สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดตัวแคมเปญไทยสกิล (Thai Skill) เฟสแรกดึง 20 กูรูสร้างวิดีโอสอนทักษะให้คนไทยสร้างรายได้และอาชีพในยุคดิจิทัล เป้าหมายคือบรรลุยุทธศาสตร์ด้านพัฒนาคนไทย 30 ล้านคนให้เป็นพลเมืองดิจิทัล ระบุงานนี้ไม่ต้องใช้งบสูงเพราะอัดฉีดเพียงรางวัลเพื่อต่อยอดการพัฒนาคอนเทนต์ราว 100,000 บาท ท่ามกลางงบประมาณ 1,290 ล้านบาทที่ได้รับการพิจารณาสำหรับปี 63 ด้านผอ.ดีป้าเผยการโพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงข้อกล่าวหา “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เพื่อไม่ให้ทุกคนเข้าใจผิด เบื้องต้นได้พบและพูดคุยกับหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่แล้วในสภา
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวในงานเปิดตัวแคมเปญไทยสกิล ว่าปีนี้ดีป้าได้ดำเนินการของบประมาณสำหรับปี 2563 ไป 6-7 พันล้านบาท แต่ได้รับการพิจารณา 1,290 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ จากปี 62 ที่ได้รับพิจารณา 1,200 ล้าน การเพิ่มขึ้น 90 ล้านบาทนี้ ผอ. มองว่าไม่สูงเนื่องจากสามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยและเศรษฐกิจโดยรวมได้
“งบประมาณส่วนนี้จะถูกจัดสรรไปสู่โครงการขยายพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง ขณะที่อีกส่วนจะใช้ไปกับการจัดงาน World Expo เบ็ดเสร็จจะเหลืองบประมาณ 200 กว่าล้านบาท ทำให้ดีป้าเลือกเน้นการทำงานกับภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการลงทุนเพิ่ม วันนี้ที่ EEC มีการลงทุนเพิ่มหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือธุรกิจ Cloud และ AI Lab แต่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาบุคลากร เนื่องจากบริษัทใหญ่ไม่สนใจสิทธิพิเศษด้านภาษีแล้ว เพราะสามารถรับสิทธิ์ได้มากกว่าจากประเทศอื่น ซึ่งหากการลงทุนในประเทศไทยไม่ได้รับ return ที่ดีและไม่มีบุคลากร บริษัทใหญ่ก็จะไปลงทุนในประเทศอื่น”
แนวทางการพัฒนาคนไทยโดยร่วมมือกับเอกชนนี้เห็นชัดใน “ไทยสกิล” แคมเปญใหม่ล่าสุดซึ่งดีป้าวางเป้าหมายสร้างพลเมืองดิจิทัล 30 ล้านรายในประเทศไทย นอกจากกลุ่มเยาวชนอนาคตของชาติ ดีป้าวางเป้าให้ประชาชนไทยกลุ่มใหญ่สามารถปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง สามารถเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม
ไทยสกิลปักหลักยูทูบและเฟซบุ๊ก
ดีป้าใช้วิธีร่วมมือกับเหล่าครีเอเตอร์ทั้งบนยูทูบและเฟซบุ๊ก ในการแบ่งปันคอนเทนต์ความรู้กับโครงการนี้ กลุ่มเป้าหมายของโครงการจะครอบคลุมถึงประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเกษตรกรและอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอันดับต้นๆ เชื่อว่าจะสามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำการขาดโอกาสในการศึกษาและการพัฒนาตนเองของประชาชน ในยุคของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิตอลเป็นพื้นฐานสำคัญ
เพื่อโปรโมทแคมเปญ ดีป้าเปิดให้คนไทยสามารถอัปโหลดคลิปวีดีโอลงในโซเชียลมีเดียของตัวเองทั้ง Facebook หรือ YouTube โดยใส่แฮชแท็ก #ThaiSkill ซึ่งจะมีการคัดเลือกและมอบรางวัลเป็นทุนการต่อยอดการพัฒนาคอนเทนต์มูลค่า 1 แสนบาท โดยจะมีการเปิด workshop พิเศษเรื่องเทคนิคการสร้างสรรค์คอนเทนต์ต่อไป เชื่อว่าแคมเปญนี้จะส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ ผ่าน YouTube playlist บน YouTube channel ของโครงการ
“โครงการนี้จะเป็นช่องทางให้อินฟลูเอนเซอร์ในเมืองไทย ร่วมเป็นสื่อให้คนไทยมีช่องทางการเรียนรู้เพื่อฝึกทักษะ ในยุคที่โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนไป รัฐจะไปเทรนนิ่งฝ่ายเดียวนั้นไม่ได้ เราจึงคิดที่จะใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่มี follower อยู่แล้ว ความเชื่อมั่นในตัวครีเอเตอร์จะทำให้เกิดการส่งต่อความรู้ได้ดี ส่งให้การไดร์ฟประเทศทำได้จริง”
