xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังทุนจีนซื้อมหาวิทยาลัยไทย 'บัวแก้ว' ชี้อันตรายหากไล่ซื้ออีก10 แห่ง!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชี้กลุ่มทุนจีนใช้โอกาสและจังหวะที่นโยบายจีนส่งเสริมให้'คนจีน'มีที่เรียนกันทุกคน เข้าซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนไทย อีกทั้งยังส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐ เรียนต่อปริญญาโท ในไทย ใครจบสามารถใช้ยื่นปรับ'เงินเดือน-ตำแหน่งได้' วงในกระทรวงบัวแก้ว ระบุ ม.รังสิต มองการณ์ไกล ซื้อตัวอาจารย์ม.ปักกิ่ง มาเปิดหลักสูตรจีนในไทย สร้างความเชื่อมั่นให้นักศึกษาจีนอยากมาเรียน ติงหากรัฐบาลไม่รีบดำเนินการปล่อยให้จีนทุ่มซื้อมหาวิทยาลัยไทยอีกนับ10 แห่งจะเป็นอันตรายมาก เผยต่างชาติซื้อมหาวิทยาลัยในจีนไม่มีสิทธิ์เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องระดับชาติ!

จากกรณีที่กลุ่มทุนจีนเข้ามาซื้อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนของไทยนั้น ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า อว.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการวางแผนรับมือกับเรื่องดังกล่าว โดยได้ร่วมกันตั้งคณะทำงานเฝ้าระวังฯ ซึ่งมีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ อว. กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กรมที่ดิน สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ฯลฯ เป็นคณะทำงาน

อีกทั้งได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงปัญหาดังกล่าวให้กระทรวงพาณิชย์ต้องไปพิจารณาการถือหุ้นแบบนอมินี ว่ามีกฎหมายอะไรควบคุมอยู่ รวมทั้งการออกวีซ่า นักเรียน นักศึกษา ของกระทรวงต่างประเทศ ต้องมีความชัดเจน เหมือนสหรัฐอเมริกา (J1 visa) และกำหนดระยะเวลาที่อยู่ในไทยให้เหมาะสม

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ขณะเดียวกันสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ต้องเข้มงวดการตรวจคนเข้าเมือง และตำรวจต้องกวดขันเรื่องการตรวจและรายงานผลกรณีพบนักศึกษาต่างชาติที่ลักลอบไปทำงาน เป็นต้น

โดยในเบื้องต้นรัฐมนตรี อว.ยังได้กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เข้าไปกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานการจัดการศึกษาของสถาบันเหล่านั้นและต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง อว.พร้อมจะเป็นเจ้าภาพเชิญประชุมเพื่อประสานให้เป็นไปตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

แหล่งข่าวจากกระทรวง อว. บอกว่า เรื่องนี้รัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะนโยบายของรัฐบาลจีนในปัจจุบันต้องการให้คนจีนมีที่เรียนหนังสือกันทุกคน แต่เมื่อประเทศจีนไม่สามารถมีสถาบันการศึกษาไว้รองรับเพียงพอ ก็จำเป็นต้องแสวงหาแหล่งการศึกษาจากต่างประเทศไว้รองรับซึ่งนโยบายดังกล่าว ทำให้กลุ่มทุนจีนเล็งเห็นโอกาสในธุรกิจการศึกษาเพราะในแต่ละปีมีนักศึกษาถึงปีละเกือบ 5 ล้านคนไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในจีนได้ ทำให้นักศึกษาจำนวนมากต้องออกไปเรียนปริญญาตรียังต่างประเทศ และประเทศไทยก็เป็นเป้าหมายที่สำคัญทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าจะไปเรียนในอเมริกาหรือยุโรป

“ที่จีนถ้าจบมหาวิทยาลัยดัง ๆ ก็ถูกจัดเป็นพวกหัวกะทิ เช่นมหาวิทยาลัยปักกิ่ง Peking University 北京大学 , มหาวิทยาลัยชิงหวา Tsinghua University 清华大学, มหาวิทยาลัยฟู้ต้าน Fudan University 复旦大学 เป็นต้น”


