เอเจนซีส์ - ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาทั่วโลกทะลุระดับ 3.5 ล้านคน และเสียชีวิตไปแล้วเกือบ 2.5 แสนคน โดยอเมริกาครองสถิติสูงสุดทั้งสองส่วน กระนั้น ทรัมป์ยังคงประกาศว่าสหรัฐฯ กำลังจะฟื้นตัวอย่างเหลือเชื่อ แถมโวว่าจะมีวัคซีนป้องกันออกมาได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งขัดแย้งกับความคิดเห็นของพวกผู้เชี่ยวชาญ ขณะที่นายกฯญี่ปุ่นยอมประกาศขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปจนถึงสิ้นเดือนนี้
ในช่วงไม่กี่วันมา อเมริกาเหนือ และยุโรป ยังคงเป็นภูมิภาคที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุด อย่างไรก็ตาม หลายประเทศในภูมิภาคอื่น เช่น ละตินอเมริกา แอฟริกา และรัสเซีย เริ่มมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น โดยที่ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า ตัวเลขรวมที่แท้จริงน่าจะสูงกว่าที่รายงานกันมาก เนื่องจากหลายพื้นที่ยังมีการตรวจหาผู้ติดเชื้อกันน้อยมาก ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่นับเฉพาะเคสในโรงพยาบาลเท่านั้น
ยอดรวมผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกตามที่รอยเตอร์รายงานเมื่อวันจันทร์ (4 พ.ค.) คือ 74,779 คน เป็น 3.52 ล้านคนโดยประมาณ และผู้เสียชีวิตรวม 246, 920 คน
ที่อเมริกาซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลกถึง 67,600 คน และมาตรการล็อกดาวน์ทำให้คนตกงานนับสิบล้านคน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่คะแนนนิยมกำลังทรุด ประกาศขณะออกรายการทางฟ็อกซ์ทีวีเมื่อวันอาทิตย์ (3) ว่า จะมีวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาภายในปลายปีนี้ แม้ยอมรับว่ากำหนดดังกล่าวนี้ได้รับคำทักท้วงจากผู้เชี่ยวชาญก็ตาม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นายแพทย์แอนโธนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและที่ปรึกษาด้านการแพทย์ระดับสูงของทำเนียบขาวที่ระบุว่า กว่าจะมีวัคซีนออกมาใช้ได้คงต้องรออย่างน้อย 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง
ทรัมป์ยังคาดการณ์อย่างภาคภูมิใจว่า อเมริกาจะสามารถฟื้นตัวจากโรคระบาดคราวนี้ได้อย่างมหัศจรรย์เหลือเชื่อ
เวลานี้ ถึงแม้หลายรัฐในอเมริกาเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังมีอีกหลายรัฐที่ยังไม่ยอมลดการ์ด ขณะเดียวกัน เกิดการประท้วงต่อต้านมาตรการจำกัดเข้มงวดในหลายๆ เมือง บางพื้นที่ผู้ประท้วงพกอาวุธเข้าชุมนุม
ทางด้านบราซิล ก็มีการประท้วงต่อต้านการล็อกดาวน์และได้รับการสนับสนุนจากจาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีสายประชานิยมที่ดูเบาอันตรายของโควิด-19 มาตลอดเช่นเดียวกัน
ระหว่างการชุมนุมในกรุงบราซิเลีย โบลโซนาโรโจมตีว่า ผู้ว่าการรัฐบางคนทำลายการจ้างงานอย่างไร้ความรับผิดชอบ และผู้ประท้วงเรียกร้องให้กองทัพเข้าแทรกแซง ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในบราซิลทะลุ 100,000 คน และเสียชีวิต 7,000 คน และผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้ 12-15 เท่า เนื่องจากมีการตรวจหาผู้ติดเชื้อน้อยมาก
สำหรับทางด้านเอเชีย สถานการณ์ในหลายพื้นที่เริ่มกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น โรงเรียนในกรุงฮานอยของเวียดนามเปิดการเรียนการสอนอีกครั้งตั้งแต่วันจันทร์ หลังจากไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกัน 2 สัปดาห์
ชาวมาเลเซียเริ่มกลับไปทำงาน ขณะที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์หารือเรื่องการสร้างกลไกที่อนุญาตให้ประชาชนสองประเทศเดินทางไปมาหาสู่กัน
เกาหลีใต้ที่เคยเป็นศูนย์กลางการระบาดรุนแรงที่สุดอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน เผยเมื่อวันอาทิตย์ว่า จะเริ่มผ่อนคลายคำสั่งห้ามการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ตราบที่มีการปฏิบัติตามมาตรการในการฆ่าเชื้อ
ตรงข้ามกับญี่ปุ่นที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ต้องออกมาประกาศต่อเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศออกไปจนถึงสิ้นเดือน
ด้านฟิลิปปินส์ก็ระงับเที่ยวบินเข้า-ออกจากประเทศทั้งหมดเพื่อผ่อนคลายความกดดันในศูนย์กักกันโรคที่แน่นขนัด
ขณะที่รัสเซียกลายเป็นประเทศที่มีการระบาดรุนแรงที่สุดแห่งใหม่ในยุโรป เจ้าหน้าที่ในมอสโกเรียกร้องให้ประชาชนงดออกจากบ้านเพื่อชะลอจำนวนเคสใหม่ที่พุ่งทะยานขึ้นทุกวัน
ในส่วนอื่นๆ ของยุโรป หลายประเทศที่ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ต่างกำหนดให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน รักษาระยะห่างทางสังคม รวมทั้งเร่งเพิ่มการออกตรวจหาผู้ติดเชื้อ
แต่สำหรับอังกฤษ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ที่เข้ารับการรักษาหลังติดโควิด-19 เมื่อเดือนที่แล้ว กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า แม้สถานการณ์การระบาดถึงจุดสูงสุดแล้ว แต่ยังเร็วเกินไปที่จะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
นอกจากนั้น ผู้นำยุโรปยังสนับสนุนแผนการริเริ่มในการระดมทุน 8,300 ล้านดอลลาร์เพื่อรับมือโรคระบาด และระดมทุนเพิ่มสำหรับการพัฒนาวัคซีนต่อต้านโควิด-19