รอยเตอร์ - สำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติให้ กิลเลียด ไซเอนเซส อิงค์ บริษัทเภสัชกรรมยักษ์ใหญ่ สำหรับใช้ “เรมเดซิเวียร์” ยาทดลองต่อต้านไวรัส ในกรณีฉุกเฉิน รักษาคนไข้โควิด-19 จากการเปิดเผยในวันศุกร์ (1 พ.ค.)
ระหว่างพบปะกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว ดาเนียล โอเดย์ ซีอีโอของกิลเลียด เรียกความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ว่า เป็นก้าวย่างแรกที่สำคัญ และบอกว่าทางบริษัทกำลังบริจาคยา 1.5 ล้านขวดสำหรับช่วยรักษาคนไข้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
“เราขอพูดอย่างถ่อมตัวว่านี่เป็นเพียงก้าวย่างแรกที่สำคัญสำหรับคนไข้ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล เราต้องการมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรมาขวางทางคนไข้จากการได้รับยา ดังนั้น เราจึงตัดสินใจบริจาคยาราว 1.5 ล้านขวด”
กิลเลียด ระบุเมื่อวันพุธ (29 เม.ย.) ว่า ยาตัวนี้สามารถช่วยให้คนไข้ที่ติดเชื้อโควิด-19 อาการดีขึ้น และข้อมูลที่พบบ่งชี้ว่ามันจะได้ผลดียิ่งขึ้นหากว่าผู้ป่วยได้รับยาตั้งแต่เนิ่นๆ
ยาเรมเดซิเวียร์ ของ กิลเลียด ไซเอนเซส อิงค์ ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาและวิธีการรักษาใดที่ได้รับการอนุมัติ ขณะที่ยาหลากหลายตัวที่อยู่ภายใต้การศึกษา มีผลการทดลองออกมาผสมผสาน
เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ นายแพทย์ แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นไอเอไอดี) และเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาสำคัญของคณะบริหารทรัมป์ในการรับมือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ยกย่อง “เรมเดซิเวียร์” เป็นยาตัวแรกที่แสดงให้เห็นว่ามีประโยชน์ “อย่างชัดเจน” ในการรักษาโรคปอดบวมโควิด-19 โดยหลังผลการทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่อย่างเข้มงวด พบผู้ป่วยที่ใช้ยานี้สามารถฟื้นตัวหายได้เร็วขึ้นกว่า 30%
สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นไอเอไอดี) ซึ่งกำกับดูแลการทดลองนี้เปิดเผยเมื่อวันพุธ (29 เม.ย.) ว่า ผู้ป่วยที่ใช้ยาเรมเดซิเวียร์ ใช้เวลาในการฟื้นจากการวยเฉลี่ยแล้ว 11 วัน เปรียบเทียบกับ 15 วันสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก เท่ากับหายเร็วขึ้นกว่า 31%
“ถึงแม้ระยะเวลาที่กระเตื้องขึ้นมา 31% ยังไม่ใช่ดูเหมือนเป็นการน็อกเอาต์โรคอย่าง 100% เต็ม แต่มันก็เป็นข้อพิสูจน์ที่สำคัญมาก เพราะมันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มียาที่สามารถสกัดกั้นไวรัสนี้ได้” นายแพทย์ แอนโธนี เฟาซี กล่าวกับพวกผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว
นอกจากนั้น ผลการทดลองนี้ยังบ่งชี้ว่า ผู้ใช้ยานี้มีแนวโน้มเสียชีวิตน้อยลง แม้จะไม่มากนักก็ตาม กล่าวคือ อัตราการเสียชีวิตสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์อยู่ที่ 8% เทียบกับ 11.6% สำหรับกลุ่มที่ได้ยาหลอก
การทดลองนี้เริ่มต้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง 1,063 คน ใน 63 สถานที่ในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย
ทั้งผู้ป่วยและแพทย์ต่างไม่รู้ว่า ตนอยู่ในกลุ่มที่ได้รับยาจริงหรือยาหลอกเพื่อไม่ให้เกิดอคติโดยไม่รู้ตัว
ก่อนหน้านี้ มีรายงานสรุปผลการทดลองโพสต์บนเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และ “แลนสิท” วารสารการแพทย์ชื่อดังของอังกฤษได้ตีพิมพ์ผลการทดลองอย่างเป็นทางการในวันพุธ (29) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การทดลองใช้ยาเรมเดซิเวียร์ ที่ทำกันในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่มีจำนวนตัวอย่างคนไข้น้อยกว่าคือ 237 คน พบว่ามันไม่ได้ให้ผลบวกใดๆ ยกเว้นในรายคนไข้ซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
แต่การทดลองในจีนต้องหยุดชะงักไปก่อนกำหนด เพราะหาตัวอย่างผู้ป่วยได้ไม่เพียงพอ รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมองว่าขนาดการทดลองเล็กเกินกว่าที่จะเชื่อถือได้
อย่างไรก็ตาม แม้ได้รับการชื่นชมยินดีจากนักวิจัยจำนวนมาก แต่ยังมีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญหลายราย อาทิ สตีเฟน อีแวนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติการแพทย์ของลอนดอน สกูล ออฟ ไฮยีน แอนด์ ทรอปิคัล เมดิซิน ว่า ผลการทดลองนี้เป็นเพียงหลักฐานชิ้นแรกว่า ยาเรมเดซิเวียร์มีประโยชน์อย่างแท้จริง แต่ไม่ถือว่า มีประสิทธิภาพโดดเด่นอย่างชัดเจน
ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯบอกว่า ยา 1.5 ล้านขวด จะเริ่มแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ตั้งแต่วันจันทร์ (4 พ.ค.) เป็นต้นไป