xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเริ่มนำ AI คัดกรองเบาหวานขึ้นจอประสาทตาแล้ว นำร่องที่ปทุมธานี และเชียงใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นพ. ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข
ไทยประกาศความร่วมมือกูเกิลอย่างเป็นทางการ ในการนำ AI มาช่วยตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาจากภาพถ่ายจอประสาทตา ที่ทางกูเกิล ร่วมกับ รพ.ราชวิถี ภายใต้สังกัดกรมการแพทย์ ในการทำวิจัย และเริ่มนำมาใช้งานแล้วที่โรงพยาบาลในจังหวัดปทุมธานี และเชียงใหม่ ก่อนที่จะขยายเพิ่มต่อไปในอนาคต

โดยที่ผ่านมา กูเกิลเคยประกาศถึงความสำเร็จในการนำ AI มาใช้เพื่อคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตามาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ภายในงาน Google IO 2018 ก่อนที่ในงาน Google AI ที่ประเทศจีน ที่ได้เปิดเผยว่า ร่วมงานกับกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ในการทำวิจัยดังกล่าว

ล่าสุด ภายในงาน “APAC AI for Social Good Summit” กูเกิล ได้ร่วมกับ รพ.ราชวิถี ในการเปิดเผยผลการทดสอบการนำ AI มาใช้ในการตรวจภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (diabetic retinopathy) ที่พบว่ามีความแม่นยำถึง 97% เมื่อเทียบกับการให้ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัย จะอยู่ที่ราว 74%

นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานกว่า 5 ล้านราย ทุกรายมีความเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น โดยโรคดังกล่าวสามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจคัดกรองเป็นประจำ ซึ่งจากผลการศึกษาย้อนหลังจากฐานข้อมูลผู้ป่วย 7,500 ราย รวมถึงข้อมูลภาพถ่ายจอประสาทตารวมแล้วกว่า 13,000 ภาพ มาใช้ในการตรวจคัดกรองแบบเดียวกัน

พบว่า แบบจำลอง AI ตรวจจับภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกฝน และรวดเร็วกว่าถึง 95% เมื่อเทียบกับการให้เจ้าหน้าที่ช่วยคัดกรอง จึงได้เริ่มนำระบบ AI มาใช้ เพื่อคัดกรองเบื้องต้นแล้วในจังหวัดปทุมธานี และจะขยายไปที่เชียงใหม่ ในต้นปีหน้า

“ถ้าผลตอบรับจากการนำ AI มาช่วยในการคัดกรองออกมาดี ก็จะเริ่มขยายการใช้งานไปสู่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป พร้อมไปกับการทดสอบระบบคลาวด์ ที่ใช้ในการประมวลผลว่าสามารถรองรับการใช้งานได้มากแค่ไหน”

แต่เดิมในการคัดกรองภาวะเบาหวานจากจอประสาทตาจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญจากแพทย์ที่มีความรู้เกี่ยวกับจักษุที่ปัจจุบันมีอยู่ในไทยราว 1,400 ราย และมีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเพียง 200 ราย เกี่ยวกับการคัดกรองเบาหวานขึ้นตา และส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ

การนำ AI มาใช้ จึงช่วยให้การตรวจคัดกรองทำได้รวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกัน การฝึกเทคนิคการแพทย์ในการตรวจคัดกรองสามารถเพิ่มจำนวนได้เร็วกว่าการเพิ่มจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้โอกาสที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นจากภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้มากขึ้นด้วย
ลิลลี่ เพง หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ วิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์ กูเกิล
ลิลลี่ เพง หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ วิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์ ด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้งาน ย้ำถึงประเด็นที่กูเกิล เลือกประเทศไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศร่วมกับอินเดีย คือ ทั้ง 2 ประเทศมีการเก็บข้อมูลการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานเป็นสิทธิพื้นฐานของคนไทยในการใช้สวัสดิการ 30 บาทรักษาทุกโรค สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นหนึ่งในเกณฑ์ชี้วัดดัชนีสุขภาพคนไทยของกระทรวงสาธารณสุข


กำลังโหลดความคิดเห็น