(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Trump in trouble could still spell ill for China
by Francesco Sisci
06/06/2020
มีโอกาสลดน้อยลงไปเยอะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะลำบากมากเวลานี้ จะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯอีกสมัยหนึ่ง กระนั้นมันก็ไม่มีความชัดเจนว่า การสิ้นสุดเส้นทางของเขาจะกลายเป็นผลดีสำหรับจีน
โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯเมื่อ 4 ปีก่อน ส่วนใหญ่เนื่องมาจาก 2 สิ่งซึ่งอาจจะขาดหายไปเสียแล้วในเวลานี้ ด้วยเหตุดังกล่าว นี่จึงดูเหมือนกระบวนการแห่งอำนาจของอเมริกันได้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งยังทำให้นโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐฯตกอยู่ในภาวะที่ยุ่งยากซับซ้อน
หนึ่งใน 2 องค์ประกอบดังกล่าว ได้แก่การที่ผู้ออกเสียงหลงใหลติดใจทรัมป์ว่าเป็น “คนที่ต่อสู้กับระบบ” (man against the system) เปรียบเทียบกับ ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งกลายเป็นบุคคลผู้เป็นตัวแทนของ “ระบบ” (the system) จากการที่เธอเป็นภรรยาของอดีตประธานาธิบดีและเชื่อมโยงกับกลุ่มผลประโยขชน์สำคัญๆ ของประเทศจำนวนมากมาย การโหวตให้แก่ทรัมป์จึงยังมีความหมายเสมือนกับการตบหน้าฉาดใหญ่ใส่กลุ่มผู้ทรงอำนาจอิทธิพลของสหรัฐฯ (US establishment) จำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ตัวทรัมป์เองนั่นแหละคือระบบ และเขาเป็นตัวแทนของทุกสิ่งทุกอย่างที่ใช้การไม่ได้ในระบบดังกล่าว ดังนั้นมนตร์ขลังที่จะสามารถจับจิตจับใจเสียงโหวตต่อต้านกลุ่มผู้ทรงอำนาจของเขา จึงน่าจะเสื่อมคลายล้มเหลวเสียแล้ว
แหล่งที่มาสำคัญของแรงสนับสนุนทรัมป์เมื่อ 4 ปีก่อนอีกประการหนึ่ง มาจากอเมริกาของพวกนักจารีตนิยม (traditionalist America) อย่างสุดขั้ว เป็นอเมริกาที่รู้สึกไม่มั่นคงเพราะรู้สึกสูญเสียอัตลักษณ์จากการที่มีผู้อพยพระลอกใหม่ๆ เดินทางเข้ามา และก็เป็นอเมริกาที่รู้สึกว่าเจอภัยอันตรายจากระเบียบโลกซึ่งพวกเขาไม่ได้มีความเข้าใจ โดยที่สหรัฐฯดูเหมือนกำลังทำให้พวกเขายากจนข้นแค้นลงเรื่อยๆ แทนที่จะทำให้พวกเขามั่งคั่งร่ำรวยยิ่งขึ้น ทว่าความรู้สึกความเข้าใจร่วมเช่นนี้อาจจะถูกกัดเซาะทำลายไปแล้วจากวิกฤตการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในตอนนี้ อีกทั้งยังอาจแตกร้าวมากขึ้นต่อไปอีกในระยะไม่กี่เดือนต่อจากนี้
ด้วยจำนวนผู้ว่างงานราวๆ 40 ล้านคน, จำนวนผู้เสียชีวิตราวๆ 100,000 คนจากโรคระบาดโควิด-19 (ซึ่งเมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนอาจจะกลายเป็น 150,000 – 200,000 คนหรือมากกว่านั้น), ความไม่สงบทางเชื้อชาติครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามเวียดนามเป็นต้นมา และวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของลัทธิทุนนิยม ผู้คนหน้าเก่าที่เคยออกเสียงให้ทรัมป์จำนวนสักแค่ไหนกันที่จะยังคงสนับสนุนเขาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปต้นเดือนพฤศจิกายนนี้? เขาจะคว้าชัยชนะมาได้อย่างไร?
