รอยเตอร์ – ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศจะลดจำนวนทหารอเมริกันที่ประจำการในเยอรมนีเหลือ 25,000 นาย โดยกล่าวโทษชาติพันธมิตรรายนี้ว่าไม่จ่ายงบป้องกันประเทศอย่างเพียงพอตามเป้าหมายของสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และยังมีพฤติกรรมเอาเปรียบสหรัฐฯ ในด้านการค้า
คำสั่งถอนกองกำลังอเมริกันราว 9,500 นายถือเป็นการหักหน้าที่รุนแรงพอสมควรต่อเยอรมนี ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากที่สุด และอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นในหมู่ชาติยุโรปว่าอเมริกาพร้อมจะปกป้องพันธมิตรจากการรุกรานของรัสเซีย ซึ่งความเชื่อมั่นนี้ถือว่าเป็นเสาหลักด้านความมั่นคงของยุโรปในยุคหลังสงคราม
ทั้งนี้ ยังไม่แน่ว่าการแสดงเจตนารมณ์ของ ทรัมป์ ซึ่งปรากฏผ่านสื่อครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. จะนำไปสู่การปฏิบัติจริงหรือไม่ เนื่องจากมีเสียงคัดค้านจากสมาชิกพรรครีพับลิกันหลายคนที่มองว่าการลดทหารอเมริกันในยุโรปก็เท่ากับ “มอบของขวัญ” ให้รัสเซีย
ทรัมป์ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เยอรมนี “เหลวไหลไม่รับผิดชอบ” ค่าใช้จ่ายของนาโตเท่าที่ควร และยืนยันจะถอนทหารบางส่วนออกแน่ๆ ถ้าเบอร์ลินไม่แก้ไขพฤติกรรมเสียใหม่
“เราปกป้องเยอรมนี แต่พวกเขากลับเหลวไหลไม่รับผิดชอบ มันไม่ถูกต้องเลย ผมก็เลยบอกว่า...งั้นเราถอนทหารออกให้เหลือแค่ 25,000 นายก็แล้วกัน”
ผู้นำสหรัฐฯ ยังเอ่ยขึ้นมาลอยๆ โดยไม่ให้รายละเอียดว่า “พวกเขาปฏิบัติต่อเราแย่มากด้วยในเรื่องการค้า”
นาโตได้กำหนดเป้าหมายเมื่อปี 2014 ให้สมาชิก 30 ประเทศต้องใช้จ่ายงบกลาโหมไม่ต่ำกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แต่ปรากฏว่าส่วนใหญ่ รวมถึงเยอรมนี ยังทำไม่ได้
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์เนิลเป็นสื่อเจ้าแรกที่เปิดเผยเรื่อง ทรัมป์ มีแผนถอนทหารบางส่วนออกจากเยอรมนี ซึ่งต่อมารอยเตอร์ก็ได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ คนหนึ่งว่าเป็นความจริง
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวบอกว่า แผนถอนทหารเกิดจากการทบทวนของกองทัพสหรัฐฯ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และไม่เกี่ยวกับความบาดหมางระหว่าง ทรัมป์ กับนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ซึ่งปฏิเสธเดินทางไปประชุมซัมมิต G7 ที่สหรัฐฯ จนทำให้แผนการเป็นเจ้าภาพของ ทรัมป์ ต้องล่มไป
เอมิลี ฮาเบอร์ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำสหรัฐฯ เตือนว่า การส่งทหารอเมริกันเข้ามาประจำการในยุโรปมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องความมั่นคงข้ามแอตแลนติก และยังช่วยให้สหรัฐฯ สามารถรักษาดุลอำนาจในแอฟริกาและเอเชียไว้ได้ด้วย
“นี่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงข้ามแอตแลนติกเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสหรัฐฯ เองด้วย” ฮาเบอร์ กล่าวในเวทีเสวนาของสถาบันแห่งหนึ่ง พร้อมย้ำว่าความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับเยอรมนีจะยังเข้มแข็งเหมือนเดิม และรัฐบาลเบอร์ลินได้ทราบการตัดสินใจของผู้นำสหรัฐฯ แล้ว
แหล่งข่าวให้ข้อมูลกับรอยเตอร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เจ้าหน้าที่เยอรมันและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทั้งในทำเนียบขาว, กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม ต่าง “เซอร์ไพร์ส” กับรายงานของวอลล์สตรีทเจอร์เนิล และออกมาให้คำอธิบายต่างๆ นานา บ้างก็ว่า ทรัมป์ อาจจะยังโกรธที่จัดประชุม G7 แบบพบปะซึ่งหน้าไม่ได้ ขณะที่บางคนเชื่อว่า ริชาร์ด เกรเนลล์ อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำเยอรมนีซึ่งเป็นผู้ภักดีต่อ ทรัมป์ น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง
“แน่นอนว่าจะต้องมีกระแสคัดค้านในสภาคองเกรสจากทั้ง 2 พรรคการเมือง ดังนั้นการทำตามที่ ทรัมป์ พูดอาจจะล่าช้า หรือไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้” ฟิล กอร์ดอน จากสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (Council on Foreign Relations) ให้ความเห็น พร้อมเตือนว่าคำสั่งถอนทหารจะทำให้ความรู้สึกเชื่อมั่นในนาโตและการรับรองความมั่นคงจากสหรัฐฯ ถูกกัดเซาะ ทั้งยังบั่นทอนการป้องปรามรัสเซียหรือใครก็ตามที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อรัฐสมาชิก