xs
xsm
sm
md
lg

ไบเออร์ทุ่ม 3 แสนล้าน กำจัดคดี “ไกลโฟเซต”

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ



สองปีก่อน บริษัท ไบเออร์ ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตยาเวชภัณฑ์ เมล็ดพืช ยาปราบศัตรูพืช แห่งเยอรมนี ซื้อกิจการบริษัท มอนซานโต้แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ในธุรกิจเดียวกัน ด้วยมูลค่า 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

การซื้อมอนซานโต้ครั้งนั้น ไบเออร์ได้ผลิตภัณฑ์กำจัดวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้า “ราวด์อัพ” มาด้วย พร้อมกับคดีฟ้องร้องที่ผู้ป่วยด้วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองกว่า 1 แสนราย ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากมอนซานโต้ ด้วยข้อกล่าวหาว่า สารไกลโฟเซตในราวด์อัพ ที่พวกเขารับเข้าสู่ร่างกาย เป็นสาเหตุของมะเร็ง

ไกลโฟเซต เป็นสารเคมีที่มอนซานโต้เริ่มใช้ใน “ราวด์อัพ” ซึ่งออกจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 1974 โดยโฆษณาว่ามีประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืช โดยที่ไม่ส่งผลเสียต่อพืชผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์นี้มีจำหน่ายในกว่า 160 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

หลังจากสิทธิบัตรสารไกลโฟเซตของมอนซานโต้เหมดอายุลงเมื่อปี 2000 ก็ทำให้ปัจจุบันสารดังกล่าวถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่างๆ อย่างแพร่หลาย

ปีที่แล้ว ไบเออร์ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 3 คดี คณะลูกขุนตัดสินให้ไบเออร์ จ่ายค่าเสียหายรวมๆ กัน 2 พันกว่าล้านเหรียญสหรัฐ ให้ผู้ฟ้องที่อ้างว่า เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือ งเพราะสารไกลโฟเซตในราวด์อัพ ขณะนี้คดีทั้งหมดอยู่ระหว่างการอุทธรณ์

คดีความข้อพิพาทเหล่านี้ เป็นเรื่องปวดหัวของผู้บริหารไบเออร์มาก นอกจากมีโอกาสที่จะต้องจ่ายเงินค่าเสียหายจำนวนมากแล้ว ยังถูกผู้ถือหุ้นบางส่วนตำหนิว่า ตัดสินใจผิดพลาดที่ไปซื้อมอนซานโต้ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นมีคนเตือนแล้ว ที่สำคัญคือ เรื่องนี้ ทำให้ราคาหุ้นไบเออร์ตกลงมามาก

วันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ไบเออร์ตัดสินใจจ่ายเงิน 10.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3 แสนล้านบาท เพื่อยุติคดีทั้งหมด

เงิน 8.8-9.6 พันล้านเหรียญ จะจ่ายให้กับผู้เสียหาย 95,000 รายที่ยอมรับข้อตกลงว่า จะไม่ฟ้องไบเออร์อีกต่อไป รวมทั้งอีก 30,000 รายที่ยังไม่ตัดสินใจว่า จะยอมรับเงิน หรือจะเดินหน้าฟ้องต่อ เพราะเงินที่จะตกถึงมือผู้เสียหายแต่ละรายไม่มากนัก ต้องจ่ายให้ทนายที่เป็นตัวตั้งตัวตีรวบรวมผู้เสียหายมาฟ้องคดีเป็นกลุ่มในอัตรา 40% ของเงินที่ได้รับแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลทั้งที่จ่ายไปแล้ว และที่จะต้องจ่ายในอนาคตอีกก้อนใหญ่

มีสำนักงานทนายความ 25 แห่งที่รับทำคดีนี้ ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนรวมกันถึง 115,000 ล้านบาทไปแบ่งกัน

แม้จะยอมจ่ายเงินจำนวนมากถึง 3 แสนล้านบาท เพื่อยุติคดี แต่ไบเออร์ไม่ยอมรับว่า ตัวเองทำผิด และจะพิสูจน์ว่า สารไกลโฟเซตในยาฆ่าหญ้า ไม่มีความสัมพันธ์กับการป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของผู้เสียหาย เพราะไบเออร์ยังจะขายราวด์อัพต่อไป ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องคดีใหม่ๆ อีก ดังนั้น จึงแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ พิสูจน์ว่า สารไกลโฟเซตไม่ได้เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็ง

ไบเออร์กันเงิน 1.25 พันล้านเหรียญ หรือเกือบๆ 4 หมื่นล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการยอมความในคดีที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และในการป้องกันไม่ให้มีการฟ้องร้องอีกในอนาคต ส่วนหนึ่งจะถูกใช้ไปในการตั้งคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ 5 คน เพื่อศึกษาหาข้อสรุปว่า ไกลโฟเซตไม่ใช่สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ไบเออร์ทำข้อตกลงกับทนายความที่เป็นตัวแทนผู้เสียหาย และมีส่วนร่วมในการคัดเลือกคณะทำงานว่า หากผลการศึกษาออกมาว่า ไกลโฟเซตไม่ใช่สาเหตุของมะเร็ง จะผูกพันสำนักงานทนายความเหล่านี้ ไม่ให้ฟ้องร้องไบเออร์ในอนาคตอีก

ไบเออร์มั่นใจว่า ผลการศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์ชุดนี้ จะออกมาแบบเดียวกับข้อสรุปของหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ อียู ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ที่ว่า ไกลโฟเซตไม่น่าจะเป็นสารก่อมะเร็ง

มีแต่องค์การวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ ขององค์การอนามัยโลก ที่ชี้ว่า ไกลโฟเซต อาจจะเป็นสารที่ก่อมะเร็ง

ในประเทศไทย คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีคำสั่งห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในยากำจัดวัชพืช ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ส่วนสารไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ เนื่องจากเกษตรกรยังมีความจำเป็นต้องใช้ โดยให้ใช้ได้เฉพาะกับอ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง และไม้ผลเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น