xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยยุคดิจิทัลถึงเวลาใช้ BIM

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุตสาหกรรมออกแบบและก่อสร้างไทย ยกระดับรับมือดิสรัปชั่น 3 องค์กร วสท. สภาวิศวกรและสถาปนิก ชู Digital Construction ผนึกกำลังปักธงมาตรฐาน BIM ครั้งแรกในประเทศไทย หนุนอุตสาหกรรมก่อสร้าง 1.2 ล้านล้านบาท

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล ทุกภาคส่วนจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด และยิ่งในภาวะสงครามการค้า การแข่งขันและดิสรัปชั่น อุตสาหกรรมออกแบบและก่อสร้าง มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเมืองและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศปีละกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ผู้ประกอบการ สถาปนิก วิศวกร จำเป็นจะต้องเปลี่ยนผ่านด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรมก่อสร้างดิจิทัล หรือ “Digital Construction” และก้าวไปอีกขั้นด้วยการออกแบบใหม่ในระบบ 3 มิติ ด้วยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า BIM : Building Information Modeling ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หลายรายได้นำมาใช้ภายในองค์กรบ้างแล้ว

เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานการทำงานของ BIM คนในอุตสาหกรรมออกแบบ ก่อสร้าง และภาคอสังหาริมทรัพย์ วงการการศึกษาจึงต้องการวางรูปแบบการทำงานด้วย BIM ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรัฐของสากล ซึ่งล่าสุดได้มีการเปิดตัวสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association : TBIM) ขึ้นซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการที่มาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพและหลากหลายองค์กร เช่น สถาปนิกและวิศวกรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนที่มีความสนใจ BIM

อมร พิมานมาศ
โดยมี ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ศาสตราจารย์สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะนายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร หรือ TBIM คนแรก ระบุว่า ในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจก่อสร้างมากยิ่งขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างและงานออกแบบของไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพด้านงานออกแบบรองรับเศรษฐกิจยุคไทยแลนด์ 4.0 เป็นการปฏิรูปหรือปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยโฉมใหม่ทั้งระบบ เพื่อสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ทุกรูปแบบ อีกทั้งยังทำให้องค์กรเติบโตก้าวทันกระแสการพัฒนาของโลก

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศได้นำระบบ BIM มาใช้กันแพร่หลาย ในขณะที่กระบวนการ BIM ในประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรกลาง นั้นคือ สมาคม TBIM เพื่อช่วยสร้างกรอบการทำงานและมาตรฐานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้นทางสมาคมจึงได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการร่างมาตรฐานการทำงานด้วยระบบ BIM คาดว่าจะสามารถใช้งานมาตรฐานภายในปี 2563 รวมถึงมีการพัฒนาหลักสูตรการอบรม-สัมมนา เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ BIM ให้สมาชิกและบุคคลภายนอก คาดว่าจะสามารถเริ่มการอบรม-สัมมนาได้ภายในต้นปี 2563 เช่นกัน

สำหรับระบบ BIM เป็นระบบที่สร้างแบบจำลองเสมือนจริงใน Computer ทำให้ผู้ทำงานเกี่ยวข้องสามารถเห็นส่วนประกอบทุกส่วนตรงกัน โดย BIM จะสร้างเป็นโมเดล 3 มิติขึ้นมาพร้อมกับข้อมูลอัจฉริยะ (Intelligent Information) เช่น รายละเอียดวัสดุ เพื่อคำนวณปริมาณวัสดุก่อสร้าง ปรับปรุงกระบวนการออกแบบก่อสร้างและคำนวณพลังงานที่จะใช้ในอาคาร สร้างแบบจำลอง หรือ Digital Prototype Model ที่เสมือนจริง และเปลี่ยนจากการสร้างแบบบนกระดาษมาสู่เทคโนโลยีดิจิทัลและประสานข้อมูลบน Cloud สะดวกในการทำงานนอกสถานที่โดยสามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง Tablet ได้อีกด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การส่งมอบอาคารที่มีคุณภาพสูงขึ้นจากมาตรฐานของตลาดในปัจจุบัน