ระหว่างที่เกิดกระแสการประท้วงคราวนี้ ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯเคลื่อนไหวขึ้นๆ ลงๆ แต่ก็ยังทรงตัวอยู่ได้ นี่อาจจะหมายความถึงความเชื่อมั่นในตัวทรัมป์ แต่มันก็อาจเป็นไปได้เช่นกันที่จะเป็นสัญญาณแสดงถึงความเชื่อมั่นในตัว โจ ไบเดน คู่แข่งของเขา ซึ่งเวลานี้กำลังนำอยู่ถึง 10% ในโพลสำรวจความคิดเห็นของสำนักต่างๆ
การประท้วงที่ส่วนใหญ่แล้วดำเนินไปอย่างสันติ เพื่อคัดค้านการที่ตำรวจเข่นฆ่าชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาคนหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าอเมริกายังคงมีความรู้สึกถึงบาดแผลที่เกิดจากการเหยียดเชื้อชาติ
การชุมนุมเดินขบวน, การโจมตีฉกชิงข้าวของจากพวกร้านรวง, และการใช้ความรุนแรงของผู้เข้าร่วม เหล่านี้คือกลิ่นไอแห่งยุคสมัยใหม่ของการจลาจลแย่งชิงขนมปังแบบที่บรรยายเอาไว้ในนวนิยายเรื่อง “The Betrothed” ของ อเลสซานโดร มานโซนี (Alessandro Manzoni) ซึ่งผู้แต่งบอกเล่าถึงผลของโรคระบาดร้ายแรงในมิลานตอนคริสต์ศตวรรษที่ 17 พวกเขาเหล่านี้คือผู้คนที่หงุดหงิดผิดหวัง ผู้คนที่ยากจนสิ้นหวังซึ่งกำลังถูกตัดขาดออกจากความหวังใดๆ ทั้งมวล และกลายเป็นเพียงผู้ถูกใช้ให้รองรับห่ากระสุนของวิกฤตการณ์คราวนี้เท่านั้น
อันที่จริงแล้ว การเสียชีวิตจากโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างหนักหนาสาหัสเป็นพิเศษในผู้คนส่วนที่ขัดสนแร้นแค้นที่สุดของประชากร ในพวกซึ่งไม่ได้มีบ้านพักแถบชนบทให้พำนักกักกันโรคได้, ในพวกซึ่งแทบไม่มีหรือกระทั่งไม่มีหนทางเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพเอาเลย, และในพวกซึ่งทุกวันนี้ได้สูญเสียตำแหน่งงานของพวกเขาไปแล้ว หรือมีตำแหน่งงานที่อยู่ในภาวะล่อแหลมไม่มั่นคงอย่างยิ่ง
เวลานี้พวกเขาไม่มีอะไรที่จะสูญเสียได้อีกแล้ว เมื่องานจำนวนมากไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายก็ตามล้วนแล้วแต่จบสิ้นไปหมด (เนื่องจากโควิด-19 ก็เล่นงานใส่ภาคเศรษฐกิจผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน) ดังนั้นสำหรับบางคนแล้ว การได้เข้าโจมตีฉกชิงร้านรวงที่เคยได้รับการปกป้องคุ้มครอง ภายใต้การอำพรางปลอมแปลงว่าเป็น “การจลาจลทางเชื้อชาติ”นั้น ไม่เพียงแค่เป็นการแสดงความโกรธแค้นเท่านั้น หากแต่ยังเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตอีกด้วย
ใช้ทหารเข้ารักษาความสงบเรียบร้อย?
