xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ Google อยากให้ AI ช่วยเหลือทุกคนในการใช้ชีวิต (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ซุนดาร์ พิชัย ซีอีโอ กูเกิล ในงานประชุมนักพัฒนาประจำปีของกูเกิล (Google IO 2018) ที่มีนักพัฒนาเข้าร่วมกว่า 7 พันคน ที่สหรัฐอเมริกา
ทิศทางที่กูเกิล (Google) เน้นการสื่อสารเรื่องเทคโนโลยี AI ให้บรรดาเหล่านักพัฒนากว่า 7,000 คน ที่เข้าร่วมงานใหญ่ประจำปีของกูเกิล (Google IO 2018) ตอกย้ำถึงแนวทางที่จะเกิดขึ้น และแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในการนำข้อมูลมาประมวลผลซึ่งเป็นสิ่งที่กูเกิลถนัดมากที่สุด

สิ่งที่คาดการณ์ต่อเนื่องไปได้ คือการนำ AI มาใช้ของกูเกิลจะไม่หยุดอยู่แค่ใช้เพื่อพัฒนาบริการที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่จะเป็นประตูไปสู่การนำ AI ไปใช้กับทุกๆสิ่ง ทั้งที่เป็นสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ IoT ทั้งหลายที่กำลังทยอยออกสู่ตลาด และที่สำคัญคือในไทยผู้ให้บริการเครือข่ายอย่าง AIS และ True ก็นำแพลตฟอร์ม IoT มาให้เข้าถึงกันแล้วด้วย

ซุนดาร์ พิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กูเกิล ระบุชัดเจนว่า เทคโนโลยีที่ดี สามารถช่วย และส่งเสริมการใช้ชีวิตของคนทั่วโลกหลายพันล้านคนได้ เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถนำมาช่วยได้อย่างไร
ที่ผ่านมากูเกิลเจอคำถามมากมายเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งกูเกิลระมัดระวังในทุกๆก้าวที่จะไป และแสดงให้เห็นว่าการนำข้อมูลที่เหมาะสมไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ทำได้อย่างไร

จนกระทั่งพบว่า เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการช่วยจัดระเบียบข้อมูล และแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้ดีที่สุดคือการนำ AI มาใช้งาน จึงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องที่จะนำเสนอบริการที่เกิดขึ้น ด้วยการนำ AI มาใช้ในการพัฒนาเพื่อให้ตอบสนองการใช้งานของผู้คนมากที่สุด

โดยเฉพาะการนำ AI มาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ (Health) ที่เริ่มจากเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งกูเกิลเริ่มพัฒนาเครือข่ายประสาทเทียม (Neural Net) ซึ่งสามารถตรวจหาสัญญาณของโรคเบาหวาน โดยใช้ภาพทางการแพทย์ของตามาช่วยในการวิเคราะห์ ด้วยการนำภาพถ่ายดวงตาหลายล้านภาพมาเปรียบเทียบ เพื่อดูถึงสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นบนม่านตา โดยสามารถระบุได้ทั้งช่วงอายุ เพศ ดูว่าสูบบุหรี่หรือไม่ ตรวจระดับน้ำตาลสะสม (A1C) ข้อมูลดัชนีมวลกาย และความดันโลหิต เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยรายใดมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานขึ้นตา

นอกจากนี้ ทีม AI ของกูเกิล ยังได้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคาดการณ์ความเสี่ยงของผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองจากข้อมูลทางการแพทย์ ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งทางกูเกิลเพิ่งได้เปิดเผยผลวิจัยดังกล่าวออกมา

ดังนั้น สิ่งที่กูเกิลคาดหวังให้เกิดขึ้นในอนาคต คือ การที่กูเกิล จะเข้าไปร่วมกับองค์กรทางการแพทย์ ด้วยการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาล หรือสาธารณสุขต่างๆ เพื่อเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาการเข้ารักษา ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้

อีกภาคส่วนที่น่าสนใจคือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาการสื่อสาร สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน อย่างการพัฒนาการแยกเสียงที่มาจากแหล่งเดียวกัน หรือการถอดรหัสมอร์สออกมาเป็นตัวอักษร และให้ผู้ช่วยอัจฉริยะอ่านเป็นเสียงออกมา

จะเห็นได้ว่าจาก 2 ตัวอย่างดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการนำ AI มาใช้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งแน่นอนว่ากูเกิลไม่หยุดอยู่แค่นี้ แต่พร้อมที่จะนำ AI ไปช่วยในทุกๆอุตสาหกรรม บนพื้นฐานของการนำ AI เข้าไปแก้ปัญหาให้ทุกคนบนโลกใบนี้

เบื้องต้นทางกูเกิล ได้นำ AI มาพัฒนาบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแอนดรอยด์ เวอร์ชันใหม่ที่จะเปิดให้ใช้งานในช่วงปลายปีนี้ ด้วยการออกแบบให้มีการนำ AI ไปช่วยนำเสนอสิ่งที่จะทำต่อไป อย่างเช่นเมื่อใช้งานแอปนี้เสร็จแล้ว ต้องไปใช้งานแอปใดต่อ หรือเมื่อพบว่าตัวเครื่องเชื่อมต่อกับลำโพง จะเปิดใช้งานแอปเล่นเพลง เป็นต้น
รวมถึงการนำ AI ไปใช้วิเคราะห์รูปภาพบน Google Photos หรือแม้แต่กล้องด้วย Google Lens ที่จะประมวลผลวัตถุ และสถานที่ต่างๆ ให้กดเพื่อค้นหาข้อมูลได้ทันที การพัฒนา Google Assistant ให้โต้ตอบเป็นธรรมชาติ และเข้าใจคำสั่งมากขึ้น

