xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: มะกันเรียกร้อง ‘ปฏิรูปตำรวจ’ เซ่นคดีจับตาย ‘จอร์จ ฟลอยด์’ ด้าน ‘ทรัมป์’ เจอมรสุมโควิด-ประท้วงฉุดเรตติ้งดิ่งเหว ส่อถูก ‘ไบเดน’ เขี่ยพ้นเก้าอี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การชุมนุมประท้วงในสหรัฐฯ ซึ่งมีต้นตอจากการเสียชีวิตของหนุ่มผิวสี “จอร์จ ฟลอยด์” เริ่มเบนเป้าหมายไปสู่การเรียกร้องให้ปฏิรูปองค์กรตำรวจและส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมในอเมริกา ขณะที่ผลสำรวจล่าสุดเผยคะแนนนิยมของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลดฮวบเป็นรอง โจ ไบเดน ผู้สมัครประธานาธิบดีเต็งหนึ่งของพรรคเดโมแครต โดยมีสาเหตุสำคัญจากความไม่พอใจของประชาชนต่อมาตรการรับมือโควิด-19 รวมถึงท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ ที่หนุนให้ฝ่ายความมั่นคงใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง

พิธีศพของ ฟลอยด์ ซึ่งถูกนายตำรวจผิวขาวประจำเมืองมินนิอาโพลิส ใช้เข่ากดคอนานเกือบ 9 นาทีจนเสียชีวิต ถูกจัดขึ้นเมื่อวันอังคาร (9 มิ.ย.) โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ชั้นนำของสหรัฐฯ เขาได้รับการยกย่องจดจำว่าเป็น “พี่น้องสามัญชน” (ordinary brother) คนหนึ่งที่ถูกโชคชะตาทำให้กลายเป็น “เสาหลักของการเคลื่อนไหว” ต่อต้านลัทธิเหยียดผิว

คลิปวิดีโอจากผู้เห็นเหตุการณ์ซึ่งเผยวินาทีที่ ฟลอยด์ วัย 46 ปี ร้องเรียกหาแม่ และพูดว่า “หายใจไม่ออก” ปลุกเร้าชาวอเมริกันทั่วประเทศให้ลุกขึ้นมาประท้วงการตายของเขาเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์มาแล้ว และบ่อยครั้งที่สถานการณ์ลุกลามจนกลายเป็นเหตุจลาจลปล้นชิงทรัพย์สิน

ดีเร็ค ชอวิน ตำรวจวัย 44 ปี ซึ่งเป็นผู้ใช้เข่ากดคอ ฟลอยด์ ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมโดยเจตนาแต่ไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน (second-degree murder) ส่วนตำรวจอีก 3 นายโดนข้อหามีส่วนช่วยเหลือและสนับสนุนการฆาตกรรมฟลอยด์ ซึ่งทั้งหมดถูกไล่ออกหลังเกิดเหตุการณ์เพียง 1 วัน

สถานการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นยังถือเป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัสที่สุดครั้งหนึ่งสำหรับ ทรัมป์ หลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2017

ผู้นำสหรัฐฯ เคยบอกกับบรรดาที่ปรึกษาของเขาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ว่า ต้องการทหาร 10,000 นาย ประจำการในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อยับยั้งเหตุจลาจล แต่ปรากฏว่า รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและผู้นำกองทัพไม่เห็นด้วย ท้ายที่สุด ทรัมป์ จึงต้องยอมใช้แค่กองกำลังป้องกันชาติ (National Guard) ซึ่งเป็นหน่วยงานความมั่นคงระดับรัฐเข้าควบคุมสถานการณ์ ซึ่งเป็นเป็นวิธีดั้งเดิมที่สหรัฐฯ เคยใช้จัดการวิกฤตจลาจลในประเทศมาแล้วในอดีต

การที่ ทรัมป์ ออกมาขู่ใช้ทหารปราบจลาจลทำให้อดีตนายพลวัยเกษียณหลายคน ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีพลเรือน ถึงกับอดรนทนไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือ พล.อ.คอลิน เพาเวลล์ อดีตประธานเสนาธิการทหารร่วมและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งวิจารณ์ ทรัมป์ ว่าทำอะไร “ไม่แคร์รัฐธรรมนูญ” และทำให้สถานะของอเมริกาย่ำแย่ลงในสายตาชาวโลก ทั้งยังประกาศด้วยว่าตนจะไปโหวตเลือก โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ในเดือน พ.ย.นี้

เจมส์ แมตทิส อดีตรัฐมนตรีกลาโหมในคณะบริหารของ ทรัมป์ เอง ถึงขั้นออกมาวิจารณ์ผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ ว่า เป็นประธานาธิบดีคนแรกในช่วงชีวิตของเขาที่ไม่เคยแม้แต่จะเสแสร้งพยายามทำให้คนอเมริกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว แต่กลับทำให้ประเทศแตกแยกเสียเอง