ในสถานการณ์เช่นนี้ การประกาศเรียกระดมกำลังทหารเข้ามาฟื้นฟูรักษาความสงวบเรียบร้อย ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่มีความเสี่ยงสูงเสมอมา บ่อยครั้งที่พวกทหารเป็นผู้ถูกกะเกณฑ์หรือรับสมัครจากผู้คนที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียง และการงานอาชีพในกองทัพถูกวาดภาพว่าเป็นหนทางอันทรงเกียรติศักดิ์ศรีที่จะนำพาพวกเขาหลุดออกมาจากความยากจน ด้วยเหตุนี้การเรียกระดมทหารมาปราบปรามพลเรือนจึงอาจเพิ่มความแตกแยกในสหรัฐฯมากขึ้นไปอีก
ตามประเพณีแต่ไหนแต่ไรมา ทหารสหรัฐฯคือกลไกเครื่องมือของรัฐ ไม่ใช่กลไกเครื่องมือของรัฐบาล และมีจุดมุ่งหมายที่จะต่อสู้ปราบปรามภัยคุกคามจากภายนอก ด้วยเหตุผลเช่นนี้แหละ กองทัพจึงไม่ได้ถูกระดมเรียกใช้ในสหรัฐฯเองเป็นเวลานานปีแล้ว
ถ้าในวันนี้พวกเขาเข้ามาแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับเรื่องขัดแย้งภายในประเทศ พวกเขาก็มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นกลไกเครื่องมือของรัฐบาลชุดนี้ในการปราบปรามส่วนหนึ่งของประชากรของพวกเขาเอง ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือการที่พวกเขาจะต้องเลือกข้างถือหางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการถกเถียงทางการเมือง พวกเขาได้กลายเป็นสมัครพรรคพวกของฝ่ายหนึ่งไปแล้ว ไม่ใช่เป็นกองกำลังของรัฐที่มุ่งธำรงรักษาผลประโยชน์โดยทั่วไปของรัฐ
ในประเทศจีน ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นพรรคผู้ปกครองประเทศ กลายเป็นศูนย์กลางของการถกเถียงกันภายในอย่างดุเดือดมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการถกเถียงกันเรื่องที่กองทหารเข้าแทรกแซงเพื่อปราบปรามพวกนักศึกษาซึ่งชุมนุมประท้วงในจัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989
แน่นอนล่ะ ในอเมริกานั้นทุกสิ่งทุกอย่างมีความแตกต่างออกไปมากมาย แต่เราสมควรต้องระลึกเอาไว้ว่า การถกเถียงของจีนบังเกิดขึ้นมาทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว พรรคและกองทัพถูกสร้างและถูกพัฒนาขึ้นมาบนหนทางแห่งการบูรณาการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างสงครามปฏิวัติในทศวรรษ 1930 และทศวรรษ 1940 แม้กระนั้น ทหารจำนวนมากยังคงรู้สึกไม่สบายใจอยู่ดีในการเข้าบดขยี้พวกนักศึกษาและประชาชนคนสามัญเพื่อพิทักษ์ปกป้องพรรค
อย่างไรก็ตาม ในอเมริกานั้น พวกพรรคการเมืองและกองทัพได้ถูกแยกห่างออกจากกันเสมอมา และกองทัพกลายเป็นจุดแห่งความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวของประเทศชาติที่อยู่เลยโพ้นไปจากการแบ่งแยกแตกป็นฝักเป็นฝ่ายเป็นพรรคเป็นพวก
ถ้าทหารสหรัฐฯแสดงความลังเลไม่ยินดีที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องแทรกแซง อย่างที่ดูเหมือนมีความชัดเจนอยู่แล้วในเวลานี้ ประธานาธิบดีคนที่ออกคำสั่งให้พวกเขาเข้าแทรกแซงก็จะตกอยู่ในฐานะที่อ่อนแอลง หากคำสั่งของเขาไม่ได้รับการเคารพเชื่อฟัง แล้วถ้าพวกทหารถูกเรียกระดมออกมาปฏิบัติภาระหน้าที่เช่นนี้กันจริงๆ ก็เห็นได้แจ่มแจ้งว่านี่จะก่อให้เกิดการแตกแยกอย่างเป็นอันตรายมากระหว่างกองทัพกับประชาชน
ในแง่หนึ่ง การที่กองทัพทำตามคำสั่งของรัฐบาลในการเข้าแทรกแซงเพื่อปราบปรามพวกผู้ชุมนุมเดินขบวน ซึ่งหนุนหลังโดยฝ่ายค้าน สามารถเปรียบเทียบได้ว่าเหมือนกับ จูเลียต ซีซาร์ ข้ามแม่น้ำรูบิคอน (จนกระทั่งวลีที่ว่า ข้ามแม่น้ำรูบิคอน -- crossing the Rubicon กลายเป็นสำนวนในภาษาอังกฤษที่หมายถึง การตัดสินใจครั้งสำคัญอย่างเด็ดขาด เข้าทำนอง พระเจ้าตาก ทรงสั่งทุบหม้อข้าวก่อนเข้าตีเมืองจันทรบุรี ในประวัติศาสตร์ไทย -ผู้แปล) ด้วยกำลังทหารที่เตรียมตัวพรักพร้อมแล้ว จากนั้นก็เดินหน้าบุกเข้าบดขยี้พวกปรปักษ์ของเขาในกรุงโรม
