xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ ยันลดกำลังทหารสั่งสอนเยอรมนี แต่สภาห่วงความมั่นคงชาติ-ชี้เข้าทาง ‘รัสเซีย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพเมื่อครั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และสุภาพสตรีหมายเลข 1 เดินทางไปเยี่ยมกำลังพลที่ฐานทัพอากาศแรมสไตน์ในเยอรมนี เมื่อช่วงปลายปี 2018
เอเจนซีส์ - ‘ทรัมป์’ ยืนยันเตรียมสั่งถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากเยอรมนีครั้งใหญ่ เพื่อลงโทษที่เบอร์ลินไม่รับผิดชอบเพิ่มงบประมาณการทหาร นอกจากนั้นยังมีปฏิบัติทางการค้ากับอเมริกาอย่างแย่มาก การออกโรงของเขาคราวนี้มีขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์สนั่นแม้แต่จากในพรรครีพับลิกันของเขาเองว่า ประมุขทำเนียบขาวกำลังมอบของขวัญให้รัสเซีย และทำให้ความมั่นคงของอเมริกาตกอยู่ในความเสี่ยง

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แถลงจากทำเนียบขาวเมื่อวันจันทร์ (15 มิ.ย.) ว่า อเมริกาจะลดจำนวนทหารที่ประจำการในเยอรมนีลงเหลือ 25,000 นาย จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 34,500 นาย น้อยกว่ากันมากเมื่อเปรียบเทียบกับในยุคสงครามเย็นที่ตอนนั้นเยอรมนีเป็นจุดโฟกัสหลักของสหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในการป้องกันการบุกยุโรปตะวันตกของอดีตสหภาพโซเวียต

เยอรมนีกลายเป็นที่ตั้งหน่วยงานทางทหารสำคัญหลายแห่งของอเมริกา รวมทั้งมีบทบาทเป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับกองทหารที่สหรัฐฯส่งไปและเดินทางกลับจากการประจำการในตะวันออกกลางรวมทั้งแอฟริกา เช่น ฐานทัพอากาศรัมสไตน์ และศูนย์การแพทย์ประจำภูมิภาคลันด์สตูล

ทรัมป์ให้เหตุผลการตัดสินใจครั้งนี้ว่า เป็นเพราะเยอรมนีไม่ยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการป้องกันประเทศของตัวเอง และล้มเหลวในการปฏิบัติตามเป้าหมายที่ นาโต กำหนดไว้ในปี 2014 ซึ่งให้สมาชิกแต่ละชาติจัดสรรงบประมาณการทหารเป็นจำนวนอย่างน้อย 2% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ภายในปี 2024 ทว่า เยอรมนีนั้นหวังบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในปี 2031

ประมุขทำเนียบขาวสำทับว่า อเมริกาจะถอนทหารออกมาจนกว่าเยอรมนีจะยอมจ่ายเงิน และบอกกับผู้สื่อข่าวว่า การตัดสินใจนี้เป็นการลงโทษเบอร์ลินที่จ่ายเงินสมทบนาโตน้อยไป นอกจากนั้นเขายังกล่าวหาว่า เยอรมนี ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ปฏิบัติต่ออเมริกาในทางการค้าอย่างเลวร้ายมาก พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า กองทหารอเมริกันซึ่งประจำการอยู่ในประเทศนั้นได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นของเยอรมนี

คณะบริหารของทรัมป์มีการพิจารณาถอนทหารบางส่วนจากเยอรมนีตั้งแต่ปีที่แล้ว และสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มชัดเจนขึ้นว่า ทรัมป์พร้อมเดินหน้าแผนการนี้แม้ยังไม่ได้ประกาศการตัดสินใจก็ตาม ขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของสหรัฐฯ ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการปีนเกลียวระหว่างทรัมป์ กับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี ที่คัดค้านแผนการของผู้นำสหรัฐฯ ในการจัดประชุมสุดยอดจี 7 แบบพบปะเจอตัวกัน

วอชิงตันไม่เคยหารือเรื่องนี้กับเยอรมนีหรือสมาชิกอื่นๆ ของนาโต แม้แต่รัฐสภาสหรัฐฯ ก็ไม่เคยได้รับแจ้ง ด้วยเหตุนี้สมาชิกพรรครีพับลิกัน 22 คนในคณะกรรมาธิการการทหารของสภาผู้แทนราษฎรจึงทำจดหมายเรียกร้องให้คณะบริหารทบทวนการตัดสินใจ โดยระบุว่า การที่อเมริกาลดทอนพันธะกรณีที่มีต่อนาโตจะส่งเสริมให้รัสเซียก้าวร้าวและฉวยโอกาสมากขึ้น

แจ็ก รีด ส.ว.พรรคเดโมแครต ที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภา ประณามการตัดสินใจของทรัมป์ว่า เป็นความพยายามเอาใจประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย

สัปดาห์ที่แล้ว ลิซ เชนีย์ วุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกัน ก็ติงว่า ทรัมป์กำลังจะทำผิดพลาดร้ายแรง เนื่องจากการส่งทหารไปประจำการในประเทศต่างๆ มีความสำคัญอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในช่วงเวลาที่อเมริกากำลังเผชิญภัยคุกคามทั้งด้านเสรีภาพและความมั่นคงทั่วโลกจากรัสเซียและจีน รวมทั้งยังมีความสำคัญในการส่งเสริมการเป็นพันธมิตร รักษาสันติภาพ และปกป้องความเป็นผู้นำของอเมริกา

ในทางกลับกัน ลิซเตือนว่า การถอนทหารและทอดทิ้งพันธมิตรจะทำให้ศัตรูฮึกเหิม และอาจทำให้เกิดสงครามง่ายขึ้น

ทางด้าน ฟิล กอร์ดอน จาก สภาวิเทศสัมพันธ์ (Council on Foreign Relations) กลุ่มคลังสมองชื่อดังที่ตั้งฐานอยู่ในนิวยอร์ก ชี้ว่า แผนการของทรัมป์จะถูกต่อต้านอย่างหนักจากสมาชิกทั้งสองพรรคในสภา ทำให้การดำเนินการจริงอาจล่าช้ามากหรือไม่เกิดขึ้นเลย

กอร์ดอนสำทับว่า การถอนทหารจะบ่อนทำลายศรัทธาของชาติพันธมิตรที่มีต่อนาโต และต่อการรับประกันที่จะให้การปกป้องคุ้มครองของอเมริกา รวมทั้งสร้างความอ่อนแอให้แก่ความพยายามในการป้องปรามรัสเซียและประเทศอื่นๆ ที่อาจคุกคามชาติสมาชิกนาโต


กำลังโหลดความคิดเห็น