xs
xsm
sm
md
lg

เรียน 'วิศวะระบบราง' แบบไหนไม่ตกงาน ชี้วิศวะพื้นฐาน 'Reskill-Upskill' ยึดตลาด!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตา 'บัณฑิต' ด้านวิศวกรรมระบบราง ที่หลายสถาบันการศึกษากำลังเปิดสอนในระดับปริญญาตรี จะสามารถผลิตบัณฑิตตรงความต้องการของตลาดแรงงานได้จริงหรือไม่? ด้าน ประธานวิศวกรรมระบบราง วสท.ชี้ วิศวกรพื้นฐาน โยธา เครื่องกล ไฟฟ้า อุตสาหการ ได้เปรียบ Reskill-Upskill เข้ายึดงานได้มากกว่าบัณฑิตจบใหม่ด้านระบบราง แจงตลาดแรงงานกำลังขาดแคลนช่างเทคนิคทุกสาขาเข้าสู่งานรถไฟ ส่วน ม.รังสิต สร้างจุดแข็งเทคโนโลยีระบบราง ด้วยการร่วมมือ 'จีน-ญี่ปุ่น” ส่งนักศึกษาฝึกงานสัมผัสของจริง และปั้นหลักสูตรที่ไม่เน้น 'กว.' แต่เน้นเรียนรู้การบำรุงรักษาระบบ ที่ตอบสนองได้ตรงจุด

รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกำลังเข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านกายภาพและวิถีชีวิตของสังคมไทย ซึ่งรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นรถไฟฟ้าสายแรกดำเนินการโดยระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด ต่อมามีโครงการรถไฟฟ้ามหานคร หรือ MRT ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าที่มีทั้งบนดินและใต้ดิน และที่กำลังจะเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวมถึงการเตรียมแผนพัฒนาระบบรางในจังหวัดใหญ่ๆ เช่นภูเก็ต ขอนแก่น โคราช เชียงใหม่ เป็นต้น

อีกทั้งมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ และยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สายตะวันออกเฉียงเหนือ กทม.-โคราช-หนองคาย และตามแผนจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ กทม.-เชียงใหม่ โครงการรถไฟความเร็วสูงสายใต้ กทม.-หัวหิน-ปาดังเบซาร์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อมโยงตลาดการค้า ระหว่างกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง เพราะไทยถือเป็นศูนย์กลางของอินโดจีน รวมแล้วเป็นระยะทางในระบบรางกว่า 7,000 กิโลเมตร


นี่คือแผนพัฒนาประเทศที่สำคัญที่จะต้องมีการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญด้านระบบรางไว้รองรับ ดังนั้นสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จึงได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยมีการเปิดหลักสูตรด้านวิศวกรรมระบบรางและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อผลิตบัณฑิตใหม่ตามที่ตลาดแรงงานต้องการ

ดังนั้นนักศึกษาที่กำลังจะก้าวสูรั้วมหาวิทยาลัย หากต้องการเข้าสู่การประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับระบบรางควรจะเลือกเรียนอย่างไรที่จะทำให้ไม่ตกงาน และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง

ผศ.ดร รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ประธานวิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) บอกว่า ปัจจุบันสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนที่มีหลักสูตรระบบรางได้มีการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เพราะในความเป็นจริง การเกิดขึ้นของโครงการรถไฟฟ้านั้นต้องมองความสำคัญของแต่ละช่วงการพัฒนาโครงการว่าตรงไหนต้องการคนประเภทใด จึงจะรู้ว่าบัณฑิตจะเลือกเรียนให้เข้ากับสายงานอย่างไร และคู่แข่งในตลาดแรงงานเป็นคนกลุ่มไหน

โดยในชั้นแรกจะเป็นเรื่องของการก่อสร้าง (Construction) ซึ่งเป็นงานด้านวิศวกรรมโยธาและโครงสร้างทางวิ่ง (Civil และTrack Works) ซึ่งตรงนี้คนที่จะเข้ามาทำได้ต้องเป็นกลุ่มคนที่เรียนวิศวกรรมโยธา (Civil Engineering)ที่มีใบ กว. และเมื่อการสร้างรางเสร็จสิ้น วิศวกรโยธาก็จะหมดหน้าที่เช่นกัน ยกเว้นว่าจะมีโครงการพัฒนาเมืองรอบๆ สถานี วิศวกรโยธาก็จะเข้าไปมีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง

ผศ.ดร รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ประธานวิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
จากนั้นจะเป็นเรื่องของวิศวกรระบบรถไฟฟ้า(Rolling Stock Engineer) ก็จะมีวิศวกรเครื่องกล วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรอุตสาหการ เข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนงานด้านอาณัติสัญญาณ (Signaling System) ก็จะมีวิศวกรไฟฟ้า วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรคอมพิวเตอร์ เข้าไปเกี่ยวข้อง