แม้แต่บน Google Maps ที่ล่าสุดมีการเพิ่มการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์เข้ามา และการแนะนำสถานที่ต่างๆ เพิ่มเติมโดยใช้การวิเคราะห์ประวัติการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อนำเสนอสถานที่ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์อย่างร้านอาหาร ร้านกาแฟ เป็นต้น

บริการเหล่านี้ จะเริ่มทยอยเข้าถึงมือผู้ใช้งานนับจากนี้ ไปจนถึงช่วงปลายปีที่จะมีการอัปเดตแอนดรอยด์ เป็นเวอร์ชัน 9 ซึ่งจะทำให้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ รองรับการทำงานเหล่านี้ทั้งหมด ไม่นับรวมกับกลุ่มนักพัฒนาที่จะสามารถเข้าถึง Android P เวอร์ชัน Beta ได้ทันที เพื่อนำไปพัฒนาแอปพลิเคชันให้ผู้บริโภคใช้งานกัน

***ขยายบริการสู่ผู้ใช้พันล้านรายต่อไป

ถ้าจำกันได้ในปีที่ผ่านมา ทางกูเกิล มีการประกาศ 7 บริการ ที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านราย ประกอบไปด้วย เสิร์ช ยูทูป แอนดรอยด์ เพลยสโตร์ จีเมล แมปส์ และโฟโต้ พร้อมกับประกาศโครงการที่จะขยายบริการเหล่านี้ และบริการใหม่ๆ เข้าสู่ผู้ใช้งานอีกหลายพันล้านราย (Next Billion User)

โดยกูเกิลระบุว่า ผู้ใช้งาน 1 พันล้านคนแรกของกูเกิลจะมาจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่อีก 1 พันล้านรายต่อไป จะมาจากกลุ่มประเทศอื่น ซึ่งประชากรส่วนใหญ่จะเข้าสู่อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์พกพาเป็นหลัก และส่วนใหญ่จะใช้แต่โมบายในการเชื่อมต่อ อย่างในอินเดีย อินโดนีเซีย และบราซิล เป็นต้น

ดังนั้น บริการต่อๆไปที่กูเกิลคิดค้นขึ้นมาจึงเน้นไปตอบโจทย์การใช้งานพื้นฐาน ที่นอกจากช่วยให้กลุ่มคนดังกล่าวใช้งานได้แล้ว กลุ่มผู้ใช้ 1 พันล้านคนแรกก็ยังได้ประโยชน์จากบริการใหม่ๆด้วยเช่นกัน พร้อมแนะนำ 3 แอปพลิเคชันที่ถูกคิดค้นขึ้นมาภายใต้แนวคิดดังกล่าว

ไม่ว่าจะเป็น Files Go แอปพลิเคชันที่ถูกคิดค้นขึ้นมา สำหรับบริหารจัดการข้อมูลบนเครื่อง ด้วยการนำ AI เข้าไปวิเคราะห์ข้อมูลว่า ไฟล์ข้อมูลใดเป็นข้อมูลขยะที่สามารถลบออกจากเครื่องได้ หรือมีการแจ้งเตือนเมื่อมีไฟล์ซ้ำกัน เตือนว่ามีแอปใดที่ลงไว้แล้วไม่ได้ใช้งาน ซึ่งสามารถลบออกได้

จุดประสงค์หลักของ Files Go คือเข้าไปช่วยลบไฟล์ที่ไม่จำเป็นออกจากเครื่องให้แก่สมาร์ทโฟนที่มีพื้นที่เก็บข้อมูลจำกัด โดยเฉพาะแอนดรอยด์โฟนในระดับราคาเริ่มต้น แต่กลายเป็นว่าผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์หลายล้านรายก็ดาวน์โหลดมาใช้งานเช่นเดียวกัน เพราะถือเป็นวิธีจัดการไฟล์ในเครื่องที่อยู่บนมาตรฐานของกูเกิล

ถัดมาคือแอปอย่าง Datally ที่เปิดให้บริการในไทยช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมาใช้ในการควบคุมปริมาณการใช้งานดาต้า ให้เหมาะสม ซึ่งจะเหมาะกับประเทศที่การเชื่อมต่อ 3G/4G มีค่าใช้จ่ายสูง และมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก
สุดท้ายคือ Tez ที่แม้ว่าปัจจุบันจะให้บริการเฉพาะในอินเดียด้วยการที่กูเกิลเข้าไปร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แต่ก็มีแนวคิดที่น่าสนใจคือ เป็นแอปที่ให้บริการทางด้านการเงิน ที่เป็นกระเป๋าเงินออนไลน์ ด้วยการผูกบัญชีธนาคารที่มี และในขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางชำระเงินออนไลน์ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องธนบัตรปลอมในอินเดีย

จากการเปิดให้ผู้ใช้งาน Tez สามารถใช้โอนเงิน ผ่านการใช้งานในรูปแบบของการแชท ซึ่งมีการเพิ่มฟีเจอร์อย่างการขอให้โอนเงินให้ใช้ในกลุ่มเพื่อน อย่างการแชร์ค่าอาหาร รวมถึงใช้ชำระเงินค่าสินค้า และบริการแก่ร้านค้าที่เป็นพันธมิตร

จะเห็นได้ว่า ในบริการอย่าง Files Go และ Datlally จริงๆแล้วกูเกิลสามารถนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบแอนดรอยด์เลยก็ได้ เพียงแต่กูเกิลมีการสำรวจแล้วว่า เมื่อแยกบริการเหล่านี้เป็นแอปพลิเคชันออกมาจะช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงได้ง่ายกว่า ขณะเดียวกันยังช่วยให้สามารถอัปเดตได้อย่างต่อเนื่องด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น