สำหรับประโยชน์ของการนำระบบ BIM เข้ามาใช้นอกเหนือจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการออกแบบและการก่อสร้างพัฒนาโครงการแล้ว ยังช่วยให้ประหยัดระยะเวลาในการก่อสร้างได้ พร้อมกับลดการสูญเสียจากการก่อสร้างได้ราว 20% ส่งผลให้เกิดการประหยัดต้นทุนในการก่อสร้างได้เพิ่มมากขึ้นจากระบบ 2D ที่ใช้ในปัจจุบัน และช่วยทำให้การวางแผนในการพัฒนาโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบัน มีผู้พัฒนาโครงการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยได้นำเทคโนโลยีระบบ BIM เข้ามาใช้ในงานก่อสร้างแล้ว เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่กำหนดให้ผู้ประมูลสนามบินให้ BIM ในการเสนอประมูล สถานีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีส้มของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทเอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เซเว่น อีเลฟเว่น ของซีพี ออลล์ เป็นต้น

“ทั้งนี้คาดว่า BIM จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมโครงการก่อสร้างหรืออาคารประเภทต่างๆ มากขึ้น และเห็นแนวโน้มชัดเจนขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ทันทีที่เทคโนโลยี 5G เกิดขึ้นในประเทศไทย” ศ.ดร.อมร กล่าว

ทศพร ศรีเอี่ยม
3 องค์กรก่อสร้างผนึกกำลังสร้างมาตรฐาน BIM

3 องค์กรก่อสร้าง นำโดย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) สภาวิศวกร และสภาสถาปนิก ร่วมกับสมาคมและเครือข่ายอุตสาหกรรมก่อสร้างร่วมสร้างมาตรฐาน BIM Standard ของประเทศไทย โดย ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม กรรมการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และประธานจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562 กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญสงครามการค้าและดิสรัปชั่น อุตสาหกรรมก่อสร้างและสถาปัตยกรรมสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ซึ้งเป้าหมายปี 2563 ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท

ปัจจุบันวิศวกรในประเทศไทยมีจำนวน 240,000 คน สถาปนิก 20,000 คน ผู้ประกอบการและซัพพลายเชนอีกจำนวนมาก จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านเพื่อก้าวสู่แพลตฟอร์ม “Digital Construction” และภูมิทัศน์ใหม่ๆ BIM (Building Information Modeling) เป็นหนึ่งในกลไกของ Digital Infrastructure กระบวนการบูรณาการของทุกส่วนในงานก่อสร้างบนโมเดลเดียวกัน สร้างความก้าวหน้าท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น เทรดวอร์และคลื่นเทคโนโลยีที่กำลังถาโถมเข้ามา อาทิ การสื่อสาร 5G , 3D printing , Robotic และ Automation ในงานก่อสร้าง พัฒนางานก่อสร้างให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ประหยัดกำลังคนแก้ปัญหาแรงงานที่ขาดแคลน ประหยัดเวลาและพลังงาน ตลอดจนการบริหารจัดการที่แม่นยำและโปร่งใส


สำหรับความร่วมมือของ 3 องค์กร ได้แก่ วสท. , สภาวิศวกร และสภาสถาปนิก ร่วมกับสมาคมและเครือข่ายอุตสาหกรรมก่อสร้างในการจัดทำ BIM Standard สำหรับประเทศไทยโดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ทำการศึกษาและวิจัยพัฒนาแนวทางการใช้เทคโนโลยี BIM 2 เล่ม ด้วยความร่วมมือจากองค์กรในประเทศและนานาประเทศ อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม BIM Standard จะเป็นมาตรฐานกลางที่สามารถใช้ทำงานร่วมกับผู้อื่น ต่างองค์กรและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2563

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการพัฒนา BIM ในประเทศจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย รุดหน้าไปไกลแล้ว ตามด้วยประเทศเวียดนามเจริญเติบโตไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมสูง จึงมีความจำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ทั้งทางด้านสาธารณูปโภค โครงการพัฒนาเมืองใหม่ การพัฒนาคมนาคม และการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สำหรับประเทศไทยเองมีศักยภาพและจุดเด่นการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน แต่ยังนำเทคโนโลยี BIM มาใช้ไม่กว้างขวางนัก เนื่องจากชุดคำสั่งมีราคาต้นทุนสูง และการใช้งานหลายอย่างไม่เหมาะกับความต้องการที่แตกต่างในประเทศไทย ทำให้หลายองค์กรยังคงนิยมใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมแบบ 2 มิติ (AutoCAD)

