xs
xsm
sm
md
lg

‘เรมเดซิเวียร์’ ยาตัวแรกที่ผ่านทดลองเข้มมีผลรักษาโควิดชัดเจน ‘หมอใหญ่ทำเนียบขาว’ เชียร์แต่ก็ยอมรับว่ายังเป็นก้าวแรกที่ไม่สมบูรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น.พ.แอนโธนี เฟาซี สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐฯ พูดกับผู้สื่อข่าวระหว่างเข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับผู้ว่าการรัฐลุยเซียนา จอห์น เบล เอดเวิร์ดส์ เรื่องการตอบโต้ไวรัสโคโรนา ในห้องทำงานรูปไข่ ของทำเนียบขาว เมื่อวันพุธ (29 เม.ย.)
เอเจนซีส์ – หมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาชั้นนำและที่ปรึกษาทำเนียบขาว ระบุยกย่อง “เรมเดซิเวียร์” เป็นยาตัวแรกที่แสดงให้เห็นว่ามีประโยชน์ “อย่างชัดเจน” ในการรักษาโรคปอดบวมโควิด-19 ทั้งนี้หลังผลการทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่อย่างเข้มงวด พบผู้ป่วยที่ใช้ยานี้สามารถฟื้นตัวหายได้เร็วขึ้นกว่า 30%

ผลศึกษานี้แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่า มียาซึ่งมีผลลัพธ์ที่ดีในการรักษาโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 220,000 คนทั่วโลก

สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นไอเอไอดี) ซึ่งกำกับดูแลการทดลองนี้เปิดเผยเมื่อวันพุธ (29 เม.ย.) ว่า ผู้ป่วยที่ใช้ยาเรมเดซิเวียร์ที่ผลิตโดย กีลเลียด ไซเอนเซส บริษัทยาชั้นนำของสหรัฐฯ ใช้เวลาในการฟื้นจากการวยเฉลี่ยแล้ว 11 วัน เปรียบเทียบกับ 15 วันสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก เท่ากับหายเร็วขึ้นกว่า 31%

นายแพทย์แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการเอ็นไอเอไอดีและเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาสำคัญของคณะบริหารทรัมป์ในการรับมือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ กล่าวว่า ข้อมูลนี้ชี้ว่า เรมเดซิเวียร์ส่งผลดีอย่างชัดเจนในการลดระยะเวลาฟื้นตัวหายจากโรค

“ถึงแม้ระยะเวลาที่กระเตื้องขึ้นมา 31% ยังไม่ใช่ดูเหมือนเป็นการน็อกเอาต์โรคอย่าง 100% เต็ม แต่มันก็เป็นข้อพิสูจน์ที่สำคัญมาก เพราะมันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มียาที่สามารถสกัดกั้นไวรัสนี้ได้” เขากล่าวกับพวกผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว

นอกจากนั้น ผลการทดลองนี้ยังบ่งชี้ว่า ผู้ใช้ยานี้มีแนวโน้มเสียชีวิตน้อยลง แม้จะไม่มากนักก็ตาม กล่าวคืออัตราการเสียชีวิตสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์อยู่ที่ 8% เทียบกับ 11.6% สำหรับกลุ่มที่ได้ยาหลอก

การทดลองนี้เริ่มต้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง 1,063 คน ใน 63 สถานที่ในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย

ทั้งผู้ป่วยและแพทย์ต่างไม่รู้ว่า ตนอยู่ในกลุ่มที่ได้รับยาจริงหรือยาหลอกเพื่อไม่ให้เกิดอคติโดยไม่รู้ตัว

ปีเตอร์ ฮอร์บี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษที่ไม่เกี่ยวข้องในการศึกษานี้ กล่าวว่า ยังจำเป็นต้องรอผลการศึกษาฉบับเต็ม แต่หากได้รับการยืนยัน จะถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่งในการต่อสู้กับโควิด-19

ขณะที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศสนับสนุนการอนุญาตให้ใช้ยานี้เป็นกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้แพทย์นำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง

ด้าน แดเนียล โอเดย์ ซีอีโอ ของกีลเลียด ไซเอนเซส ที่เป็นผู้ผลิตเรมเดซิเวียร์ เผยว่า จะบริจาคยา 1.5 ล้านโดสที่มีในสต็อก เพียงพอสำหรับรักษาผู้ป่วย 140,000 คน หลังจากนั้นจะนำออกจำหน่ายในราคาที่ “ซื้อได้”

