xs
xsm
sm
md
lg

In Clip : อเมริกาต้านหน้ากากอนามัย “รอง ปธน.สหรัฐฯ” รับไม่คิดต้องสวมเยี่ยมเมโยคลินิก โอไฮโอฮือต้านคำสั่งบังคับใส่มาสก์ ห้างคอสโคชื่อดังโดนบอยคอต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์/mgr ออนไลน์ - วัฒนธรรมแตกต่างที่โลกตะวันตกต้านสวมหน้ากากถึงแม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ จะพุ่งสูงถึง 67,682 คน และติดเชื้อ 1,158,041 คน ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอต้องยกเลิกคำสั่งให้ร้านค้าและผู้บริโภคชาวโอไฮโอสวมหน้ากากระหว่างอยู่ภายในร้านหลังผู้คนออกมาต่อต้านหนัก และล่าสุดหน้ากากอนามัยกลายเป็นประเด็นเผ็ดร้อนในการเมืองสหรัฐฯ หลังรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ ไม่ยอมสวมหน้ากากระหว่างเดินทางไปเยี่ยมโรงพยาบาลเมโยคลินิก และถูกต่อว่าจากเจ้าหน้าที่การแพทย์ทางโทรทัศน์ส่งผลทำให้เพนซ์ต้องออกมาขอโทษ

ABC News สื่อสหรัฐฯ รายงานเมื่อวานนี้ (3 พ.ค.) ว่า ไมค์ ดิไวน์ (Mike DeWine) กล่าวในวันอาทิตย์ (3) ว่า คำสั่งบังคับทั่วทั้งรัฐให้ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาระหว่างอยู่ในร้านนั้น “ไปไกลเกินไป

มันชัดเจนสำหรับผมที่ว่าสะพานนั้นไกลเกินไป ประชาชนไม่ยอมรับคำสั่งที่รัฐบาลบอกให้ทำ” ดิไวน์กล่าวให้สัมภาษณ์กับรายการ “This Week” ของสถานีโทรทัศน์ ABC อเมริกา

ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นใน ซีดาร์วิล (Cedarville) ดิไวน์ชี้ว่า “แสดงให้เห็นว่าคำสั่งนั้นไปไกลเกินไป

ทั้งนี้ ในวันศุกร์ (1) ที่ผ่านมามีผู้ประท้วงหญิงชาวโอไฮโอคนหนึ่งไม่พอใจที่นักข่าวสวมหน้าระหว่างที่นักข่าวกำลังรายงานการประท้วงคำสั่งท ต้องให้อยู่แต่ภายในที่พักที่หน้าโอไฮโอ แคปิตอล หรือบริเวณที่ทำการรัฐสภาประจำรัฐ

เอเดรียนน์ รอบบินส์ (Adrienne Robbins)นักข่าวประจำสถานีโทรทัศน์ NBC4 แสดงความคิดเห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านทางทวิตเตอร์ “ดิฉันขอให้ผู้หญิงคนนี้เคารพในพื้นที่ส่วนตัวของดิฉันหลังจากที่เธอตะโกนและถ่มน้ำลายใส่หน้าดิฉัน”

และเสริมว่า “เธอกล่าวว่าดิฉันไม่มีสิทธิ์ต่อการเว้นระยะห่างทางสังคมและยังคงเดินตามดิฉัน บ่นเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยของดิฉัน(ที่ช่วยปกป้องเธอและคนแวดล้อมดิฉัน)”

ทั้งนี้บรรดาผู้ประท้วงชาวรัฐโอไฮโอรวมตัวประท้วงวันศุกร์(1)หลังจากที่ดิไวน์ในวันก่อนหน้าได้ขยายระยะเวลามาตรการอยู่แต่ในที่พักออกไปจนถึงวันที่ 29 พ.ค แต่ได้ยกเลิกมาตรการบางอย่างเช่นกัน สื่อสหรัฐฯชี้ว่าพบว่ามีผู้ประท้วงบางคนถือปืนระหว่างการประท้วง

โดยหนึ่งในผู้ประท้วงตะโกนว่า “คุณทำให้สาธารณะตกอยู่ในความกลัว”

การออกมาต้านกฎสวมหน้ากากอนามัยยังเกิดขึ้นในห้างคอสโค (Costco) ที่คล้ายกับห้างแวร์เฮาส์สโตร์ “แม็คโคร” ในไทย สื่อบิสิเนสอินไซเดอร์รายงานเมื่อวันศุกร์(1)ว่า ประชาชนชาวอเมริกันจำนนหนึ่งเรียกร้องให้บอยคอตกฎบังคับสวมหน้ากากอนามัยภายในร้าน