ผอ.ดีป้าระบุว่า โครงการนี้เกิดขึ้นผ่านการทำงานกับภาคเอกชน ซึ่งดีป้าสนับสนุนเพียงเงินรางวัล 1 แสนบาท และ influencer ผู้มีอิทธิพลที่สร้างวิดีโอสอนทักษะจะสามารถหารายได้เองบนแพลตฟอร์ม โดยในเฟส 2 ดีป้ายังไม่ประเมินว่าจะเพิ่มจำนวน influencer จากที่มีอยู่ราว 20 รายในเฟสแรกเป็นเท่าใด แต่ระบุว่าจะเน้นพัฒนาที่เนื้อหาซึ่งสามารถพัฒนาอาชีพในอนาคตได้
การแบ่งปันความรู้ผ่านช่องไทยสกิล แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือองค์ความรู้เพื่อการประกอบอาชีพที่สามารถนำไปปฏิบัติและสร้างอาชีพได้ง่าย ได้แก่ เกษตรกรรมและคหกรรม ประเภทที่ 2 คือทักษะสนับสนุนการประกอบอาชีพที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันที เช่น ทักษะดิจิทัล ภาษา และบัญชี โดยทั้ง 2 ประเภทจะเป็นจุดเริ่มต้นของคอนเทนต์ที่คาดว่าจะช่วยพัฒนาทักษะคนไทย
นายชัชวาลย์ วัฒนะโชติ เจ้าของช่อง KIM Property Live ซึ่งมีผู้ติดตามบน YouTube และ Facebook ราว 5 แสนคน ให้สัมภาษณ์ว่าไม่ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมจากโครงการนี้ เนื่องจากดำเนินการสร้างคอนเทนต์อยู่แล้ว สำหรับโครงการนี้มีการชวนเครือข่ายเพื่อนให้มาทำร่วมกัน เบื้องต้นมีการทําคอนเทนต์พิเศษเพื่อโครงการนี้แล้วโดยเผยแพร่ในช่องทางของตัวเองคู่กันไป
“ผมมองเป้าหมายเพื่อแชร์ความรู้ โครงการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นช้าเกินไป การเริ่มต้นโครงการนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เกิดการตื่นตัวให้ทุกคนลุกขึ้นมาแชร์ความรู้ บางคนอาจมองว่าแชร์แล้วทำให้มีคู่แข่งเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามัวแต่กลัวการแข่งขันก็อาจจะทำให้ประเทศไทยไม่มีทางแข่งขันได้เลย”
เร่งพัฒนาคนไทย
นอกจากการพัฒนาคนไทยกลุ่มใหญ่ของประเทศ ดีป้ายังเน้นแผนสนับสนุนการพัฒนานักศึกษาไทยเพื่อตอบโจทย์การลงทุนของบริษัทใหญ่ในอนาคต ตัวอย่างที่ชัดเจนคือแผนการสร้าง AI Academy ซึ่งมีเอกชนร่วมสนับสนุนโดยไม่เน้นการฝึกอบรม แต่จะทำให้เกิดการร่วมมือมอบทุนการศึกษากับกลุ่มนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยปีที่ 2 และ 3 เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในปีที่ 4
“ดีป้ามีการเจรจามากกว่า 10 บริษัทแล้ว ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ซึ่งกำลังต้องการบุคลากรด้านคลาวด์ โครงการนี้จะทำให้เด็กไทยมีงานทำตั้งแต่ปี 2-3 แต่ต้องเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย ผมว่าถ้าทำได้ก็จะลดความเสี่ยงที่ฐานการผลิตจะย้ายจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจกับประเทศไทย“
ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลสามารถนำไปเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมากกว่า 2 เท่า แต่ ผอ. ดีป้ามองว่าสิทธิพิเศษเรื่องภาษีนั้นไม่เพียงพอที่จะมัดใจบริษัทใหญ่ เบื้องต้นดีป้ามีแผนเจรจากับบริษัทไมโครซอฟท์ที่สหรัฐอเมริกาช่วงต้นปี 63 ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อตกลงเรื่องการสร้าง AI Lab ในประเทศไทย
การเสริมสร้างบุคลากรไทยนั้นเป็น 1 ใน 4 ทิศทางที่ดีป้าจะให้ความสำคัญในปีหน้า โดย 3 ทิศทางที่เหลือคือการทำงานให้คล่องตัวบนแพลตฟอร์มดิจิตอลเพื่อไดร์ฟสังคมไทย, การสร้างการตื่นตัวเรื่องซีเคียวริตี้เพื่อพัฒนาความปลอดภัยสำหรับข้อมูลบนระบบ AI ซึ่งจะเริ่มขึ้นอย่างจริงจังในปีหน้า และการสร้างมาตรฐานทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าสามารถซื้อสินค้าเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ
“เราจะเริ่มที่สินค้าฮาร์ดแวร์ก่อนจะขยายไปซอฟต์แวร์ อาจจะทำเป็นมาตรฐานตามสมัครใจในชื่อที่เข้าใจง่าย เช่น เบอร์ 5, ซูเปอร์ดาว หรือ depa mark อันนี้ยังต้องสรุปอีกที”
สำหรับกรณีที่ ผอ. ดีป้าโพสต์ Facebook ชี้แจงเรื่องงบประมาณในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผอ. ให้ความเห็นว่าเป็นโพสต์ชี้แจงความถูกต้องเท่านั้น เบื้องต้นได้มีการพบและพูดคุยกับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” แล้ว ทั้งคู่ไม่มีปัญหาบาดหมางใจ และการโพสต์นี้ต้องการให้ทุกคนทราบความจริง และอย่าเข้าใจผิดเท่านั้น.