รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี( 18 มิ.ย.) รื้อฟื้นท่าทีของเขาที่เคยขู่ตัดขาดความสัมพันธ์กับจีน สวนทางกับความเห็นหนึ่งวันก่อนหน้านี้ของโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าอเมริกา ที่บอกกับสภาคองเกรสว่าเขาไม่เห็นว่าการตัดขาดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งคือทางเลือกที่เป็นไปได้
“มันไม่ใช่ความผิดของท่านทูตไลท์ไฮเซอร์ (ในการให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการรัฐสภาเมื่อวันพุธ) ในเรื่องนี้บางทีอาจเป็นเพราะผมไม่พูดอย่างชัดเจนเอง แต่แน่นอนว่าสหรัฐฯ สงวนไว้ซึ่งทางเลือกหนึ่งในนโยบาย ภายใต้กรณีแวดล้อมต่างๆ นานา นั่นก็คือการตัดขาดความสัมพันธ์โดยสิ้นเชิงกับจีน” ทรัมป์เขียนบนทวิตเตอร์
สองชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก ติดหล่มแห่งความขัดแย้งเกี่ยวกับแนวทางรับมือกับโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ และความเคลื่อนไหวจีนในออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่บังคับใช้กับฮ่องกง นอกจากนี้แล้วยังมีประเด็นที่ไม่ลงรอยกันอีกมากมายที่ทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดเลวร้ายลงในปีนี้
เมื่อเดือนที่แล้ว ทรัมป์ส่งสัญญาณบ่งชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติกำลังเสื่อมทรามลงไปอีก หลังเขาบอกว่าไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะพูดคุยกับ สี จิ้นผิง ผู้นำจีน และแย้มว่าเขาอาจถึงขั้นตัดความสัมพันธ์กับมหาอำนาจคู่อริเลยทีเดียว
หลังจากถูกถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ระหว่างเข้าให้ปากคำกับคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในวันพุธ (17 มิ.ย.) ไลท์ไฮเซอร์ ตอบกลับว่าประเด็นการตัดความสัมพันธ์เป็นเรื่องหนึ่งที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง
“กับคำถามว่า ผมคิดว่าเราสามารถนั่งลงแล้วตัดขาดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้หรือไม่? ไม่ ผมคิดว่ามันเคยเป็นทางเลือกนโยบายหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน แต่ผมคิดว่ามันเป็นนโยบายที่ไม่สมเหตุสมผลในเวลานี้” ไลท์ไฮเซอร์กล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานผู้แทนการค้าของไลท์ไฮเซอร์ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อความล่าสุดบนทวิตเตอร์ของทรัมป์
ไลท์ไฮเซอร์ แสดงความคาดหวังว่าจะเห็นห่วงโซ่อุปทานย้ายเข้าสู่สหรัฐฯ มากขึ้น สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงานทางภาษีและกฎระเบียบต่างๆ แต่เน้นว่าข้อตกลงการค้าระหว่างอเมริกากับจีนจะก่อการเปลี่ยนแปลงในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญ และจีนจะซื้อสินค้าและบริการของสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น
ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้มีขึ้นในขณะที่ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ หารือยาวหลายชั่วโมงเมื่อวันพุธ (17 มิ.ย.) กับ หยาง เจียฉี เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสมากของจีน ซึ่งดูแลนโยบายความสัมพันธ์กับต่างประเทศมายาวนาน แต่ถึงแม้บรรยากาศโดยรวมของการเจรจาคราวนี้ถือว่าค่อนข้างดี แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าแค่ทำให้สถานการณ์ผ่อนคลายลงชั่วคราว ไม่ถึงขั้นช่วยฟื้นเสถียรภาพความสัมพันธ์ที่ตกต่ำถึงขีดสุด