xs
xsm
sm
md
lg

เพนตากอนค้านทรัมป์ใช้ พ.ร.บ.ปราบจลาจล กำราบม็อบ แม้เคลื่อนทหาร 1,600 นาย เข้าวอชิงตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - มาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในวันพุธ (3 มิ.ย.) ว่า ณ ตอนนี้เขาไม่สนับสนุนให้ประกาศใช้กฎหมาย Insurrection Act หรือ พ.ร.บ.ปราบการจลาจล เพื่อส่งกองกำลังประจำการเข้าควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย แม้ทรัมป์ขู่ใช้ทหารจัดการกับเหตุจลาจลและความรุนแรง อันเนื่องจากการชุมนุมต้านเหยียดผิว

ทรัมป์ ขู่ในสัปดาห์นี้ว่า เขาจะใช้กำลังทหารในรัฐต่างๆ ที่ล้มเหลวในการปราบปรามการชุมนุม ซึ่งบางครั้งเลี้ยวเข้าสู่ความรุนแรง ประท้วงต่อการเสียชีวิตด้วยเงื้อมมือตำรวจในมินนีอาโปลิส ของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีที่ไม่มีอาวุธ

“ทางเลือกใช้กองกำลังประจำการในบทบาทบังคับใช้กฎหมายควรถูกใช้ในกรณีเดียวในฐานะเป็นหนทางสุดท้าย และใช้สถานการณ์ที่เร่งด่วนที่สุดและเลวร้ายที่สุดเท่านั้น ตอนนี้เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เหล่านั้น” เอสเปอร์กล่าวระหว่างแถลงสรุป “ผมไม่สนับสนุนให้ใช้ พ.ร.บ.ปราบการจลาจล”

เพื่อประจำการทหารบนแผ่นดินสหรัฐฯในจุดประสงค์บังคับใช้กฎหมาย ทรัมป์จำเป็นต้องประกาศใช้กฎหมาย Insurrection Act ปี 1807 ซึ่งถูกใช้ครั้งสุดท้ายต้องย้อนกลับไปในปี 1992 โดยคราวนั้นเป็นการตอบสนองต่อเหตุจลาจลประท้วงการเสียชีวิตของร็อดนีย์ คิง ในลอสแองเจลิส

ก่อนหน้านี้ กองทัพยืนยันว่ากำลังพล 1,600 นาย ในนั้นรวมถึงเจ้าหน้าที่สังกัดกองพันทหารราบ เดินทางเข้าสู่กรุงวอชิงตันและพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว และพร้อมเข้าประจำการหากมีความจำเป็น


เบื้องต้นทุกนายได้รับคำสั่งให้อยู่ในสถานะตื่นตัวและพร้อมขั้นสูงสุด แต่ไม่ใช่การเข้าร่วมปฏิบัติการสนับสนุนด้านความมั่นคงให้กับหน่วยงานพลเรือน

เอสเปอร์บอกว่า เขารู้สึกเสียใจที่ใช้คำว่า “สมรภูมิรบ” ในสัปดานี้ สำหรับจำกัดความพื้นที่ต่างๆ ที่ปกคลุมไปด้วยการประท้วง "หากย้อนกลับไปได้ ผมจะใช้คำที่ต่างออกไป เพื่อไม่เบี่ยงความสนใจไปจากประเด็นอื่นๆ ที่มีความสำคัญกว่า”

คำขู่ของทรัมป์เกี่ยวกับการส่งทหารเข้าประจำการในรัฐต่างๆ เพื่อจัดการกับสถานการณ์ความไม่สงบ แม้แต่ในรัฐที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ได้โหมกระพือความกังวลในหมู่กองทัพสหรัฐฯและในสภาคองเกรส โดยแม้แต่สมาชิกรีพับลิกันระดับสูงรายหนึ่งก็ยังเตือนว่ามันอาจทำให้ทหารกลายเป็นเบี้ยทางการเมือง

เอสเปอร์ยอมรับว่า มันจะกลายเป็นเรื่องยากที่จะกันกองทัพออกจากการต่อสู้ทางการเมือง หากตัดสินใจใช้ทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยภายใน "ผมทำงานอย่างหนักในการกันกระทรวงนี้ออกจากการเมือง ซึ่ง ณ วันนี้ยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก เนื่องจากเราเข้าใกล้การเลือกตั้งทุกขณะ”

ไมค์ มุลเลน พลเรือเอกปลดเกษียณ อดีตประธานเสนาธิการทหารร่วม บอกว่า เขารู้สึกลำบากใจที่ได้เห็นเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ในนั้นรวมถึงกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ เข้าเคลียร์พื้นที่การชุมนุมและเตือนต่อการใช้ทหารสหรัฐฯในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน “พลเมืองของเราไม่ใช่ศัตรู และไม่มีวันที่จะเป็นด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น