xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ-จีน’ หารือระดับสูงกู้สัมพันธ์ ไม่ทันไร ‘ปักกิ่ง’ กร้าวตอบโต้ กม.แซงก์ชันมะกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพจากเอพี) ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จับมือกับ หยาง เจียฉี ครั้งดำรงตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการต่างประเทศ ในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2018 ล่าสุดทั้งคู่พบปะกันอีกครั้งในวันพุธ (17 มิ.ย.) ที่ฮาวาย ในความพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ
เอเจนซีส์ - ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ถกยาวหลายชั่วโมงเมื่อวันพุธ (17 มิ.ย.) กับ หยาง เจียฉี เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสมากของจีน ซึ่งดูแลนโยบายความสัมพันธ์กับต่างประเทศมายาวนาน แต่ถึงแม้บรรยากาศโดยรวมของการเจรจาคราวนี้ถือว่าค่อนข้างดี แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าแค่ทำให้สถานการณ์ผ่อนคลายลงชั่วคราว ไม่ถึงขั้นช่วยฟื้นเสถียรภาพความสัมพันธ์ที่ตกต่ำถึงขีดสุด

การนัดหมายหารือกันของพอมเพโอกับหยางที่รัฐฮาวายของอเมริกาครั้งนี้ ถือเป็นการพบปะแบบเจอะเจอหน้ากันระดับสูงสุดของชาติมหาอำนาจทั้งสอง นับจากไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดและทำให้สัมพันธภาพระหว่างกันตึงเครียดอย่างหนัก โดยมีรายงานที่อ้างอิงจากนักการทูตและแหล่งข่าวอื่นๆ ว่าการประชุมครั้งนี้จีนเป็นฝ่ายขอมา

ทั้งนี้ ผู้แทนของฝ่ายจีน คือ หยาง เจียฉี เคยเป็นทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศ และมนตรีแห่งรัฐทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการต่างประเทศ ก่อนที่จะเลื่อนชั้นขึ้นเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกรมการเมือง (โปลิตบูโร) องค์กรกำหนดนโยบายซึ่งทรงอำนาจยิ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงในวันพฤหัสบดี (18 มิ.ย.) ว่า หยางบอกกับพอมเพโอว่า วอชิงตันต้องเคารพจุดยืนของจีนในประเด็นสำคัญๆ ยุติการแทรกแซงกิจการภายในของแดนมังกร เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน และซินเจียง รวมทั้งปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกัน และย้ำว่า การร่วมมือกันระหว่างสองฝ่ายคือทางเลือกเดียวที่ถูกต้อง

ปักกิ่งสรุปว่า การประชุมเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องคงการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน

ทางด้านมอร์แกน ออร์เตกัส โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า ระหว่างการประชุม พอมเพโอย้ำความจำเป็นในการดำเนินการแบบต่างตอบแทนอย่างสมบูรณ์ ในการติดต่อกันทั้งด้านการค้า ความมั่นคง และการทูต ตลอดถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความโปร่งใสและการแบ่งปันข้อมูลเพื่อรับมือโควิด-19 และโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นี่เป็นครั้งแรกที่พอมเพโอได้พบกับหยางนับจากที่คุยกันทางโทรศัพท์เรื่องไวรัสโคโรนาเมื่อวันที่ 15 เมษายน และที่ผ่านมาเขามักวิจารณ์ปักกิ่งอย่างรุนแรงมาโดยตลอด เช่น ครั้งหนึ่งที่บอกว่า จีนอาจป้องกันไม่ให้คนตายเป็นแสนจากโรคระบาดครั้งนี้ ถ้าดำเนินการแบบโปร่งใส ทั้งยังกล่าวหาว่า จีนไม่ยอมแบ่งปันข้อมูล

อดีตสมาชิกรัฐสภาสายอนุรักษนิยมผู้นี้ยังเป็นหัวหอกในการโฆษณาชวนเชื่อทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้นหลุดออกมาจากห้องแล็บที่เมืองอู่ฮั่นของจีน ซึ่งได้รับการคัดค้านจากนักวิทยาศาสตร์กระแสหลักจำนวนมาก

