xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง : อาวุธสงครามเหลือใช้จาก ‘เพนตากอน’ เร่งให้ตำรวจสหรัฐฯ ยิ่งกลายสภาพเป็น ‘กองทหาร’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพถ่ายเมื่อ 31 พ.ค.) ตำรวจของเทศมณฑลเอเธนส์-คลาร์ค ในชุดปราบจลาจล และสนับสนุนด้วยยานยนต์หุ้มเกราะทหาร เคลื่อนเข้าหาพวกผู้ประท้วงเพื่อขับไล่ให้ออกไปจากถนนสายหนึ่งในย่านใจกลางเมืองเอเธนส์ รัฐจอร์เจีย  ทั้งนี้ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์เหลือใช้ที่เพนตากอนถ่ายโอนมอบให้สำนักงานตำรวจของเมืองต่างๆ ในสหรัฐฯ  ทำให้ตำรวจของสหรัฐฯเวลานี้มีสภาพกลายเป็นกองทหารมากขึ้นทุกที
ตอนที่ตำรวจในสหรัฐฯ ยกกำลังสู่ท้องถนนตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อประจันหน้ากับพวกผู้ประท้วงช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนมากทีเดียวรู้สึกเหมือนกับว่ามีการระดมกองทหารออกมาทำศึก ทั้งจากเครื่องแบบที่เป็นชุดลายพราง ครบครันด้วยอุปกรณ์ประกอบสำหรับการสู้รบ, นอกจากนั้นยังมียานหุ้มเกราะต่อสู้กับระเบิด และอาวุธจู่โจมอานุภาพร้ายแรง

นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใดทั้งสิ้น เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ได้แจกจ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์เหลือใช้ของตนให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งต่างๆ ทั่วทั้งอเมริกาแบบฟรีๆ และมาถึงคราวนี้ สำนักงานตำรวจประจำเมืองเหล่านั้น ไม่ว่าเมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก ก็เพียงแค่นำมันออกมาอวดโฉมให้ประจักษ์แก่สายตาสาธารณชน

พวกที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้พากันป่าวร้องว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการโดยรวมซึ่งมุ่งทำให้ตำรวจในสหรัฐฯ กลายเป็นกองทหาร ขณะที่ภาพเช่นนี้ช่วยเติมเชื้อเพลิงให้แก่การชุมนุมเดินขบวนที่มีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมทั่วประเทศ เพื่อคัดค้านการใช้อำนาจอย่างมิชอบและการใช้ยุทธวิธีจัดการกับผู้ต้องสงสัยแบบเอาให้ถึงตายของตำรวจ

โดยที่การประท้วงคัดค้านเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นภายหลังเหตุการณ์ตำรวจเมืองมินนีอาโปลิส รัฐมินนิโซตา ใช้เข่าหนีบและกดคอ จอร์จ ฟลอยด์ ชายชาวอเมริกันผิวดำซึ่งถูกสวมกุญแจมือ และถูกบังคับให้นอนคว่ำอยู่กับพื้น เป็นเวลากว่า 8 นาที จนกระทั่งเขาเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม

แม้แต่ตำรวจเมืองเล็กเมืองน้อยก็ติดอาวุธที่ใช้ทำสงคราม

ทันทีที่การประท้วงเริ่มต้นขึ้นในมินนีอาโปลิส สำนักงานตำรวจที่มีชื่อเสียงเลวร้ายของเมืองแห่งนี้ก็สั่งเคลื่อนขบวนยานหุ้มเกราะซึ่งดูเหมาะกับสมรภูมิในตะวันออกกลางมากกว่า ออกมาสู่ท้องถนน

เมืองใหญ่แห่งอื่นๆ ก็มีพาหนะเพื่อการสู้รบเช่นนี้เหมือนกัน และไม่เพียงเท่านั้น แม้กระทั่งเมืองเล็กๆ หลายๆ แห่งก็มี

เมื่อปี 2013 ตำรวจในเทศมณฑลแฟลตเฮด รัฐมอนแทนา ซึ่งมีประชากรทั้งสิ้นราว 90,000 คน โดยพำนักกันอยู่ใกล้ๆ อุทยานแห่งชาติเกลเชอร์ ที่มีทัศนียภาพงดงาม ได้รับยานหุ้มเกราะต่อสู้กับระเบิดมาคันหนึ่ง หลังจาก 1 ปีก่อนหน้าได้รับจัดสรรแบ่งปันรถลำเลียงของทหารมาแล้ว 1 คัน

ที่ชวนให้รู้สึกอึ้งยิ่งกว่านี้อีก คือ ในเมืองอาดา รัฐโอคลาโฮมา ซึ่งมีประชากร 16,000 คน สำนักงานตำรวจที่นี่ซึ่งมีกำลังพล 10 คน โดย 2 คนในจำนวนนี้มีฐานะเป็นตำรวจพาร์ตไทม์ด้วยซ้ำ ก็ได้รับจัดสรรยานหุ้มเกราะต่อสู้กับระเบิดของพวกเขา 1 คันในเดือนกรกฎาคม 2019 หลังจากที่ได้รับปืนเล็กยาวจู่โจม เอ็ม 16 มาเก็บสต็อกเอาไว้รวมแล้ว 34 กระบอกตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา

ในประเทศเฉกเช่นสหรัฐอเมริกา ที่ประชาชนจำนวนมากครอบครองอาวุธปืนเป็นของตนเอง ขณะเดียวกันก็เกิดเหตุกราดยิงใส่ผู้คนอย่างคลั่งแค้นอยู่เสมอ โดยหนึ่งในสถานที่ซึ่งมักตกเป็นเป้าหมายคือโรงเรียน ปรากฏว่าแม้กระทั่งเขตการศึกษาท้องถิ่น ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบโรงเรียนต่างๆ ในเขตของตน ก็กำลังได้รับประโยชน์จากการแจกจ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ของเพนตากอนเช่นเดียวกัน