ด้าน คอนโดลีซซา ไรซ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ต่อจาก เพาเวลล์ ในสมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ให้สัมภาษณ์ซีบีเอสว่า เธอไม่เห็นด้วยกับการใช้ทหารปราบประชาชนที่ออกมาชุมนุมประท้วงอย่างสันติ เนื่องจากอเมริกาไม่ใช่สนามรบ

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และ โจ ไบเดน ผู้สมัครประธานาธิบดีตัวเต็งของพรรคเดโมแครต
ล่าสุด สภาบริหารเมืองมินนิอาโพลิสในรัฐมินนิโซตาได้ลงมติเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ให้ยุบสำนักงานตำรวจเพื่อสร้างขึ้นมาใหม่ให้เป็นมิตรและปลอดภัยกับชุมชนมากขึ้น

“เราจะยุบสำนักงานตำรวจมินนีอาโพลิส และจะตั้งหน่วยงานรักษาความสงบเรียบร้อยรูปแบบใหม่ที่จะทำให้ชุมชนของเราปลอดภัยอย่างแท้จริง” ลิซา เบนเดอร์ ประธานสภาบริหารเมือง ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น ขณะที่ เจค็อบ เฟรย์ นายกเทศมนตรีมินนิอาโพลิส ยอมรับผ่านสื่อเอเอฟพีว่า ตนไม่เห็นด้วยกับแผนยุบสำนักงานตำรวจ แต่สนับสนุนให้มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบมากกว่า

ฝ่ายบริหารท้องถิ่นในสหรัฐฯ บางแห่งได้เริ่มห้ามสั่งห้ามตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางกับผู้ชุมนุมประท้วง ขณะทื่ บิล เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีนิวยอร์ก ประกาศจะหั่นงบอุดหนุนสำนักงานตำรวจ และผันเงินทุนบางส่วนไปใช้อุดหนุนกิจกรรมของเยาวชนและงานบริการทางสังคมแทน

เมื่อวันจันทร์ (8 มิ.ย.) สภารัฐนิวยอร์กซึ่งมีสมาชิกพรรคเดโมแครตคุมเสียงข้างมากได้อนุมัติคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้วิธี chokehold หรือการรัดคอผู้ต้องหา ซึ่งแนวปฏิบัตินี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานว่าไม่เหมาะสม หลังจาก เอริค การ์เนอร์ หนุ่มอเมริกันผิวสี ถูกตำรวจนิวยอร์กผิวขาวรัดคอจนเสียชีวิตระหว่างการจับกุมเมื่อปี 2014

ต่อมาในวันอังคาร (9) สภารัฐนิวยอร์กก็ได้โหวตยกเลิกกฎหมายห้ามเปิดเผยประวัติการถูกลงโทษทางวินัยของตำรวจให้สาธารณชนรับรู้ โดยนายกเทศมนตรี บิล เดอ บลาซิโอ ยืนยันว่าจะลงนามบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า ชาวอเมริกันที่เป็นฐานเสียงรีพับลิกันเริ่มรู้สึก “ไม่เชื่อมั่น” ทิศทางของประเทศในยุคของทรัมป์ หลังจากอเมริกาเผชิญวิกฤตรุมเร้าพร้อมกันถึง 3 ด้าน ซึ่งได้แก่ การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่, ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และเหตุการณ์ประท้วงความรุนแรงของตำรวจ

ผลสำรวจความคิดเห็นของซีเอ็นเอ็นซึ่งจัดทำโดย SSRS พบว่า คะแนนนิยมของ ทรัมป์ ลดลงถึง 7 จุดในเดือน พ.ค. และต่ำกว่า โจ ไบเดน ซึ่งเวลานี้มีคะแนนนิยมสูงสุดเท่าที่ซีเอ็นเอ็นเคยทำการสำรวจมา

ผลสำรวจนี้ยังพบว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่รู้สึกว่าการแบ่งแยกเหยียดผิวคือปัญหาใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในตอนนี้ และระบบความยุติธรรมทางอาญาของอเมริกาลำเอียงเข้าข้างคนขาวมากกว่าคนดำ

ผู้ประท้วงกว่า 8 ใน 10 คนมองว่าการชุมนุมประท้วงกรณี จอร์จ ฟลอยด์ เป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม และส่วนใหญ่เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเชื้อชาติเป็นประเด็นที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งควรให้ความสำคัญมากพอๆ กับเรื่องเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุข

ผู้ตอบแบบสอบถามซีเอ็นเอ็น 38% พอใจการทำหน้าที่ประธานาธิบดีของทรัมป์ ขณะที่อีก 57% ไม่พอใจ ซึ่งเป็นระดับความนิยมต่ำสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2019 และเกือบจะเท่ากับคะแนนนิยมของ จิมมี คาร์เตอร์ และ จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ในช่วงไม่กี่เดือนสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง โดยอดีตประธานาธิบดีทั้งสองล้วนดำรงตำแหน่งได้แค่สมัยเดียว