ห้างคอสโคถือเป็นร้านค้ายอดนิยมในสหรัฐฯและแคนาดาและเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่สำหรับผู้บริโภค จากภาพถ่ายข่าวการรายงานทางโทรทัศน์ของเบย์แอเรียซานฟรานซิสโกล่าสุดพบว่า ผู้บริโภคยังไม่ยอมสวมหน้ากากอนามัยระหว่างรอต่อแถวเข้าร้านทั้งๆที่สหรัฐฯ มี ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งสูงถึง 67,682 คน และติดเชื้อ 1,158,041 คนล่าสุดมาจนถึงวันนี้ (4)

บิสิเนสอินไซเดอร์รายงานว่า ห้างคอสโคออกนโยบายกำหนดว่าตั้งแต่วันนี้(4) เป็นต้นไปลูกค้าร้านคอสโกต้องสวมหน้ากากระหว่างอยู่ภายในร้าน

และหลังจากที่มีการประกาศออกมาพบว่าบรรดาลูกค้าร้านคอสโคแสดงความไม่พอใจผ่านทางโซเชียลมีเดียจำนวนมาก และมีบางส่วนได้ออกมาให้บอยคอตไม่เข้าซื้อที่ห้างคอสโค

นอกจากนี้ ชาวอเมริกันที่เป็นลูกค้าร้านคอสโคแสดงความเห็นว่า หน้ากากอนามัยไม่ได้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าจะสามารถป้องกันไวรัสโคโรนาได้

ซีอีโอห้างคอสโค เคร็ก เจลิเน็ค (Craig Jelinek) แถลงผ่านเว็บไซต์บริษัทว่า “เรารู้ว่ามีสมาชิกลูกค้าบางส่วนอาจรู้สึกไม่สะดวกหรือคัดค้าน แต่ภายใต้สถานการณ์นี้ทางเราเชื่อว่าการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยนั้นมีค่ามากกว่าความไม่สะดวกสบาย”

ซึ่งหนึ่งในลูกค้าคอสโกที่ได้แสดงความเห็นถึงนโยบายหน้ากากในวันอังคาร(28 เม.ย)ว่า “ลาก่อน#คอสโก! จะไม่ต่ออายุสมาชิกของผม” และเสริมว่า “ผมขอปฎิเสธที่จะใส่หน้ากากเหมือนพวกม็อบไอคิวต่ำที่ทำตามโฆษณาชวนเชื่อ และไม่ต้องพูดถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพจากที่ต้องขาดก๊าซออกซิเจน”

ทั้งนี้ สื่อออสเตรเลีย เดอะคอนเวอร์เซชัน เปรียบเทียบเกี่ยวกับการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคระบาดว่า เปรียบเสมือนกับที่ทุกคนในเวลานี้กำลังสวมผ้าคลุมศีรษะนิกอบ (Niqab)ของหญิงมุสลิม ซึ่งทางสื่ออสเตรเลียชี้ให้เห็นถึงโลกตะวันตกที่ไม่ยอมรับวัฒนธรรมเรื่องผ้าคลุมศรีษะของชาวมุสลิมจากความไม่เห็นด้วยในเรื่องการต้องปิดบังใบหน้าในที่สาธารณะ ทั้งนี้ผ้าคลุมหน้าฮิญาบ(hijab) อ้างอิงจาก slate.com เมื่อวันที่ 10 เม.ย พบว่า มีหมายความว่า “เครื่องกีดขวาง” ตามความหมายหลักศาสนาอิสลาม แต่ตามธรรมเนียมโลกตะวันตก slate.com ชี้ว่า การปกปิดใบหน้าเช่นนี้แสดงให้เห็นถึง “การต่อต้านทางสังคม” ซึ่งคนทั่วไปรู้สึกต่อผู้สวมหน้ากากนั้นทำให้เกิดความกลัวและเกลียดชังต่อผู้สวมได้

การต่อต้านทางสังคมยังเกิดขึ้นกับ คริสตอล จี (Krystal Ji) นักกฎหมายเกิดในจีนทำงานในย่านการเงินเมืองซานฟรานซิสโก ที่เธอเชื่อมั่นว่าการสวมหน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่กลับถูกกระแสทางสังคมกดดันอย่างคาดไม่ถึง เอเชียน นิเคอิ รีวิว สื่อญี่ปุ่นรายงานเมื่อวันที่ 14 มี.ค ว่า จีวัย 26 ปีระหว่างรอลิฟต์ภายในล็อบบี้ของสำนักงานและสวมหน้ากากอยู่นั้นพบว่าเมื่อลิฟต์มาถึง ชายคนหนึ่งที่กำลังรออยู่ด้านหลังเธอตัดสินใจไม่เดินเข้าลิฟต์ไปเมื่อเห็นเธอสวมหน้ากากถึงแม้ว่าจะมีที่ว่างอยู่