สิ่งสำคัญที่คนจีนคิดในการไปเรียนในต่างประเทศก็คือจะเลือกเรียนที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและจะได้ประโยชน์จากการไปเรียนในต่างประเทศกลับมาแล้วทำอะไร ได้บ้าง ดังนั้นจะเห็นว่าสาขาที่คนจีนเลือกเรียนจะเกี่ยวข้องกับการค้า การบริหาร โลจิสติกส์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายone belt one road ของจีน

ไม่เพียงเท่านั้นนโยบายของจีนยังส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐบินไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่ประเทศไทย หรือไปเรียนคอร์สที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เมื่อเรียนจบก็จะสามารถใช้วุฒิการศึกษาไปปรับอัตราเงินเดือนและปรับตำแหน่งได้ ซึ่ง 2 มหาวิทยาลัยที่เจ้าหน้าที่จีนนิยมมาเรียนก็คือ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต และมหาวิทยาลัยเกริก

“สอบเข้าปริญญาโท ที่จีนเข้ายากมาก แข่งขันก็สูง ไม่ได้ต่างจากปริญญาตรี พวกนี้ก็จะมาเรียนในไทย ส่วนที่มองว่าคนไทยก็ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่จีน หากเรียนหลักสูตรภาษาจีน ก็จะรู้ว่าเกณฑ์การตัดสินคนต่างชาติที่ไปเรียนในจีนจะมีวิธีให้คะแนนต่างกับคนจีนโดยตรง ซึ่งถ้าเป็นคนจีนจะเข้มงวดมากกว่า”

จากนโยบายของจีนในเรื่องการศึกษาและตัวเลขของนักศึกษาจีนที่ต้องการเรียนต่อทั้งในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท มีเป็นจำนวนมากจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มทุนจีนเลือกที่จะซื้อกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนของประเทศไทยไว้รองรับความต้องการของคนเหล่านั้น 


ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงต่างประเทศ ระบุว่า โอกาสของตลาดการศึกษาจีนในประเทศไทยนั้น ต้องยอมรับว่า ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เจ้าของมหาวิทยาลัยรังสิต และดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยารังสิต มองการณ์ไกลรู้ว่าจะมีนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนในไทยและจะสร้างจุดแข็งให้ม.รังสิตอย่างไร เพราะคนจีนที่จะมาเรียนในไทย พูดอังกฤษก็ไม่ได้ พูดไทยก็ไม่ได้ จึงเลือกที่จะดึงอาจารย์คนจีนจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง หลายคน เข้ามาเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน โดยใช้ภาษาจีนใน ม.รังสิต

“พูดกันตรง ๆ ก็คือ ดร.อาทิตย์ ซื้อตัวอาจารย์จากม.ปักกิ่ง มาเลย ให้เงินเดือนสูงมากๆ ช่วงนั้นเจ้าหน้าที่จีน และอาจารย์คนจีน จะมีการพูดถึงเรื่องนี้กันตลอด เพราะอาจารย์เด่น ๆ ก็เลือกที่จะมาที่ม.รังสิต เป็นการสร้างความเชื่อถือได้อย่างดี นักศึกษาที่สอบเข้าที่มหาวิทยาลัยในจีนไม่ได้ ก็เลือกที่จะไปเรียนที่นี่ เพราะรู้ว่าเป็นอาจารย์จากม.ปักกิ่ง และใช้ภาษาจีน เป็นหลัก ใครอยากเรียนด้วยภาษาอังกฤษที่นี่ก็มีให้เลือก”

ขณะที่เจ้าหน้าที่จากม.รังสิต กล่าวว่า ปัจจุบันม.รังสิต มีคณะที่คนจีนนิยมไปเรียน และมีการสอนเป็นภาษาจีนคือวิทยาลัยนานาชาติจีน และคณะศิลปศาสตร์ ซึ่งมีอาจารย์ชาวจีนที่เป็นอาจารย์ประจำ5 คน ส่วนจำนวนนักศึกษาชาวจีนในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ประมาณ 300 กว่าคน ซึ่งนักศึกษาจีนที่จะเข้ามาเรียนได้จะต้องผ่านการคัดเลือกและมีเอกสารครบถ้วนตามระเบียบของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นในเรื่องของคุณภาพการศึกษาเช่นกัน