สำหรับแนวโน้มในการชิงเก้าอี้ผู้นำทำเนียบขาว โพลซีเอ็นเอ็นพบว่า ทรัมป์ มีคะแนนนิยมตามหลัง ไบเดน อยู่14 จุด และจำนวนผู้ตอบคำถาม 41% ที่บอกว่าจะเลือก ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 นั้นถือว่าน้อยที่สุดตั้งแต่ซีเอ็นเอ็นเริ่มทำโพลในประเด็นนี้เมื่อเดือน เม.ย. ปี 2019 สวนทางกับ ไบเดน ที่มีผู้ตอบว่าจะเลือกเขาเป็นประธานาธิบดีถึง 55% สูงสุดเท่าที่ซีเอ็นเอ็นเคยสำรวจมา

จากการคำนวณของซีเอ็นเอ็นพบว่า ไบเดน มีจำนวนผู้แทนลงคะแนน (delegates) มากพอที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตลงชิงชัยกับ ทรัมป์ ในเดือน พ.ย. นี้แล้ว

โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้สมัครประธานาธิบดีสายเดโมแครต เดินทางไปพบปะกับกลุ่มผู้ประท้วงการตายของ จอร์จ ฟลอยด์ ที่เมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ เมื่อวันที่ 31 พ.ค.
ด้านผลสำรวจของรอยเตอร์/อิปซอส ซึ่งจัดทำระหว่างวันที่ 8-9 มิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า ไบเดน ซึ่งเคยเป็นรองประธานาธิบดีในยุค บารัค โอบามา มีคะแนนนิยมนำหน้า ทรัมป์ อยู่ราวๆ 8% และยังพบว่าชาวอเมริกันมากถึง 57% ไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของทรัมป์ เทียบกับคนเพียง 39% ที่ตอบว่าพอใจ

ผลสำรวจอีกฉบับเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบว่า ชาวอเมริกัน 55% “ไม่เห็นด้วย” กับวิธีที่ ทรัมป์ ใช้รับมือเหตุประท้วงการตายของ จอร์จ ฟลอยด์

เว็บไซต์ Predictlt ประเมินว่าตอนนี้ ไบเดน มีคะแนนนิยมนำหน้า ทรัมป์ อยู่ 9 จุด เพิ่มขึ้นจาก 6 จุดเมื่อ 1 เดือนก่อน

คะแนนนิยมของ ทรัมป์ ที่ส่อแววดิ่งเหวในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งยังสร้างความวิตกกังวลต่อภาคธุรกิจ ซึ่งได้รับประโยชน์จากนโยบายของเขา ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า หากผู้สมัครสายเดโมแครตได้เป็นประธานาธิบดีจะทำให้นโยบายเด่นๆ ของ ทรัมป์ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของวอลล์สตรีท เช่น การลดภาษีนิติบุคคล และการผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ ตกอยู่ในความเสี่ยง

“ชัยชนะของ โจ ไบเดน หรือยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การที่พรรคเดโมแครตกวาดชัยชนะเรียบในศึกเลือกตั้ง คือ สิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าไม่เป็นผลดีต่อตลาด” นักวิเคราะห์จากสถาบัน BofA Global Research ระบุ

ประเด็นหนึ่งที่ ทรัมป์ และ ไบเดน มีจุดยืนขัดแย้งกันมากที่สุด ก็คือ เรื่องการจัดเก็บภาษี โดย ไบเดน นั้นไม่เห็นด้วยที่ ทรัมป์ ออกกฎหมายลดภาษีนิติบุคคลเมื่อปี 2017 และประกาศว่าจะเข้ามา “แก้ไข” นโยบายดังกล่าว สร้างความวิตกกังวลต่อภาคธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้

นักวิเคราะห์จากธนาคารโกลด์แมนแซคส์ ประเมินว่า หากปล่อยให้ ไบเดน เข้ามาดำเนินการปฏิรูปภาษี ราคาหุ้นของบริษัทใหญ่ๆ ในดัชนี S&P 500 จะร่วงลงประมาณ 20-150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหุ้นภายในปี 2021 แต่หาก ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่สร้างความปั่นป่วนต่อเศรษฐกิจโลกมานานหลายปีก็มีแนวโน้มว่ายืดเยื้อต่อไปอีกนาน

แม้ผลโพลส่วนใหญ่จะถือเป็นลางร้ายสำหรับ ทรัมป์ ในตอนนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทรัมป์ ยังคงมีจุดแข็งในเรื่องของการปั่นกระแสชาตินิยมซึ่งสามารถเรียกเรตติ้งจากฐานเสียงของเขาได้เสมอ และหากย้อนดูเหตุการณ์เมื่อ 4 ปีที่แล้วก็จะเห็นได้ว่า แม้แต่ ฮิลลารี คลินตัน ที่โพลแทบทุกสำนักยกให้เป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของอเมริกา และได้ป๊อปปูลาร์โหวตมากกว่า ทรัมป์ ประมาณ 2 ล้านเสียง สุดท้ายกลับกลายเป็นฝ่ายแพ้ เนื่องจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ วัดผลกันที่จำนวนผู้แทนเขต (electoral vote) ซึ่ง ทรัมป์ อาจจะอาศัยกฎเกณฑ์ข้อนี้สร้างปาฏิหาริย์ได้อีกหนในเดือน พ.ย.


กำลังโหลดความคิดเห็น