กูเกิล เดินหน้าสานต่อโครงการ ‘Google for Thaliand’ ในการช่วยให้คนไทยทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในโลกดิจิทัล (Leave no Thai Behind) ภายใต้ 4 ภารกิจหลัก คือการสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี ร่วมพัฒนาทักษะดิจิทัลให้คนไทย เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ และสนับสนุนให้ SMEs ใช้เทคโนโลยีมาช่วย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณกูเกิล ที่ได้ให้สัญญา และทำตามสัญญาในการช่วยผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพราะเราเชื่อว่าเทคโนโลยีมาเร็ว ถ้าไม่ปรับตัวไปสู่ดิจิทัลเทคโนโลยีจะตามคนอื่นไม่ทัน ถ้าเป็นไปได้จึงอยากปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ดิจิทัล
ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องการให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นของคนไทยในทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะในภาคธุรกิจบิสสิเนสโมเดลในยุคดิจิทัลจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เนื่องจากดิจิทัลทำให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อย จากคนธรรมดาที่รู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์
ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้มองเฉพาะในแง่ของการส่งเสริมธุรกิจ แต่มองไปถึงการใช้ชีวิตขจองคนไทยทุกคน โดยเฉพาะเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างของการกระจายรายได้ เพราะคนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้
“ก่อนหน้านี้ผมอยากเห็นกูเกิลมาช่วยประเทศไทย มาพัฒนาทางด้านดิจิทัล การศึกษา สาธรณสุข การแนะนำแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมา กูเกิล ทำได้จริงตามที่สัญญาไว้ พร้อมกับเปิด Google for Thailand ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงเทคโนโลยี”
ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีการลงทุนอินเทอร์เน็ตในระดับหมู่บ้าน แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนไปยังเรื่องของการให้ความรู้ จนถึงการให้บริการสาธรณสุขได้ แต่กูเกิลเข้ามาช่วยเสริมในจุดนี้ หลังจากนี้ อยากให้กูเกิลพิจารณาการลงทุน รวมถึงการตั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquater) ในประเทศไทย ไม่ใช่สิงคโปร์ หรือเวียดนาม เพราะไทยถือเป็นศูนย์กลางของ CLMV อยู่กึ่งกลางของอาเซียน
สเตฟานี่ เดวิส กรรมการผู้จัดการ กูเกิล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่างถึงโครงการ Google for Thaliand ในปีนี้ว่า จะเดินหน้าสานต่อภารกิจทั้ง 4 ด้าน ประกอบไปด้วย 1.การสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี 2.การส่งเสริมทักษะดิจิทัล 3.การพัฒนาเนื้อหาและผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน และ 4.การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ในรอบปีที่ผ่านมา กูเกิลได้มีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้ผู้ใช้งานในไทย สามารถใช้เทคโนโลยีได้สะดวกขึ้น อย่างใน Google Maps มีการนำระบบ AR เข้ามาช่วยในการทำงาน Google Lens ที่สามารถค้นหาข้อมูลจากภาษาไทยได้ จนถึงการเปิดให้บริการ YouTube Music และ YouTube Premium ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ส่วนของการสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี เริ่มจากการทำให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และบริการต่างๆ บนโลกออนไลน์ได้ ด้วยการเข้าไปร่วมมือกับทาง กสท โทรคมนาคม ให้บริการ Google Station ที่ขยายพื้นที่ให้บริการต่อเนื่องครอบคลุมกว่า 100 สถานที่ทั่วประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมามีจำนวนผู้เข้าใช้งานมากกว่า 2 ล้านคน และใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 2 ชั่วโมง
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ กูเกิล ได้มีการเปิดเผยมูลค่าเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีไปใช้งาน ด้วยการร่วมทำวิจัยร่วมกับทางเทมาเส็ก ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเติบโตคิดเป็นมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านบาท ภายในปี 2568
ไมค์ จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด กูเกิล ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ในการส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้วยการนำโครงการระดับโลก “Grow with Google” ผ่าน 2 แอปพลิเคชันใหม่ที่จะเข้ามาพัฒนาทักษะดิจิทัลของคนไทย คือ “Primer” ที่จะเป็นบทเรียนสำหรับการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางธุรกิจและการตลาดดิจิทัล ตามด้วย “Skillshop” แพลตฟอร์มอีเลิร์นนิงเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของกูเกิล
นอกจากนี้ยังได้ประกาศเปิดตัวโครงการ “Be Internet Awesome” ที่ออกแบบมาเพื่อให้ความรู้กับเด็กๆ เกี่ยวกับการท่องโลกออนไลน์อย่างมั่นใจและปลอดภัย ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้เปิดตัวโครงการ Be Internet Awesome ในภาษาของตัวเอง
***ขยายงานวิจัยการคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาด้วย AI
นอกจากนี้ ในแง่ของสาธารณสุข กูเกิล ได้ประกาศขยายงานวิจัยในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ในการคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy) โดยปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานกว่า 4.5 ล้านราย ในขณะที่ทั้งประเทศมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตาที่ตรวจโรคนี้ได้เพียง 1,500 คน
โดยเริ่มงานวิจัยในเดือนธันวาคมปี 2018 ร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถี สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นพันธมิตรของบริษัทฯ ได้ขยายงานวิจัยในคลินิกเพิ่มขึ้นจาก 1 แห่งเป็น 8 แห่ง ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี และเชียงใหม่
***เพิ่ม Google Arts & Culture เรื่องที่ 5 ในไทย
ก่อนหน้านี้ กูเกิล ได้เปิดให้บริการ Google Arts & Culture ในการนำเสนอเรื่องราวของนิทรรศการวังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา 4 เรื่อง ภายในงานนี้ได้มีการประกาศเพิ่มเรื่องราวที่ 5 คือ “Hidden Fruits” โดยกูเกิล ได้ทำงานร่วมกับกรมศิลปากรอย่างใกล้ชิด ภายใต้การสนับสนุนจากท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน
ด้วยการนำกล้อง Art Camera บันทึกภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ให้เป็นไฟล์ภาพที่มีความละเอียดสูง ทำให้คนไทยสามารถชื่นชมรายละเอียดที่สวยงามและสลับซับซ้อนของภาพจิตรกรรมอันล้ำค่านี้ได้อย่างเต็มตาผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์
***หนุน 1 ล้านผู้ประกอบการลงทะเบียน Google My Business ภายในปี 2020
ในส่วนของการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs กูเกิล ได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการธงฟ้าประชารัฐ และสมาชิกเว็บไซต์ Thaitrade.com สามารถลงทะเบียน และยืนยันบัญชี Google My Business ได้ทันที เพื่อผลักดันให้ 1 ล้านธุรกิจไทยสามารถค้นหาได้ผ่านช่องทางออนไลน์ในปี 2020
นอกจากนี้ กูเกิล ยังได้ประกาศขยายความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีลงทะเบียนใช้งาน Google My Business ผ่านแอปพลิเคชัน SCB Easy ได้ตั้งแต่สิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป โดยที่ผ่านมาจากการร่วมมือกับทางไทยพาณิชย์ ได้เพิ่มจำนวนธุรกิจที่ลงทะเบียนออนไลน์ไปแล้วกว่า 1.5 แสนราย