เป้าหมายหลัก” ที่จีนจ้องจะใช้กฎหมายความมั่นคงเล่นงานก็คือตัวเขา
“ถ้าหลังจากนี้ผมไม่มีโอกาสได้ออกมาพูดอะไรอีก ผมหวังว่าประชาคมโลกจะยังคงเปล่งเสียงเรียกร้องเพื่อชาวฮ่องกง และมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อช่วยปกป้องเสรีภาพที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดของเรา” หว่อง ระบุในคำแถลงลาออกจากพรรค Demosisto พร้อมเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีก 2 คน คือ เนธัน หลอ (Nathan Law) และ แอกเนส โจว (Agnes Chow)
รัฐบาลกว่า 20 ประเทศซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น ได้ยื่นคำแถลงร่วมต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อวันอังคาร (30) เพื่อกดดันให้จีนทบทวนกฎหมายนี้ ขณะที่ จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมาแถลงที่ปักกิ่งในวันพุธ (1 ก.ค.) ว่า ยังมีอีก 53 ประเทศที่ส่งคำแถลงร่วมถึงคณะมนตรีชุดเดียวกันเพื่อประกาศ “สนับสนุนนโยบายของจีนในเรื่องฮ่องกง”
รัฐบาลฮ่องกงได้จัดพิธีรำลึกครบรอบ 23 ปี การกลับคืนสู่อ้อมกอดจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึม โดย แคร์รี ลัม ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง ได้ทำพิธีเชิญธงฮ่องกงและธงชาติจีนขึ้นสู่ยอดเสา ณ สถานที่เดียวกับที่ คริส แพทเทน อดีตผู้ว่าการฮ่องกงชาวอังกฤษคนสุดท้ายเคยทำพิธีส่งมอบฮ่องกงกลับคืนสู่จีนเมื่อ 23 ปีก่อน พร้อมยกย่องกฎหมายความมั่นคงว่าเป็น “พัฒนาการก้าวสำคัญที่สุด” นับตั้งแต่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีนเมื่อปี 1997
“นี่คือก้าวย่างประวัติศาสตร์ที่จะทำให้การปกป้องความมั่นคงของชาติ, บูรณภาพแห่งดินแดน และระบบความปลอดภัยในฮ่องกงเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ” ลัม กล่าว “มันยังเป็นการตัดสินใจที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพกลับคืนสู่สังคม”
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ชาวฮ่องกงหลายพันคนได้ท้าทายคำสั่งห้ามชุมนุมออกมาเดินขบวนประท้วงกฎหมายความมั่นคงและรำลึกครบรอบ 23 ปีการส่งคืนเกาะฮ่องกง จนถูกตำรวจใช้เครื่องฉีดน้ำขนาดใหญ่, สเปรย์พริกไทย, และแก๊สน้ำตาเข้าปราบปราม และมีนักเคลื่อนไหวถูกจับมากกว่า 300 คน
จาง เสี่ยวหมิง รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊าในกรุงปักกิ่ง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า มาตรา 55 ของกฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้สำนักงานความมั่นคงของจีนที่จะถูกก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในฮ่องกงมีสิทธิ์ใช้อำนาจทางกฎหมายเข้าควบคุมคดีที่มีความ “ซับซ้อน” หรือ “ร้ายแรง”และผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับในฮ่องกงอาจถูกส่งตัวไปดำเนินคดีบนแผ่นดินใหญ่
“กฎหมายนี้ถือเป็นของขวัญวันเกิดที่จีนมอบให้แก่ฮ่องกง ซึ่งในอนาคตพวกเขาจะเห็นเองว่ามันมีค่าขนาดไหน” จาง กล่าว
เจ้าหน้าที่จีนผู้นี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลและสื่อต่างชาติเลิกก้าวก่ายกิจการในฮ่องกง และย้ำว่ากฎหมายความมั่นคง “จะไม่มีผลย้อนหลัง” และมุ่งจัดการกับ “อาชญากรกลุ่มเล็กๆ” เท่านั้น ไม่ใช่เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายค้านอย่างที่หลายคนเข้าใจ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า กฎหมายจีนฉบับนี้ “โหด” กว่าที่คาดคิดกันไว้มาก
ฮัสเนน มาลิก หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดทุนจากสถาบัน Tellimer ในนครดูไบ ระบุว่า “หลังจากที่จีนเปิดเผยรายละเอียดของกฎหมายความมั่นคง ชาวฮ่องกงทุกคนก็คงจะหมดข้อสงสัยแล้วว่า ต่อจากนี้ไปฮ่องกงจะไม่ใช่บ้านหลังเดิมที่พวกเขาเคยเติบโตมา”
โดนัลด์ คลาร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจีนจากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ได้ออกมาวิเคราะห์ประเด็นสำคัญๆ ที่น่าห่วงในกฎหมายฉบับนี้ หนึ่งในนั้นคือมาตรา 38 ซึ่งเปิดทางให้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดในต่างแดน หรือแม้กระทั่งชาวต่างชาติ
“ผมไม่เห็นเหตุผลที่จะเข้าใจเป็นอื่นได้ นอกเสียจากว่ากฎหมายนี้มีอำนาจกว้างขวางที่จะเอาผิดใครก็ตามบนโลกใบนี้” คลาร์ก กล่าว
นักวิเคราะห์ยังชี้ว่า ความผิดอาญา 4 ข้อที่ระบุไว้ในกฎหมายความมั่นคง ซึ่งได้แก่ การแบ่งแยกดินแดน, ล้มล้างระบอบการปกครอง, ก่อการร้าย และสมคบคิดกับรัฐบาลต่างชาติ เป็นถ้อยคำที่มีความหมายกว้างมาก จึงอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเอาผิดการกระทำหรือการแสดงความคิดเห็นหลากหลายรูปแบบ
อีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากก็คือเรื่องของสื่อมวลชนและเสรีภาพทางวิชาการ โดยกฎหมายความมั่นคงจีนกำหนดให้สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง “ใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อควบคุมการดำเนินงาน” ของสำนักข่าวต่างประเทศและเอ็นจีโอ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่าหมายถึงอะไร
“อาจจะกล่าวได้ว่า เสรีภาพสื่อในฮ่องกงได้ตายสนิทแล้ว” คลอเดีย โม อดีตผู้สื่อข่าวซึ่งปัจจุบันเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน ระบุ