“ดิฉันรู้สึกอับอายและรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากเมื่อตัวเองสวมหน้ากากอยู่” จีให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น และกล่าวต่อว่า “ถึงแม้ว่าเจ้านายและเพื่อนร่วมงานไม่เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับการสวมหน้ากากของดิฉัน ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่าการสวมอยู่อาจทำให้ทุกคนอึดอัด”

สิ่งที่เกิดขึ้นกับจีแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของวัฒนธรรมระหว่างเอเชียและโลกตะวันตกที่มองว่า “หน้ากากจะสวมต่อเมื่อป่วยเท่านั้น” พบว่าผู้ที่อาศัยในสหรัฐฯที่มีเชื้อสายเอเชียมีความรู้สึกขัดแย้งว่าจะสวมหน้ากากหรือไม่ หรือหากสวมต้องทำให้ผู้อยู่รอบกายอึดอัด หรือถึงขั้นผู้สวมหน้ากากอาจถูกทำร้ายจากคนที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากการเหยียดทางเชื้อชาติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สี เฉิน(Xi Chen)ด้านนโยบายสาธารณสุขและเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐฯได้ออกแสดงความเห็นว่า นอกเหนือจากที่หน้ากากอนามัยนั้นจำเป็นเฉพาะผู้ป่วยในนิยามโลกตะวันตกแล้ว ยังมีผลในด้านเศรษฐกิจเช่นกัน

เฉินชี้ว่า หากว่าทุกคนในสหรัฐฯจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนมัยทุกวัน ส่งผลทำให้จำเป็นต้องมีหน้ากากอนามัยรองรับไม่ต่ำกว่า 300 ล้านชิ้น ซึ่งในตลาดอเมริกาจำนวนมากเช่นนี้ไม่สามารถกระทำได้

เอเชียน นิกเกอิ รีวิว รายงานว่า กว่า 90% ของอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ในสหรัฐฯนั้นผลิตมาจากต่างประเทศโดยมีจีนเป็นซัปพลายเออร์ใหญ่ที่สุด อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ (Department of Health and Human Services)

ด้านรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ ที่ไม่ยอมสวมหน้ากากอนามัยระหว่างการไปเยี่ยมในวันอังคาร (28 เม.ย.) ที่โรงพยาบาลเมโยคลินิก ที่เมืองโรเชสเตอร์(Rochester) รัฐมินเนโซตา ออกมาขอโทษต่อสาธารณะในวันอาทิตย์ (3) ที่เขาไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยในขณะที่ทุกคนที่อยู่ในที่นั้นสวมและเป็นไปตามกฎของโรงพยาบาล

เพนซ์กล่าวยอมรับในรายการทาวน์ฮอล (Tawn Hall) ของสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์วันอาทิตย์ (3) ว่า “ผมควรสวมหน้ากากอนามัยที่โรงพยาบาลเมโยคลินิก”

และเขายังกล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยว่า ไม่คิดว่าเป็นสิ่งจำเป็น โดยกล่าวว่า “ผมไม่คิดว่ามันจำเป็น แต่ผมควรที่จะสวมที่โรงพยาบาลเมโยคลินิก และผมได้สวมมันระหว่างที่ไปเยือนโรงงานผลิตคเครื่องช่วยหายใจในรัฐอินดิแอนา” สองวันหลังจากนั้น

รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงความเห็นว่า ตัวเขานั้นตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นระยะ และจากหลักการที่หน้ากากป้องกันคนจากการแพร่เชื้อไวรัส ทำให้เพนซ์เชื่อว่าเขาไม่จำเป็นต้องสวม และเขาได้ย้ำความเชื่อนี้อีกครั้งในการให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (3)

อย่างไรก็ตาม CNN สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า การที่เพนซ์ต้องออกมาขอโทษเกิดขึ้นหลังจากที่เขาถูกผู้คนต่อว่าแสดงความคิดเห็นรวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของอเมริกาที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เพนซ์โดยตรงทางทีวี

เจมี กัลลีย์ (Jamie Gulley) ประธานสหภาพ SEIU เฮลท์แคร์ มินเนโซตา(EIU Healthcare Minnesota union) แสดงความเห็นในรายงานของ NBC News เมื่อวันศุกร์ (1) ว่า “เมื่อรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ ไม่สนใจต่อนโยบายความปลอดภัยและปฏิเสธที่จะสวมหน้ากากอนามัย เขาได้ดูถูกการทำงานหนักและความเสียสละของเจ้าหน้าที่การแพทย์ทุกคน ร้ายแรงกว่า เขากำลังทำให้คนเหล่านั้น ผู้ป่วย และครอบครัวของคนทั้งหมดตกในอันตราย”









กำลังโหลดความคิดเห็น