xs
xsm
sm
md
lg

อว.ทุ่ม 9,100 ล้านบาท สร้างงานบัณฑิตใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุวิทย์” มั่นใจผลงานก้าวแรก อว. มุ่งพัฒนารากฐานประเทศแข็งแกร่ง นำไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ชู 5 ประเด็นหลัก ปฏิรูปสังคมไทยไม่หยุดเรียนรู้ อัดงบ 9,100 ล้านบาท ผุดโครงการยุวชนสร้างชาติ สร้างอาชีพให้บัณฑิตใหม่ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ผนึกไมโครซอฟท์-หัวเว่ย และ 11 บริษัทระดับประเทศ พัฒนาหลักสูตรตอบโจทย์ธุรกิจ ยกเครื่องมหาวิทยาลัย ปลดล็อกทุกข้อจำกัด พลิกโฉมสู่ท็อป 100 ของโลก รุกปฏิรูปงานวิจัยหลังดันงบวิจัยขึ้นเป็น 1.1% ต่อ GDP ชี้ต้องตอบโจทย์ประเทศ เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สร้าง GDP ประเทศจาก 3.4 ล้านล้าน เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาหลังจากได้รับตำแหน่ง รัฐมนตรีกระทรวง อว. เป็นคนแรก และถือเป็นกระทรวงน้องใหม่ที่เพิ่มเริ่มก่อตั้งได้แค่เพียง 3 เดือนเท่านั้น โดยมีพันธกิจสำคัญในการมุ่งเน้นในการวางรากฐานประเทศไทยให้แข็งแกร่ง เพื่อนำประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้ 3 ภารกิจสำคัญ ได้แก่ การสร้างและพัฒนาคน, การวิจัยเพื่อสร้างความรู้, การสร้างและการพัฒนานวัตกรรม

ดร.สุวิทย์ระบุว่า ผลงานที่ได้ดำเนินการแล้วครอบคลุม 5 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.ปฏิรูปสังคมไทยไม่หยุดเรียนรู้ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ โดยพันธกิจของ อว. ไม่ใช่แค่การผลิตบัณฑิตอย่างเดียวแต่ต้องครอบคลุมทุกช่วงวัย (Life Long Learning) เพราะโลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเปลี่ยน พัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้ตอบโจทย์ธุรกิจ แก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน แต่บัณฑิตที่จบมากลับไม่มีงานทำ พัฒนาทักษะการทำงานเดิม (Re-skill Up-skill) สำหรับกลุ่มคนทำงาน จำนวน 38 ล้านคน ที่ได้ผลกระทบจากกระแสดิสรับชัน (Disruption) เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยน มีบางส่วนที่อาจตกงาน ด้วยการจับมือ 11 บริษัทยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยและบริษัทระดับโลกอย่าง บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดการฝึกอบรมพัฒนาเพิ่มทักษะตัวเอง และบริษัท หัวเหว่ย สร้างกลุ่มสตาร์ทอัพร่วมกับมหาวิทยาลัย พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ จำนวนกว่า 11 ล้านคน

นอกจากนี้ อว. ยังได้ทุ่มงบประมาณกว่า 9,100 ล้านบาท จัดทำโครงการยุวชนสร้างชาติ เป็นโครงการที่จะเปิดโอกาสให้ นักศึกษานำความรู้ความสามารถออกไปช่วยพัฒนาชุมชน สร้างประสบการณ์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่กันทั้ง 2 ฝ่าย แก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ก่อให้เกิดอาชีพใหม่ โดยกุญแจสําคัญในการขับเคลื่อนประเทศ คือ ยุวชนวัยหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย และ บัณฑิตจบใหม่ แบ่งออกเป็น 3 โครงการ แบ่งออกเป็น 3 โครงการหลัก ประกอบด้วย

กองทุนยุวสตาร์ทอัพ จัดตั้งกองทุนเริ่มต้นมูลค่า 600 ล้านบาท แบ่งเป็น อว. 100 ล้านบาท ออมสินสบทบเพิ่ม 500 ล้านบาท ในปี 2563 โดยนักศึกษาร่วมกับบุคลากร มหาวิทยาลัย พัฒนาผลิตภัณฑ์และต่อยอดองค์ความรู้ให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจ นวัตกรรมสังคม และนวัตกรรมสร้างสรรค์ ระยะเวลา: 3-5 ปี

โครงการอาสาประชารัฐ งบประมาณ 500 ล้านบาท ให้นักศึกษาจำนวนกว่า 10,000 คน ที่เรียนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์แบ่งกลุ่มละ 8-10 คน ใช้เวลา 1 ภาคเรียน พักอาศัยในชุมชน เรียนรู้ จัดโครงการพัฒนาชุมชนร่วมกับชาวบ้าน โดยจะ kick off ที่จังหวัดกาฬสินธุ์

โครงการบัณฑิตอาสา งบประมาณ 8,000 ล้านบาท สร้างอาชีพให้บัณฑิตจบใหม่ จำนวนกว่า 50,000 คน ลงไปพัฒนาพื้นที่ในชุมชน ร่วมกับชาวบ้านเพื่อพัฒนาชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ และช่วยเหลือบัณฑิตที่ตกงาน โดยกลุ่มเป้าหมาย บัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี ระยะเวลา 12 เดือน ภายในไตรมาส 1 ปี 2563