ทว่าในคราวนี้กองทหารอาจจะไม่จงรักภักดีต่อ “ซีซาร์” ก็ได้ ประมาณ 40% ของทหารสหรัฐฯเป็นคนผิวดำ ดังนั้นในทางภววิสัยแล้ว พวกเขาจึงมีความเห็นใจเห็นด้วยกับความคิดอุดมการณ์ในการต่อต้านลัทธิเหยียดผิวอยู่แล้ว – เช่นเดียวกับสหายชาวผิวขาวของพวกเขาเป็นจำนวนมาก ลงท้ายแล้ว ถ้ามีการใช้กำลังทหารใดๆ ขึ้นมา มันก็จะเกิดการขัดแย้งกระทบกระทั่งขึ้นระหว่างกองทหารกับพวกผู้มีอำนาจระดับท้องถิ่น ผู้ซึ่งอาจจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการแทรกแซงด้วยกำลังทหาร
การประท้วงก็เกี่ยวกับจีนด้วย
แต่นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอเมริกาเท่านั้น ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมามีการโอนเอียงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไปสู่การประจันหน้าอย่างแข็งกร้าวระหว่างสหรัฐฯ-จีน ซึ่งสภาพเช่นนี้ก็กำลังเปลี่ยนแปลงสมดุลทางการเมืองของโลกไปด้วย
ตัวอย่างเช่น แนวความคิดเกี่ยวกับการที่อังกฤษสมควรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) นั้น วางอยู่บนสมมุติฐานของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ, อียู, และจีน ที่มีความลื่นไหลและเป็นผลบวก ในความสัมพันธ์ 3 เส้าเช่นนี้ ทำให้มีผู้มองเห็นว่า อังกฤษซี่งมีความเป็นเสรีมากขึ้นหลังจากปลดเปลื้องข้อจำกัดของการเป็นสมาชิกอียูบางประการออกไปได้ น่าจะสามารถแสดงบทบาทพิเศษแห่งการเป็นผู้คอยอำนวยความสะดวกที่จะได้รับการยอมรับจากทุกๆ ฝ่ายอย่างสูงได้
แต่จากการที่สหรัฐฯ-จีนกลับค่อยๆ หันเผชิญหน้ากันอย่างชัดเจนมากขึ้นทุกที จึงกลายเป็นการบังคับให้อียูและอังกฤษต้องเลือกว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ด้วยเหตุนี้ อียูจะเข้าอยู่ข้างเดียวกับสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และด้วยเหตุผลต่างๆ จำนวนมาก อังกฤษอาจจะได้ประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่คนอื่นๆ เมื่อยังอยู่ภายในอียูมากกว่าแยกตัวออกมาอยู่ข้างนอก
ยิ่งไปกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในบริบทแห่งการเผชิญหน้ากับจีน สหรัฐฯไม่สามารถที่จะปรากฎรูปโฉมให้เห็นในแบบที่ “ไม่เป็นเสรีนิยม” (illiberal) เนื่องจากมันจะสูญเสียอาวุธสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของตนในการรับมือกับจีนไปเสีย นั่นคือ มนตร์เสน่ห์ของค่านิยมแบบเสรีนิยมที่แสดงออกให้เห็นตั้งแต่ตอนก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างเช่น พวกเขาถูกมองว่าเป็นผู้ปกป้องเสรีภาพและนิยมชมชื่นความยุติธรรม ไม่ใช่เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองอำนาจและคนร่ำรวย
ประมาณ 50 ปีที่แล้ว อเมริกาและฝ่ายตะวันตกได้สูญเสียความเหนือกว่าทางศีลธรรมไปอย่างน้อยที่สุดก็บางส่วน สืบเนื่องจากกระแสการเดินขบวนคัดค้านสงครามเวียดนาม การประท้วงเหล่านั้นกลายเป็นองค์ประกอบสำคัยอย่างหนึ่งซึ่งเร่งรัดให้มีการถอนทหารอเมริกันออกจากอินโดจีน เวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่อันตรายมากและสลับซับซ้อนมากในสงครามเย็น เมื่อฝ่ายตะวันตกเกิดความหวาดกลัวว่ากำลังจะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง
การที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐฯ ทำความตกลงครั้งแรกกับจีนในช่วงต้นทศวรรษ 1970 และการที่สหรัฐฯสนับสนุนขบวนการมูจาฮีดีน (mujahideen)ในอัฟกานิสถานให้ต่อต้านโวเวียต ได้ช่วยทำให้สถานการณ์เกิดการพลิกกลับเป็นตรงกันข้าม
แล้วประธานาธิบดีที่คอยแต่สร้างความแตกแยกมาโดยตลอด ถึงตอนนี้จะสามารถสร้างความสามัคคีรวบรวมอเมริกาและพันธมิตรของตนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเรื่องจีนได้อย่างไร? หากไม่ใช่ว่าทรัมป์สามารถเปลี่ยนแปลงและมีความอุตสาหะฝ่าฟันจนเรียกความสนับสนุนจากอีกครึ่งหนึ่งของประเทศชาติได้สำเร็จแล้ว ประเทศชาติย่อมต้องการประธานาธิบดีอีกคนหนึ่งผู้ซึ่งสามารถทำเรื่องเช่นนี้ได้ แต่เป็นไปได้ไหมว่าสหรัฐฯจะจบลงด้วยการมีประธานาธิบดี “เป็ดง่อย” (lame duck) ในเวลานี้ รวมทั้งในอนาคตด้วยถ้าทรัมป์ได้รับการเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง?