“วิศวกรที่เกี่ยวข้องที่จะเข้าสู่งานระบบรางได้ ยังคงเป็นวิศวกรพื้นฐาน คือคนที่เรียนปริญญาตรี โยธา เครื่องกล ไฟฟ้า ซึ่งมีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (กว.) และมีวิศวะอุตสาหการ อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เข้ามาเกี่ยวด้วย ส่วนสถาบันที่เปิดหลักสูตรวิศวะระบบราง ก็ต้องดูว่าเน้นสอนอะไร”

ในเรื่องของการซ่อมบำรุง (Maintenance) ที่จะเกี่ยวข้องกับวิศวกรก็คือ การวางแผนซ่อมบำรุง บริหารจัดการอะไหล่ในการซ่อมบำรุง และถ้ามีโรงงานอะไหล่ ก็ต้องมีวิศวกรอยู่ในสายงานการผลิต

ส่วนงานด้านระบบการดำเนินงาน O&M (Operation Management) เป็นเรื่องของการจัดการบุคลากร การปรับปรุงการให้บริการ การส่งเสริมสิ่งอำนวยความสะดวก คือเป็นการบริหารสถานี พนักงานขับรถ พนักงานออกตั๋ว เป็นต้น


ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาต่างๆ เล็งเห็นความสำคัญหลักสูตรระบบราง ควรจะต้องไปอยู่ในสาขาใดสาขาหนึ่งที่ตลาดแรงงานต้องการ หรือถ้านักศึกษาใหม่ที่ต้องการจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในระบบราง ก็น่าจะเลือกเรียนในสาขาพื้นฐาน แล้วไปเลือกวิชาโทหรือเลือกเสรีที่เกี่ยวข้องกับระบบราง เช่น เลือกเรียนวิศวะโยธาและมีวิชาเลือกที่เกี่ยวข้องกับ Track Engineer หรือเรียนวิศวะเครื่องกล แล้วไปเลือกวิชาที่เกี่ยวข้อง Rolling Stock หรือเรียนวิศวะไฟฟ้าแล้วไปเลือกเรียนอาณัติสัญญาณ (Signaling) ก็น่าจะตรงตามความต้องการของตลาดมากกว่า

“บ้านเรามีวิศวกรเกือบ 2 แสนคน ส่วนใหญ่จบวิศวะพื้นฐาน พวกนี้จะได้เปรียบกว่าเด็กใหม่ที่จบวิศวะขนส่งระบบรางตรงๆ ซึ่งจะขยับเข้าสู่งานด้านระบบรางได้ง่าย วสท.ก็พยายามจัดหลักสูตรเพื่อให้วิศวกรได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งหลักสูตร Reskill ให้มีความรู้ระบบราง และUpskill ให้รู้เทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูงให้กับวิศวกร”

โดย วสท.ได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรางทั้งในประเทศ เช่น ผู้เชี่ยวชาญจากบีทีเอสมาสอน และถ้าด้านไหนผู้เชี่ยวชาญในไทยไม่มี วสท.ก็จะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาให้ความรู้เพื่อให้วิศวกรที่มีอยู่เข้าสู่ตลาดระบบรางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“สิ่งที่รัฐหรือผู้เกี่ยวข้องจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้น คือทำอย่างไรถึงจะเกิดอุตสาหกรรมผลิตอะไหล่ได้ เพราะหากทุกอย่างต้องสั่งจากต่างประเทศ จะมีทั้งเรื่องต้นทุนและความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น แค่นอตตัวเดียว ยังต้องรอสั่งจากยุโรป เยอรมนี จีน หากจะใช้วิธีสต๊อกอะไหล่ไว้เยอะๆ ก็มีปัญหาต้นทุน สต๊อกน้อยหรือไม่สต๊อกเลย ก็มีปัญหาการเดินรถ เหมือนที่แอร์พอร์ตลิงก์เคยประสบมาแล้ว”




ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ระบุว่า สายงานด้านระบบรางที่ตลาดแรงงานขาดแคลนและต้องการมากที่สุด คือช่างเทคนิค ทั้งช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า, ช่างอิเล็กทรอนิกส์, ช่างสำรวจ,ช่างยนต์,ช่างกลโรงงาน ช่างโยธา พวกนี้จะเป็นตัวจักรสำคัญในการทำงาน และเมื่อช่างเทคนิคไปตรวจสอบพบปัญหาแล้ว ทางวิศวกรก็จะต้องตอบและหาแนวทางแก้ไขได้

“วันนี้บรรดาวิทยาลัยเทคนิคต่างๆ รู้และเข้าใจ และมีหลายสถาบันพยายามทำหลักสูตร ตอนนี้ เริ่มรู้ และมีหลายสถาบันพยายามทำหลักสูตรออกมามี Certify (รับรอง) คนที่จบด้านนี้ และอย่าง ม.รังสิต ก็มีหลักสูตรระบบรางที่มีจุดแข็งที่น่าสนใจ”

