รอยเตอร์ – รัฐบาลเกาหลีเหนือปฏิเสธข้อเสนอจากเกาหลีใต้ที่ขอส่งทูตพิเศษไปเจรจาลดความตึงเครียดเกี่ยวกับกิจกรรมของพวกผู้แปรพักตร์ พร้อมยืนยันจะส่งทหารตรึงชายแดนใกล้เขตปลอดทหารอีกครั้ง ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการรวมชาติเกาหลีใต้ขอลาออกเพื่อรับผิดชอบวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น
ประกาศล่าสุดที่เผยแพร่ผ่านสำนักข่าว KCNA ของเกาหลีเหนือมีขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่เปียงยางระเบิดทำลายสำนักงานประสานงานร่วม (liaison office) ที่สร้างขึ้นบริเวณพรมแดนตามข้อตกลงผ่อนคลายความตึงเครียดที่ผู้นำสองเกาหลีทำร่วมกันไว้เมื่อปี 2018
ทั้งนี้ หากมีความเคลื่อนไหวใดๆ ที่ทำให้ข้อตกลงสันติภาพชายแดนต้องพังทลายลง จะถือเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่สำหรับประธานาธิบดี มุน แจอิน แห่งเกาหลีใต้ซึ่งพยายามส่งเสริมการฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนกับเปียงยาง และยังเป็นการบั่นทอนยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ต้องการโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือละทิ้งโครงการขีปนาวุธและนิวเคลียร์
เมื่อวันจันทร์ (15) มุน ได้เสนอส่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ชุง อึยยอง (Chung Eui-yong) และผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรอง ซูห์ ฮุน (Suh Hoon) เป็นทูตพิเศษไปเจรจากับเกาหลีเหนือ แต่ก็ถูก คิม โยจอง น้องสาวของผู้นำ คิม จองอึน ปฏิเสธอย่างไม่ไยดี แถมยังวิจารณ์ว่าเป็นข้อเสนอที่ “ขาดไหวพริบและมุ่งร้าย” อีกด้วย
สื่อ KCNA ชี้ว่า “วิกฤตการณ์ระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ซึ่งเกิดมาจากความไร้ศักยภาพและความไม่รับผิดชอบของรัฐบาลเกาหลีใต้นั้นไม่มีทางแก้ไขได้ และจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อมีการชดใช้อย่างสาสม”
หนังสือพิมพ์โรดองซินมุนซึ่งเป็นสื่อของพรรคแรงงานเกาหลีเหนือได้เผยแพร่ภาพการระเบิดทำลายสำนักงานประสานงานข้ามแดน รวมถึงบทความที่มีเนื้อหาโจมตีรัฐบาลเกาหลีใต้อีกเป็นจำนวนมาก
คิม โยจอง ซึ่งเวลานี้มีตำแหน่งอาวุโสในพรรคแรงงาน ได้กล่าวตำหนิประธานาธิบดี มุน ว่าล้มเหลวในการปฏิบัติตามข้อตกลงเมื่อปี 2018 “และเอาคอไปพาดไว้ในบ่วงของการเป็นทาสรับใช้สหรัฐฯ (pro-US flunkeyism)”
ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ออกมาตอบโต้ทันทีว่า น้องสาวผู้นำโสมแดงใช้คำพูดที่ “หยาบคาย สะท้อนความโง่เขลา ทั้งยังทำลายความเชื่อมั่นที่ผู้นำสองเกาหลีมีต่อกัน”
“เราจะไม่ยอมรับพฤติกรรมที่ไร้เหตุผลเช่นนี้อีกต่อไป” ยุน โดฮัน โฆษกทำเนียบสีน้ำเงิน ระบุในงานแถลงข่าวโดยไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ล่าสุดมีรายงานจากสำนักข่าวยอนฮัปว่า คิม ยอนชุล (Kim Yeon-chul) รัฐมนตรีกระทรวงการรวมชาติเกาหลีใต้ซึ่งดูแลกิจการข้ามแดน ได้เสนอที่จะลาออกจากตำแหน่งวันนี้ (17) เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ความสัมพันธ์สองเกาหลีย่ำแย่ลง
ประธานาธิบดี มุน ได้อาสารับหน้าที่เป็นคนกลางระหว่าง ทรัมป์ กับ คิม จองอึน หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมหันหน้าพูดคุยกันจนนำไปสู่การจัดประชุมซัมมิตสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือที่สิงคโปร์เมื่อปี 2018 และอีกครั้งที่ฮานอยในปี 2019
อย่างไรก็ตาม การพบปะระหว่าง คิม และ ทรัมป์ ยังคงให้ผลแค่ในเชิงสัญลักษณ์ และไม่สามารถทำให้เปียงยางยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างเป็นรูปธรรม
ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีการประชุมซัมมิตสองเกาหลีครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ (16) มุน ยอมรับว่ารู้สึกเสียใจที่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างสอองเกาหลี ไม่คืบหน้าไปในทางที่ดีอย่างที่คาดหวังกันไว้ พร้อมเรียกร้องให้เปียงยางรักษาข้อตกลงสันติภาพที่เคยคุยกันไว้และหวนกลับสู่โต๊ะเจรจา
“คนตระกูล คิม มองว่ารัฐบาล มุน แจอิน ให้ความหวังลมๆ แล้งๆ กับพวกเขามากเกินไปว่าจะต่อสู้แรงกดดันของสหรัฐฯ เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดีขึ้น” ชุน ยุงวู อดีตผู้แทนเจรจานิวเคลียร์ของเกาหลีใต้ ให้ความเห็น “แต่เมื่อผ่านไป 2 ปี สิ่งที่เกาหลีเหนือได้รับกลับเป็นแค่การประชุมซัมมิตที่ล้มเหลวกับทรัมป์ ขณะที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองเกาหลีไม่มีความคืบหน้าเลย”
ขณะเดียวกัน มีรายงานจาก KCNA วันนี้ (17) ว่า โฆษกกรมเสนาธิการใหญ่กองทัพประชาชนเกาหลีเหนือประกาศจะส่งทหารไปยังภูเขาคุมกัง (Mount Kumgang) และเมืองแกซอง (Kaesong) ซึ่งเป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ นอกจากนี้ยังจะมีการฟื้นฟูป้อมตำรวจภายในเขตปลอดทหาร และเสริมกำลังพลหน่วยทหารปืนใหญ่ใกล้กับพรมแดนทางทะเลด้านตะวันตก ซึ่งเป็นจุดที่ผู้แปรพักตร์โสมแดงในเกาหลีใต้มักจะส่งบอลลูนเข้ามาโปรยใบปลิวโจมตีระบอบคิม
ทั้งนี้ เกาหลีเหนือมีแผนที่จะส่งใบปลิวโจมตีรัฐบาลโซลข้ามไปยังฝั่งเกาหลีใต้บ้างเช่นกัน