xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเออร์’ตกลงควักเงินกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ยอมความคดีฟ้องยาฆ่าหญ้า‘ราวด์อัพ’ก่อมะเร็ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาชนะบรรจุยาฆ่าหญ้า “ราวด์อัพ” วางขายอยู่ในร้านแห่งหนึ่งในเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 24 ก.พ. 2019)  ไบเออร์ บริษัทเคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่เยอรมนี แถลงในวันพุธ (24 มิ.ย.) ตกลงจ่ายเงินกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อยอมความในคดีแทบทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องร้องว่า “ราวด์อัพ” เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง
เอเจนซีส์ – “ไบเออร์” บริษัทเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่เยอรมนี ตกลงควักเงินกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ยุติคดีฟ้องร้องโดยคนอเมริกันจำนวนมากที่ระบุว่า ยาฆ่าหญ้า “ราวด์อัพ” เป็นสาเหตุของมะเร็ง ถึงแม้บริษัทยังคงยืนยันว่า สารเคมีที่เป็นส่วนผสมหลักของผลิตภัณฑ์นี้ปลอดภัย และจะยังจำหน่ายราวด์อัพต่อไปโดยไม่เพิ่มฉลากคำเตือนเกี่ยวกับโรคมะเร็ง

ข้อตกลงยอมความนี้ถือเป็นการปลดปล่อยไบเออร์ จากปัญหาหนักที่ยืดเยื้อมานับจากที่เข้าซื้อ “มอนซานโต” บริษัทคู่แข่งสัญชาติอเมริกันที่เป็นผู้ผลิตราวด์อัพ ด้วยราคา 63,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2018

วอร์เนอร์ บาวแมนน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ไบเออร์ แถลงเมื่อวันพุธ (24 มิ.ย.) ว่า ข้อตกลงยอมความเกี่ยวกับราวด์อัพ เป็นการกระทำที่เหมาะสมและถูกที่ถูกเวลา เพื่อยุติช่วงเวลาที่ไร้ความแน่นอนและยาวนานนี้

ข้อตกลงยอมความเรื่องราวด์อัพจะเป็นการปิดฉากคดีฟ้องร้องปัจจุบันไปราว 75% ซึ่งเกี่ยวข้องกับการร้องเรียนที่มีการยื่นคำร้องและที่ไม่ได้ยื่นคำร้องรวม 125,000 กรณี รวมทั้งคดีอีกประมาณ 95% ที่ขณะนี้มีกำหนดนัดหมายเข้าสู่การพิจารณาในศาลแล้ว นอกจากนั้นยังเป็นการกำหนดแนวทางสำคัญในการสะสางข้อร้องเรียนที่ยังค้างคาอยู่

ราวด์อัพ เป็นผลิตภัณฑ์เรือธงของมอนซานโตที่มีส่วนผสมหลักคือไกลโฟเสต ที่ ใช้กันอย่างกว้างขวางในยาฆ่าหญ้า ซึ่งผู้ร้องทุกข์นับพันนับหมื่นระบุว่า เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยของตน หลายคนในจำนวนนี้เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน

ปีที่แล้ว ไบเออร์ต้องจ่ายค่ายอมความก้อนใหญ่ในคดีแรกที่มีคำตัดสินในอเมริกา ถึงแม้มีการต่อรองลดค่าชดเชยลงในเวลาต่อมาก็ตาม

ไบเออร์ยืนกรานว่า ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และการอนุมัติจากหน่วยงานราชการแสดงให้เห็นว่า ไกลไฟเสตปลอดภัย บริษัทสำทับว่า จะยังจำหน่ายราวด์อัพต่อไปและจะไม่เพิ่มฉลากคำเตือนเกี่ยวกับโรคมะเร็ง

 (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 25 พ.ค. 2018) ผู้ประท้วงสวมชุดที่มีรูปร่างแบบยาเม็ด เขียนชื่อ ไบเออร์ และ มอนซานโต เอาไว้ ระหว่างการชุมนุมประท้วงไบเออร์ที่เข้าเทคโอเวอร์มอนซานโต ณ เวิลด์ คอนเฟอเรนซ์ เซนเตอร์ เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นที่จัดการประชุมใหญ่ของไบเออร์
ข้อตกลงยอมความที่ประกาศออกมาในวันพุธ ประกอบด้วยการจ่ายเงิน 8,800-9,600 ล้านดอลลาร์เพื่อยุติการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับราวด์อัพที่มีอยู่ในปัจจุบัน และอีก 1,250 ล้านดอลลาร์สำหรับการจัดการกับคดีฟ้องร้องที่อาจเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต โดยบริษัทย้ำว่า ข้อตกลงนี้ไม่ครอบคลุม 3 คดีที่อยู่ในกระบวนการอุทธรณ์ ซึ่งรวมถึงคดีสำคัญคดีแรกที่ไบเออร์ตกลงจ่ายค่าชดเชย 78.5 ล้านดอลลาร์ให้ ดเวย์น จอห์นสัน อดีตผู้ดูแลสนามหญ้าของโรงเรียนแห่งหนึ่ง

นอกจากนั้น ไบเออร์ยังตกลงจ่ายเงิน 820 ล้านดอลลาร์เพื่อยุติปัญหาทางกฎหมายที่ค้างคามาหลายปีที่เกี่ยวข้องกับสารพิษพีซีบี ที่ผลิตโดยมอนซานตา และทำให้เกิดการปนเปื้อนในน้ำ

ไบเออร์ยังตกลงยอมความในคดีที่เกี่ยวข้องกับสารกำจัดวัชพืช ไดแคมบา ที่ถูกกล่าวหาว่า ทำลายพืชผลในอเมริกา เนื่องจากพืชผลมากมายไม่สามารถทนทานสารเคมีชนิดนี้

ข้อตกลงนี้สืบเนื่องมาจากคดีที่ผู้พิพากษาในรัฐมิสซูรีตัดสินให้ไบเออร์และบีเอเอสเอฟที่ผลิตไดแคมบาเช่นเดียวกัน จ่ายเงิน 400 ล้านดอลลาร์ให้บิลล์ เบเดอร์ ผู้ปลูกพีชในรัฐดังกล่าวที่กล่าวหาสองบริษัทส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ยากำจัดวัชพืชอย่างไร้ความรับผิดชอบ

ไบเออร์คาดว่า บีเอเอสเอฟ จะร่วมรับผิดชอบข้อตกลงยอมความนี้ด้วย และสำทับว่า คดีเบเดอร์ไม่รวมอยู่ในข้อตกลงนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น