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ความสัมพันธ์อเมริกา-จีนขณะนี้อยู่ในระดับตกต่ำที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา เมื่อกลางเดือนที่แล้ว ทรัมป์ซึ่งดูเหมือนเคยพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อให้สงครามการค้าที่สร้างความเสียหายรุนแรงจบลง กลับถึงขั้นประกาศว่า อาจตัดขาดกับจีน

เห็นกันว่าทรัมป์กำลังประสบความลำบาก ถูกวิจารณ์อย่างหนักทั้งเรื่องการจัดการโรคระบาด และเรื่องท่าทีต่อกระแสต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิวและความรุนแรงของตำรวจในอเมริกา ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีกำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนอยู่แล้ว ดังนั้นทั้งเขาและพรรครีพับลิกันของเขาจึงมีความพยายามที่จะวาดภาพจีนว่าเป็นปีศาจร้าย และชูประเด็นว่าทรัมป์มีความเข้มแข็งเด็ดขาดในการรับมือกับปักกิ่ง มากกว่า โจ ไบเดน ตัวแทนของพรรคเดโมแครตในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้

ระหว่างที่พอมเพโอหารือกับหยางที่กินเวลาเกือบ 7 ชั่วโมงนี้เอง ทรัมป์ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายฉบับที่ได้รับความสนับสนุนในรัฐสภาอย่างท่วมท้นจากทั้ง 2 พรรค ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้แซงก์ชั่นพวกเจ้าหน้าที่จีนซึ่งรับผิดชอบในการกดขี่ข่มเหงชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงของจีน กระนั้นทรัมป์สำทับในตอนลงนามนี้ว่า ข้อกำหนดในกฎหมายดังกล่าวเป็นแค่คำแนะนำ ไม่ใช่คำสั่งที่เขาต้องปฏิบัติการ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงตอบโต้ในวันพฤหัสบดี (18) ว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นการโจมตีอย่างประสงค์ร้ายต่อจีน ซึ่งอเมริกาจะต้องรับผิดชอบผลของการกระทำนี้

ซูซาน ธอร์นตัน นักการทูตอาชีพที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านกิจการเอเชียตะวันออกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในช่วงแรกๆ ที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง และปัจจุบันทำงานให้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล มองว่า การพยายามปรับความสัมพันธ์ในขณะที่ทั้งอเมริกาและจีนต่างเผชิญวิกฤตรุนแรงจากโรคระบาดและผลกระทบต่อเศรษฐกิจเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกนั้น ดูเหมือนไม่สอดคล้องกับความจริงที่คนทั่วไปประสบอยู่เลย ดังนั้น เธอจึงไม่คิดว่า การพบกันระหว่างพอมเพโอกับหยางจะเกิดผลอะไรมากนัก

ส่วนคำถามที่ว่า อเมริกาและจีนจะบรรลุข้อตกลงสงบสงครามน้ำลายหรือไม่นั้น ดูเหมือนมีคำตอบชัดเจนขึ้นจากการที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยว่า หัวข้อที่พอมเพโอเตรียมไปปราศรัยในที่ประชุมที่เดนมาร์กในวันศุกร์ (19) คือเรื่องภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยจากทั่วโลก ซึ่งเรื่องนี้พอมเพโอจะต้องมีการวิพากษ์โจมตีจีนอยู่แล้ว

ทางด้านอู่ ซินป๋อ คณบดีสถาบันศึกษาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฟูตันในเซี่ยงไฮ้ เห็นด้วยว่า การพบกันระหว่างพอมเพโอกับหยางอาจลด “การทูตไมโครโฟน” ระหว่างอริสองฝ่าย แต่คงไม่ช่วยฟื้นเสถียรภาพความสัมพันธ์ โดยทรัมป์จะยังคงวิจารณ์จีนต่อไปขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีใกล้มาถึง


กำลังโหลดความคิดเห็น