รอยเตอร์ – รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือชี้ความสัมพันธ์อันดีส่วนตัวระหว่างผู้นำ คิม จองอึน กับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ “แทบไม่มีประโยชน์อะไร” หากวอชิงตันยังไม่เลิกใช้นโยบายที่เป็นปรปักษ์กับรัฐโสมแดง
สำนักข่าว KCNA เผยแพร่คำแถลงของ รี ซอนกวอน รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ เนื่องในโอกาสครบ 2 ปีที่ ทรัมป์ และ คิม จัดการประชุมซัมมิตหนแรกที่สิงคโปร์ โดยระบุว่านโยบายของสหรัฐฯ ยังคงเป็นภัยคุกคามในระยะยาวต่อรัฐและพลเมืองเกาหลีเหนือ และโสมแดงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาศักยภาพของกองทัพให้สามารถป้องปรามอันตรายดังกล่าว
ทรัมป์ และ คิม เคยเปิดสงครามน้ำลายข่มขู่กันไปมาในช่วงปลายปี 2017 หลังเกาหลีเหนือทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 ซึ่งมีอานุภาพร้ายแรงเป็นประวัติการณ์ และยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ (UN) ใช้มาตรการรุนแรงกำราบโสมแดง
อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์เกาหลีเหนือ-สหรัฐฯ อบอุ่นขึ้นทันตาเห็นภายหลังซัมมิตที่สิงคโปร์เมื่อเดือน มิ.ย. ปี 2018 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้นำเกาหลีเหนือและประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในตำแหน่งได้พบปะซึ่งหน้า
การประชุมซัมมิตครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2019 ณ เมืองหลวงเวียดนาม แต่ปรากฏว่าทั้ง 2 ฝ่ายตกลงอะไรกันไม่ได้เลย เนื่องจากสหรัฐฯ ยืนกรานให้เกาหลีเหนือล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์แบบเสียก่อนจึงจะผ่อนคลายบทลงโทษให้ ขณะที่ฝ่ายโสมแดงคาดหวังให้วอชิงตันปลดล็อกมาตรการคว่ำบาตรอย่างรวดเร็ว
รี วิจารณ์รัฐบาล ทรัมป์ ว่าจงใจโดดเดี่ยวและบีบคั้นโสมแดงในทางเศรษฐกิจเพื่อ “สร้างคะแนนนิยมทางการเมือง” ทั้งยังขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีและเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือ
“เราจะไม่ให้โอกาสผู้นำสูงสุดสหรัฐฯ อ้างความสำเร็จ โดยไม่ได้รับอะไรตอบแทนอีกต่อไป” รี กล่าว “ไม่มีอะไรหน้าไหว้หลังหลอกยิ่งไปกว่าการให้สัญญาลมๆ แล้งๆ”
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันกับสำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้วานนี้ (11) ว่า สหรัฐฯ ยังพร้อมเจรจากับเกาหลีเหนือ และ “เปิดกว้างสำหรับแนวทางที่ยืดหยุ่น เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงที่สมดุล”
ในวันเดียวกัน เกาหลีเหนือได้ออกมาขู่อเมริกาให้เลิกก้าวก่ายกิจการระหว่างสองเกาหลี และ “สงบปากสงบคำ” หากต้องการให้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน พ.ย. เป็นไปอย่างราบรื่น
แดเนียล รัสเซล อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านกิจการเอเชียตะวันออกของสหรัฐฯ ระบุว่า เกาหลีเหนือมีเจตนาเพิ่มแรงกดดันต่อสหรัฐฯ ในช่วงก่อนเลือกตั้ง
“การที่ ทรัมป์ อ้างว่าแก้ไขปัญหาเกาหลีเหนือได้แล้ว ทำให้พวกเขายิ่งมีอำนาจต่อรองมากขึ้น” รัสเซล กล่าว
รามอน ปาเชโก ปาร์โด ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีจากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ กรุงลอนดอน ชี้ว่าถ้อยแถลงของ รี ซอนกวอน บ่งบอกว่าเปียงยางพร้อมพิจารณาทุกทางเลือก ตั้งแต่กระบวนการเจรจาทางการทูตเรื่อยไปจนถึงการเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
รี ย้ำว่า โสมแดงยังคงปรารถนาที่จะเริ่มต้น “ยุคสมัยใหม่แห่งความร่วมมือ” แต่สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีในเวลานี้เลวร้ายลงเรื่อยๆ
“สหรัฐฯ อาสาจะช่วยผลักดันความสัมพันธ์อันดีกับเกาหลีเหนือ แต่ในความเป็นจริงพวกเขากลับทำให้สถานการณ์แย่ลง” รี กล่าว