มีความระแวงสงสัยกันในอเมริกาว่า ทรัมป์มีความเต็มอกใจที่จะละเมิดกฎเกณฑ์ทั้งหลายของเกมการเมืองแบบประชาธิปไตย ทรัม์นั้นมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าเหลือเกินที่จะให้ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง ในความคิดของเขานั้น ความปราชัยจะนำไปสู่การแตกแยกของอาณาจักรธุรกิจ “ทรัมป์ ออแกไนเซชั่น” (Trump Organization) รวมทั้งตัวเขาอาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและถูกตัดสินจำคุก
เมื่อประสบกับการต้องเลือกเอาระหว่างการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน กับการต้องใช้เวลาในอนาคตเข้าๆ ออกๆ ห้องพิจารณาคดีของศาล ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าสัญชาตญาณของทรัมป์จะหันเหไปทางไหน และมันจะต้องขึ้นอยู่กับคนอื่นๆ ฝ่ายอื่นๆ ที่จะยับยั้งเขา (ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่ https://www.ft.com/content/8189e105-68f2-4672-b906-f19fa1031cbe)
แต่แม้กระทั่งถ้าทรัมป์พ่ายแพ้ปราชัย ความคิดจิตใจแบบ “ลัทธิทรัมป์” (Trumpism) ที่เป็นลัทธิจารีตนิยมที่ต่อต้านระบบ ก็ยังอาจจะคงทนยืนยาวต่อไปได้และกลายเป็นความคิดที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้ทรงอำนาจอิทธิพลของอเมริกันจึงจำเป็นที่จะต้องพูดจากับพวกที่รู้สึกว่าพวกตนอยู่นอก “กระแสหลัก” –ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ถูกกีดกันให้อยู่นอกวง, ผู้ที่ถูกทำให้หมดความสำคัญ, และพวกที่รู้สึกเป็นญาติมิตรกับชนชั้นยากจนข้นแค้นของนครใหญ่ทั้งหลาย
เวลานี้ฝักฝ่ายที่ “แอนตี้ทรัมป์” เริ่มต้นเผยแพร่วาทกรรมที่ว่า จีนต้องการให้ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง เนื่องจากเขาเป็นประธานาธิบดีที่สร้างความแยกแยกและทำให้อเมริกาอ่อนแอลงเมื่อเปรียบเทียบกับจีน
วาทกรรมเช่นนี้อาจจะมีอันตราย เนื่องจากมันทำให้ทั้งพวกแอนตี้ทรัมป์ และรวมทั้งพวกนิยมทรัมป์ด้วย เกิดความรู้สึกเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีกว่า ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนนั้นย่ำแย่เลวร้าย และความแตกต่างระหว่างประเทศทั้งสองก็เพิ่มทวีขึ้นทุกที ทั้งสองพวกนี้ต่างอาจจะต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขา “แอนตี้คอมมิวนิสต์” ยิ่งกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง
ทั้งนี้ นอกเหนือจากมีความแตกแยกผิดแผกกันในเรื่องเกี่ยวกับทรัมป์ ดูเหมือนมันกลับมีฉันทามติทั่วไปประการหนึ่งในอเมริกาที่ว่า ความโชคร้ายทั้งหลายทั้งปวงที่ติดตามต่อเนื่องโถมใส่อเมริกันชนเป็นชุดใหญ่นั้น เริ่มต้นขึ้นด้วยการระบาดเข้ามาของไวรัสร้ายจากประเทศจีน
ข้อเขียนชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกใน “เซตติมานา นิวส์” (Settimana News) http://www.settimananews.it/informazione-internazionale/trump-non-vince/#_ftn1