ด้าน รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ รุจิระยรรยง คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่าจากแผนพัฒนาประเทศทั้งเรื่องการลดต้นทุนการขนส่ง และการขนส่งคนในกรุงเทพฯ ที่รัฐผลักดันให้เกิดรถไฟความเร็วสูง และรถไฟขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ รวมทั้งในหัวเมืองใหญ่ จึงต้องการกำลังคน ทำให้ ม.รังสิต พิจารณาในการเปิดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับระบบราง โดยในช่วงของการก่อสร้าง ก็ต้องการวิศวกรโยธา วิศวกรเครื่องกล แต่พอเข้าสู่ขั้นการใช้งานจริง จะถึงช่วงของการซ่อมบำรุงและการดำเนินงานจริง ก็ต้องใช้คนอีกเป็นจำนวนมาก

“ระบบราง จะเป็นศาสตร์บูรณาการ เป็นสหสาขาที่เราต้องมองภาพรวมๆ ที่คนสามกลุ่มเกี่ยวข้อง ระบบรางจะเป็นเรื่องโยธา งานของตัวรถวิ่งไปมา การจ่ายไฟก็เป็นเรื่องเครื่องกล ระบบไฟฟ้า และมีเรื่องอาณัติสัญญาณเข้ามาเกี่ยวข้องกับการวิ่ง ให้หยุดตรงไหนก็มีเรื่องไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ มาเกี่ยวข้อง ส่วนเด็กที่เรียนระบบวิศวกรรมพื้นฐานปัจจุบัน สามารถประยุกต์กับงานระบบรางได้”

 รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ รุจิระยรรยง คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ขณะที่หลักสูตรของ ม.รังสิต จะเน้นที่ตัวรถ เพื่อให้บัณฑิตของเราอยู่ในหมวดงานซ่อมบำรุง หมวดอาณัติสัญญาณ ที่เน้นไปยังเรื่องของการใช้งาน การบำรุงรักษา ที่ต้องการคนดูแลในระยะยาว ซึ่งจะออกไปในทางไฟฟ้าและเครื่องกล เพื่อให้รู้ว่าส่วนของรถและระบบขับเคลื่อน ระบบไฟฟ้าภายในรถเป็นอย่างไร และเมื่อจบไปแล้วก็ไปต่อยอดในระหว่างการปฏิบัติงานจริง

“ต้องเข้าใจเด็กที่เลือกเรียนที่ ม.รังสิต เราไม่ได้เน้นใบ กว. แต่เน้นให้เด็กเข้าใจโครงสร้างของรถ การบำรุงรักษาระบบวงจรไฟฟ้าด้านใน เมื่อถึงปี 3 เทอม 2 หรือปี 4 เทอม 1 เราก็ให้เด็กTrain เป็นเวลา 1 เทอมคือ 4 เดือน ที่จีนที่วิทยาลัยเทคนิค เกี่ยวกับรถไฟที่หูหนาน และบางคนก็ไป Train ที่ญี่ปุ่น”

คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า ม.รังสิต ใช้ชื่อสาขาเทคโนโลยีระบบราง อยู่ในวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งหลักสูตรนั้นเราพยายามหาวิธีการที่ดีที่สุดที่จะให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากของจริงด้วยการร่วมมือกับจีนและญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศไทยใช้เทคโนโลยีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงจากทั้งสองประเทศ จึงเชื่อว่าการส่งเด็กไปสัมผัสของจริงและคุ้นเคยของจริง รวมทั้งจะได้ภาษากลับมาด้วย และทำให้เด็กเรียนรู้ทักษะในการเอาชีวิตรอด ซึ่งการไปฝึกงานต่างประเทศ ก็จะได้มาเต็มๆ จึงน่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะที่สุด    ส่วนในประเทศไทยก็จะไปดูงานทั้งของบีทีเอส และแอร์พอร์ตลิงก์

ตรงนี้คือจุดแข็งของหลักสูตรเทคโนโลยีระบบรางของ ม.รังสิต

วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์  ม.รังสิต  ได้ร่วมมือกับจีนและญี่ปุ่นโดยส่งนักศึกษาไปเรียนรู้งาน  เนื่องจากประเทศไทยใช้เทคโนโลยีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงจากทั้งสองประเทศ
สำหรับความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย Nihon University ประเทศญี่ปุ่น, National Traffic Safety and Environment Laboratory ประเทศญี่ปุ่น, บริษัท Kyosan Electric Manufacturing ประเทศญี่ปุ่น

ส่วนความร่วมมือกับประเทศจีน ประกอบด้วย Hunan Railway Professional Technical College ประเทศจีน Kunming Railway Vocational Technical College ประเทศจีน และ Central South University ซึ่งถือเป็นระดับท็อปด้านรถไฟฟ้าของประเทศจีน
ปัจจุบันมีสถาบันที่เปิดหลักสูตรวิศวกรรมระบบราง ระดับปริญญาตรีหลายแห่ง เช่นที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ม.รังสิต เป็นต้น ส่วนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดล จะเปิดระบบรางในระดับปริญญาโท



กำลังโหลดความคิดเห็น