พร้อมเตรียมจัดงานแฟร์ที่รวบรวมอาชีพเด่น มุ่งสร้างอาชีพให้คนไทยทุกกลุ่ม ตั้งแต่ บัณฑิต คนทำงานและคนสูงอายุกว่าหมื่นอาชีพผ่านการจัดงานกิจกรรม อีกทั้งยังรวบรวมหลักสูตรต่างๆที่จะพัฒนาทักษะ ทั้ง Up-skill และ Re-skill ตอบโจทย์อุตสาหกรรมและธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะจัดขึ้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์

2. สานพลังเอกชน ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ อว.จับมือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดทำนวัตกรรมชุมชนลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้ โครงการ "1 ไร่ 1 ล้านบาท" สร้างรายได้ เพิ่ม 10 เท่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงปลานิลหนาแน่นระบบปิด จากที่เลี้ยงในบ่อดินขนาด 1 ไร่ จํานวนปลาประมาณ 900 ตัว อัตราการรอดชีวิต 70-80% จะเพิ่มเป็น 6.4 หมื่นตัว ต่อไร่อัตราการรอด ชีวิตสูงกว่า 90% เพื่อขยายฐานการ ส่งออก และตั้งเป้าการส่งออกเป็น 8.4 พันล้านบาทในปี 2565 จากยอดการส่งออกปลานิล ในปัจจุบัน 5 พันล้านบาท และจะต่อยอดสู่หลักหมื่นล้านบาทให้ได้ในอนาคต เริ่มดำเนินการได้ภายในสิ้นปี 2562 เป้าหมายยกระดับเกษตรกร 1 หมื่นราย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5 แสนไร่

3.ปฏิรูปงานวิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นว่าการวิจัยต้องตอบโจทย์ประเทศ เอกชน และชุมชน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำจนเป็นเบี้ยหัวแตก ลดงานวิจัยขึ้นหิ้ง ผลักดันงบวิจัยเพิ่มขึ้นเป็น 1.1% ต่อ GDP และจะเพิ่มขึ้นไปต่อเนื่อง โดยภายใน 5 ปี ควรขยับจาก 1.1% เป็น 1.5% ต่อ GDP หรือ 280,000 ล้านบาท จากเดิมมีสัดส่วนเพียง 0.48% ต่อ GDP เท่านั้น และจะเพิ่มขึ้นไปต่อเนื่อง มุ่งเน้นว่าการวิจัยต้องตอบโจทย์ประเทศ โจทย์เอกชน โจทย์จากชุมชน โดยแบ่งงานเป็น 4 ส่วน คือ 1) การพัฒนาคน (Brain power และ Man power) 2) การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 3) การลดความเหลื่อมล้ำพัฒนาพื้นที่ ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก และ 4)การวิจัยตอบโจทย์ท้าทายสังคม เช่น ปัญหาขยะ ภาวะโลกร้อน

4. ปลดล็อกมหาวิทยาลัย พลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทยเข้าสู่ 100 อันดับแรกของโลก โดยผลงานสำคัญคือ การยกเครื่องมหาวิทยาลัยอันเป็นการวางรากฐานในระดับอุดมศึกษาของไทย ด้วยการเดินหน้าปลดล็อกข้อจำกัดของมหาวิทยาลัย ให้ตอบโจทย์ประเทศในอนาคต ด้วยการทบทวนกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) และปรับวิธีขอตำแหน่งวิชาการให้เหมาะสม พร้อมทั้งแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมหาวิทยาลัยที่สร้างองค์ความรู้ระดับโลก 2. มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยี ที่เน้นพัฒนาเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และนวัตกรรม และ 3. มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นตอบโจทย์พื้นที่ในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น

5. BCG in action สร้าง GDP ประเทศจาก 3.4 ล้านล้าน เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี การขับเคลื่อน BCG ระยะเร่งด่วนใน 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเกษตรและอาหาร : มุ่งสู่การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารจากการผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย ไปสู่การผลิตสินค้าที่เป็นพรีเมี่ยมที่ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้สูง รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าเกษตรเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพิ่ม GDP ของภาคเกษตรได้สูงขึ้นเป็น 1.7 ล้านล้านบาท ใน 5 ปี ในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่า GDP จาก 0.6 ล้านล้านบาท เป็น 0.9 ล้านล้านบาท ใน 5 ปี

ด้านสุขภาพและการแพทย์ : มุ่งเน้นการสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ ทางด้านการผลิตยาและชีวเภสัชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์และวัสดุฝังในร่างกาย ปรับเปลี่ยนรูปแบบการรักษาไปสู่การแพทย์แม่นยำ การเป็นศูนย์กลางการให้บริการด้านสุขภาพและการวิจัยด้านคลินิกชั้นนำของโลก เป้าหมายเพิ่ม GDP จาก 4 หมื่นล้านบาท เป็น 9 หมื่นล้านบาท ใน 5 ปี ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของการผลิตอาหารมีคุณภาพ ความปลอดภัย รวมถึงสุขภาพและการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำจากการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ราคาสูงอย่างน้อย 300,000 คน/ปี ภายใน 5 ปี

ด้านพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ : มุ่งเน้นการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานและการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เคมีและวัสดุชีวภาพมูลค่าสูง ด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ : การท่องเที่ยวเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักของประเทศด้วยมูลค่า GDP ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นมุ่งพัฒนาสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนด้วยการใช้จุดแข็งของพื้นที่มาสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง ควบคู่กับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงในการรองรับนักท่องเที่ยวและป้องกันปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เน้นการค้นหารากเหง้าทางวัฒนธรรม และเนื้อหาอัตลักษณ์เชิงพื้นที่มาต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น






กำลังโหลดความคิดเห็น