เป็นต้นว่า โรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยมรวม 47 แห่ง ของเขตเบย์ ดิสตริกต์ ในเมืองปานามาซิตี้ รัฐฟลอริดา ได้รับปืนเล็กยาวจู่โจมไม่น้อยกว่า 27 กระบอก และยานหุ้มเกราะต่อสู้กับระเบิดอีก 2 คัน ในปี 2012 และ 2013

(ภาพถ่ายเมื่อ 1 มิ.ย.) ยานยนต์ทหารของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจอดคุมเชิง ขณะที่ผู้ต้องการเข้าร่วมประท้วงเดินเข้าสู่จุดนัดชุมนุม ที่เมืองดัลลัส รัฐเทกซัส
ทรัมป์คือผู้เริ่มโครงการแจกอาวุธขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

โครงการจัดสรรแจกจ่ายอาวุธเหลือใช้ของเพนตากอน ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่า โครงการ “1033” นั้น เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว

นับตั้งแต่ปี 1997 จนถึงเวลานี้ ฝ่ายทหารของสหรัฐฯ ได้แบ่งสรรแจกจ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งที่ใช้แล้วและที่ใหม่เอี่ยมถอดด้าม ตั้งแต่ปืนพกไปจนถึงเฮลิคอปเตอร์และยานหุ้มเกราะ รวมป็นมูลค่าประมาณ 8,600 ล้านดอลลาร์ ให้แก่กองกำลังตำรวจทั้งระดับส่วนกลางของสหรัฐฯ, ระดับเผ่าของชาวอเมริกันพื้นเมือง, และระดับท้องถิ่น เป็นจำนวนมากกว่า 8,000 แห่ง ทั้งนี้ตามข้อมูลตัวเลขของรัฐสภาสหรัฐฯ

ในปี 2015 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้สั่งหดลดโครงการนี้ลงมาอย่างมหาศาล ทว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา ได้รื้อฟื้นมันขึ้นมาใหม่ในปี 2017

เฉพาะปีนั้นปีเดียว มีอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหารประมาณ 500 ล้านชิ้น ถูกมอบโอนไปให้แก่สำนักงานตำรวจต่างๆ ในสหรัฐฯ ตามโครงการ 1033

แต่จากกระแสการประท้วงแอนตี้ตำรวจที่ปะทุขึ้นช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ ได้กลายเป็นการรีชาร์จความพยายามที่จะหยุดยั้งโครงการนี้ให้คึกคักมีชีวิตชีวาขึ้นอีก

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ราว 200 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สังกัดพรรคเดโมแครต ได้ประกาศสนับสนุนร่างกฎหมาย “รัฐบัญญัติยุติกระบวนการทำให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกลายเป็นกองทหาร” (Stop Militarizing Law Enforcement Act) เพื่อที่จะจำกัดควบคุมโครงการ 1033 อีกคำรบหนึ่ง

ร่างกฎหมายนี้ ฉบับที่กำลังพิจารณากันอยู่ในสภาผู้แทนราษฏร มีเนื้อหามุ่งจำกัดเข้มงวดการโอนย้ายจ่ายแจกทั้งอาวุธปืน, เครื่องกระสุน, ลูกระเบิด, วัตถุระเบิด, ยานพาหนะบางชนิดบางประเภท, รวมทั้ง โดรน และอากาศยานอื่นๆ ซึ่งออกมาแบบสำหรับใช้ในสนามรบ

ส่วนร่างกฎหมายฉบับคู่ขนานกันซึ่งกำลังจัดเตรียมอยู่ในวุฒิสภา ผลักดันโดย ส.ว.ไบรอัน ชวาตซ์ ของพรรคเดโมแครต ผู้ซึ่งต่อสู้คัดค้านการติดอาวุธให้ตำรวจมากเกินไปมาหลายปีแล้ว

“เป็นที่ชัดเจนว่า สำนักงานตำรวจจำนวนมากกำลังได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ยังกับว่าพวกเขากำลังจะไปทำสงคราม นั่นมันใช้การไม่ได้หรอกเมื่อพิจารณาจากแง่ของการรักษาความสงบเรียบร้อย” ชวาตซ์ บอกกับนิวยอร์กไทมส์

“เพียงแค่ว่ากระทรวงกลาโหมมีอาวุธยุทโธปกรณ์เหลือใช้ ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเอามาแจกจ่ายแล้ว มันจะถูกใช้กันอย่างถูกต้องเหมาะสม”

ชวาตซ์ และ ส.ว.แรนด์ พอล ซึ่งสังกัดพรรครีพับลิกัน ได้เคยพยายามที่จะผลักดันร่างกฎหมายคล้ายๆ กันนี้มาแล้วในปี 2014 ภายหลังมีการเผยแพร่รายละเอียดของโครงการ 1033 ออกมาเป็นครั้งแรก ท่ามกลางการจลาจลสืบเนื่องจากการใช้ความรุนแรงโหดเหี้ยมของตำรวจต่อชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา ในเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี

การประท้วงและการจลาจลที่บานปลายตามมาคราวนั้น ซึ่งบังเกิดขึ้นเพราะตำรวจยิง ไมเคิล บราวน์ หนุ่มผิวดำวัย 18 ปี ปรากฏว่าต้องเผชิญกับกำลังตำรวจที่ทั้งถืออาวุธสงครามอย่างปืนเล็กยาวจู่โจม และทั้งขับยานหุ้มเกราะที่พวกเขาได้รับมาจากเพนตากอน

(เก็บความจากเรื่อง Pentagon surplus handouts stoke the militarization of US police ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น