ขวดยาฉีด “เรมเดซีเวียร์” ที่ถ่ายภาพไว้ระหว่างการแถลงข่าวในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2020 ขณะเริ่มต้นนำยาตัวนี้มาทดลองรักษาคนไข้โรคโควิด-19
เรมเดซิเวียร์ที่ก่อนหน้านี้เคยประสบความล้มเหลวในการทดลองเพื่อรักษาโรคอีโบลา เป็นกลุ่มยาที่ต่อต้านไวรัสโดยตรง โดยเลียนแบบการทำงานของ 1 ใน 4 หน่วยย่อยของอาร์เอ็นเอและดีเอ็นเอ และดูดซึมเข้าสู่จีโนมของไวรัสเพื่อตัดวงจรกระบวนการจำลองตัวเอง

เฟาซียังระบุว่า แนวทางนี้อาจปูทางให้บริษัทอื่นๆ นำไปพัฒนายาต้านโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ได้รับการชื่นชมยินดีจากนักวิจัยจำนวนมาก แต่ยังมีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญหลายราย อาทิ สตีเฟน อีแวนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติการแพทย์ของลอนดอน สกูล ออฟ ไฮยีน แอนด์ ทรอปิคัล เมดิซิน ว่า ผลการทดลองนี้เป็นเพียงหลักฐานชิ้นแรกว่า ยาเรมเดซิเวียร์มีประโยชน์อย่างแท้จริง แต่ไม่ถือว่า มีประสิทธิภาพโดดเด่นอย่างชัดเจน

เช่นเดียวกับนายแพทย์ลอว์เรนซ์ เค. อัลต์แมน จากเดอะ วิลสัน เซ็นเตอร์ในวอชิงตัน ที่บอกว่า แม้ข่าวนี้น่าตื่นเต้น แต่ ยังจำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์โดยเปรียบเทียบกับผลการศึกษาของสถาบันอื่นๆ ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่มีทั้งบวกและลบ

กระนั้น สำหรับบาแบ็ก จาวิด นักวิจัยหลักซึ่งทำงานอยู่กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหวาในปักกิ่ง มองว่า ข้อมูลเหล่านี้เป็นข่าวดี โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่า ยังไม่มีวิธีรักษาโควิด-19 ที่ได้รับการพิสูจน์ยืนยัน และดังนั้น นี่จึงอาจนำไปสู่การเร่งรัดอนุมัติการใช้เรมเดซิเวียร์

ก่อนหน้านี้ มีรายงานสรุปผลการทดลองโพสต์บนเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และ “แลนสิท” วารสารการแพทย์ชื่อดังของอังกฤษได้ตีพิมพ์ผลการทดลองอย่างเป็นทางการในวันพุธ (29) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จากการทดลองใช้ยาเรมเดซิเวียร์ ที่ทำกันในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่มีจำนวนตัวอย่างคนไข้น้อยกว่าคือ 237 คน พบว่ามันไม่ได้ให้ผลบวกใดๆ ยกเว้นในรายคนไข้ซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

แต่การทดลองในจีนต้องหยุดชะงักไปก่อนกำหนด เพราะหาตัวอย่างผู้ป่วยได้ไม่เพียงพอ รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมองว่าขนาดการทดลองเล็กเกินกว่าที่จะเชื่อถือได้

เฟาซีก็ย้ำว่า การศึกษาที่อู่ฮั่นนั้นยังมีจุดอ่อนที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม

ระหว่างแถลงข่าวที่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว เฟาซีเปรียบเทียบการศึกษาทดลองคราวนี้ กับการศึกษาที่ทำให้ค้นพบ “เอแซดที” ยาชนิดแรกซึ่งแสดงว่ามีผลลัพธ์ทางบวกใดๆ ในการต่อสู้กับไวรัสเอชไอวี/โรคเอดส์ เมื่อหลายสิบปีก่อน

“เราทราบว่านั่นเป็นยาทึ่ไม่สมบูรณ์ มันเป็นก้าวเดินก้าวแรก” เฟาซีกล่าวในการให้สัมภาษณ์

“ทำนองเดียวกับเอแซดที มัน (เรมเดซิเวียร์) เป็นก้าวเดินเด็กทารกก้าวแรกในการมุ่งสู่สิ่งซึ่งวาดหวังกันว่าจะเป็นยาจำนวนหนึ่งที่ดีขึ้นกว่านี้ ซึ่งจะออกมาและสามารถใช้รักษาผู้คนที่ป่วยด้วยโควิด-19”


กำลังโหลดความคิดเห็น