“ส่วนอาจารย์จากม.ปักกิ่ง ในปีการศึกษานี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องรายละเอียดของวิชาต่าง ๆ จึงยังไม่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงกัน แต่ในปีการศึกษาที่ผ่านมาที่นี่ก็มีอาจารย์จากปักกิ่ง”

วิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยรังสิต




 แหล่งข่าวจากกระทรวงต่างประเทศ บอกอีกว่า วิธีการของม.รังสิต แม้จะเป็นทางเลือกที่ดี แต่บางมหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินการได้ ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ของจำนวนนักเรียน รายได้ที่ลดลง จึงเลือกที่จะขายกิจการให้กับกลุ่มทุนจีน ซึ่งกระทรวงต่างประเทศก็มีความเป็นห่วง เพราะเราไม่สามารถรู้เลยว่าเขามีวิธีการเรียนการสอนอย่างไร หลักสูตร เป็นอย่างไร กระทรวง อว.ต้องเข้าไปติดตามอย่างละเอียด

“การซื้อมหาวิทยาลัยในไทย ดูง่ายใช้นอมินี เข้าสวม แต่ถ้าเรื่องนี้ไปเกิดที่จีนจะเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะมหาวิทยาลัยของจีน จะมีคณะกรรมการของพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ด้วย การจะซื้อขายมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องใหญ่และเป็นนโยบายระดับชาติ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในการซื้อมหาวิทยาลัยในไทย จะเป็นเรื่องที่อันตรายมากในอนาคต”

แหล่งข่าว ย้ำว่า กรณีนี้ต้องมองกันทุกมิติ เมื่อเป็นหลักสูตรของจีน จะรู้หรือไม่ว่ามีการเรียนการสอนอะไรบ้าง สุดท้ายเงินที่ได้จากการส่งนักศึกษามาเรียนในไทย หรือซื้อกิจการมหาวิทยาลัยในไทยก็จะไม่ได้เข้าไทย แต่กลับจะซ้ำเติมประเทศไทย เพราะอาจารย์ที่เป็นคนไทยจะน้อยลง จะมีแต่อาจารย์คนจีน นักศึกษาจีนเต็มไปหมด ดังนั้นหน่วยงานรัฐที่เกียวข้องควรเข้าไปดูแล หลักสูตรต่าง ๆ หรือสัดส่วนของอาจารย์มีเท่าไหร่ ต้องควบคุมให้ชัดเจน


ส่วนที่กระทรวง อว. บอกว่ามีทุนจีนเข้ามาถือหุ้นในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนของไทย ประมาณ 2-3 แห่งเท่านั้น อาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะเวลานี้มีการพูดคุยกันในส่วนของนักธุรกิจจีนบอกว่ายังมีการติดต่อเจรจาซื้อขายกันอีกนับ 10 แห่ง ซึ่งถ้าเป็นเรื่องจริงถือว่าอันตรายกับประเทศไทยมาก

“อาจารย์ก็จะตกงาน แต่ธุรกิจที่จะได้ก็คือบรรดาคอนโด หอพัก ก็ต้องไปดูกันว่าเขาซื้อกันอย่างไรกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดิน มีนอมินีถือกันสัดส่วน อย่างไร เพราะจีนมีเงินจึงอาจต้องการซื้อไว้ครอบครองส่วนงานของตรวจค้นเข้าเมือง วีซ่าก็จะเพิ่มขึ้น ถามว่าใครได้ประโยชน์จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องใส่ใจ ”

ที่สำคัญสุดจะต้องมองมิติการเข้ามาของจีนด้วยว่า เข้ามาแบบร่วมมือ เป็นหุ้นส่วน หรืออย่างไร แต่หลักการใหญ่คือผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติไทยเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศก็พร้อมให้ความร่วมมือในเรื่องนี้!



กำลังโหลดความคิดเห็น