รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – ฝรั่งเศสและเยอรมันแถลงวันนี้(25 มิ.ย)ให้การสนับสนุนองค์การอนามัยโลก WHO ทั้งด้านการเมืองและการเงินเพื่อต่อสู้วิกฤตโรคโควิด-19 รัฐมนตรีสาธารณสุขเยอรมันประกาศบริจาค 500 ล้านยูโร ส่วนฝรั่งเศสประกาศบริจาค 140 ล้านยูโรช่วยในส่วนที่ขาด ด้านสหรัฐฯพบติดเชื้อสูงสุดทำลายสถิติภายใน 24 ชั่วโมงมีเคสใหม่ถึง 36,358 ราย
รอยเตอร์รายงานวันนี้(25 มิ.ย)ว่า ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกแถลงในงานแถลงข่าวที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ว่า ทางองค์การอนามัยโลกที่ได้รับการตำหนิจากสหรัฐฯถึงความล่าช้าในการรับมือการระบาดโรคไวรัสโควิด-19 ได้รับการสนับสนุนทางการเงินและทางการเมืองตามที่หน่วยงานต้องการแล้ว
ทั้งนี้พบว่าสหรัฐฯถือเป็นผู้บริจาคใหญ่ที่สุดแก่องค์การอนามัยโลกที่มียอดบริจาคกว่า 400 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 หรือราว 15% ของงบประมาณ แต่ทว่าในเดือนที่ผ่านมาประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์กับองค์การอนามัยโลกที่ทรัมป์อ้างว่า ทางหน่วยงานถือจีนเป็นศูนย์กลาง แต่อย่างไรมาจนถึงเวลานี้ สหรัฐฯยังไม่ส่งจดหมายแจ้งอย่างเป็นทางการ
รัฐมนตรีสาธารณสุขเยอรมัน เยนส์ ชพาห์น (Jens Spahn) แถลงว่า “ยอดเงินบริจาค 500 ล้านยูโร(561 ดอลลาร์) ถือเป็นจำนวนสูงสุดเท่าที่เราได้เคยบริจาคมาให้กับองค์การอนามัยโลก WHO”
และเขากล่าวอีกว่า “เราต้องการองค์การอนามัยโลก WHO ที่แข็งแกร่ง โปร่งใส และที่สามารถตอบสนองได้มากกว่าเคย” และกล่าวว่า “เป็น WHO ที่สามารถนำและประสานงานการตอบโต้ระดับโลก”
ด้านฝรั่งเศสเปิดเผยว่ารัฐบาลประธานาธิบดี เอ็มมานุแอล มาครง จะบริจาคสนับสนุนองค์การอนามัยโลกจำนวน 90 ล้านยูโรให้กับศูนย์วิจัย WHO ตั้งอยู่ที่เมืองลิยง (Lyon)และจะบริจาคเพิ่มเติมอีก 50 ล้านยูโร
ด้านรัฐมนตรีสาธารณสุขฝรั่งเศส โอลิวิเยร์ เวรอง (Olivier Veran) กล่าวว่า “ผมเชื่อมั่นว่าโลกมีความจำเป็นมากกว่าที่เคยสำหรับองค์การระดับพหุภาคี” และเสริมต่อว่า “ผมเชื่อว่าโลกไม่สามารถตัดขาดจากพันธมิตรไปได้ เราต้องการคำตอบร่วมระดับโลก(ต่อโควิด-19)และมีแต่องค์การอนามัยโลก WHO เท่านั้นที่สามารถจะตอบได้”
ทั้งนี้สหรัฐฯทำลายสถิติมีเคสผู้ติดเชื้อใหม่สูงสุดเกิดขึ้นภายในแค่ 1 เดียวที่ 36,358 รายในวันพุธ(24) NBC News รายงาน
อ้างอิงจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกิน พบว่าสหรัฐฯมีผู้เสียชีวิตรวมวันนี้(25)ที่ 121,996 คน ติดเชื้อรวม 2,382,134 คน ทั่วโลกเสียชีวิตรวม 483,311 คน และติดเชื้อรวมทั่วโลก 9,457,902 คน