นายวิจิตร ศิลาวิเศษฤทธิ์ สภาสถาปนิก กล่าวว่า BIM เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับวงการก่อสร้างไม่ใช่ซอฟท์แวร์แต่เป็นกระบวนการ ตั้งแต่การเริ่มต้นของอาคารจนครบวงจรชีวิตของอาคาร (Life Cycle) เริ่มตั้งแต่การวางโจทย์โครงการ , ออกแบบแนวคิดโครงการ , การออกแบบอาคารหรือโครงสร้างด้วยแบบจำลอง 3 มิติ โดยสามารถสร้างแบบจำลองเสมือนจริงในคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงการคำนวณระบุขนาด สเปค จำนวนวัสดุ เหล่านี้จะส่งผลดีต่อสถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบทุกฝ่าย ทั้งงานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบ สามารถทำงานบนโมเดลเดียวกันได้ ทำให้ประสานงานระหว่างทีมออกแบบและบริหารต้นทุนโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดกระบวนการตั้งแต่ออกแบบจำลองแบบอาคาร 3 มิติ ทดสอบ และก่อสร้าง

ในอนาคตบทบาทของอุตสาหกรรมก่อสร้างและ BIM จะสามารถวางโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบของ BIM ซึ่งจะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการเมืองแบบ Smart City ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลของเมืองในรูปแบบ Digital สามารถนำไปใช้กับการวิเคราะห์ บริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในยุคดิสรัปชั่นสถาปนิกและวิศวกรต้องเตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง เช่น BIM , AI จะเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ

เสริมศักยภาพการแข่งขันก่อสร้างไทย

นายกิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ กรรมการ สภาวิศวกร กล่าวว่า อุตสาหกรรมไทยมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยงานก่อสร้างในภาครัฐในปี 2561 มีมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะมีมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาทในปี 2562 (สัดส่วนปี 61 เป็นงานก่อสร้างภาครัฐ 53% และงานก่อสร้างภาคเอกชน 47%) เติบโตเฉลี่ย 3 - 5% ซึ่งคาดว่ามูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมก่อสร้างโดยรวมในปี 2562 ปี 2563 และปี 2564 จะเติบโต 3.5 - 5.0% , 5 - 7% และ 7.5 - 9.5% ตามลำดับ ผลจากการเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องตามความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ปริมาณงานก่อสร้างในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ระยะ 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวเช่นเดียวกัน ความท้าทายของประเทศไทย ท่ามกลางสงครามการค้าและดิสรัปชั่น เป็นบททดสอบให้ผู้ประกอบการ 80,000 ราย วิศวกรกว่า 240,000 คน และคนไทยทุกคนได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง อุปสรรคมักเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสใหม่ๆ เสมอ

ปัจจุบันผู้ประกอบการ สถาปนิก วิศวกร ต่างคนต่างใช้ BIM จากประเทศต่างๆ โดยที่ยังไม่มีมาตรฐาน BIM Standard ของประเทศไทยเลย ทั้ง 3 องค์กรจึงจับมือพัฒนา BIM Standard เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นผลดีเกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยหลายด้าน คือ 1. ส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ที่สร้างรายได้แก่ประเทศ 2. เป็นมาตรฐานกลางทั้งทางด้านโปรแกรม และผู้ใช้งาน และแนวทางการเลือกใช้งาน BIM สามารถส่งต่อข้อมูลข้ามประเทศได้อย่างสอดคล้องกันกับมาตรฐานของนานาประเทศ

3. เสริมสร้างความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมทำให้วิศวกร สถาปนิก และบุคลากรในวิชาชีพพัฒนาเรียนรู้ก้าวทันโลก 4. ยกระดับความก้าวหน้าในการประกอบวิชาชีพด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี 5. ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง 6. ส่งเสริมคุณภาพและประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ถูกต้องแม่นยำและโปร่งใสด้วยธรรมาภิบาล

ธเนศ วีระศิริ
5 ข้อเสนอรัฐบาลขับเคลื่อน BIM วาระแห่งชาติ

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า สรุป 5 ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. ขอให้รัฐบาลบรรจุแผนพัฒนา BIM เป็นวาระแห่งชาติ ไว้ในแผน Digital แห่งชาติและ Thailand 4.0 ดังเช่น ประเทศเวียดนามที่ล้ำหน้าประเทศไทยไปไกล เนื่องจากนายกฯ เวียดนามผลักดันและลงนามในแผน BIM แห่งชาติด้วยตนเอง 2. รองรับอนาคต โดยBIM จะเชื่อมต่อทำให้นโยบายพัฒนา Smart Cities ของไทยมีประสิทธิภาพและขับเคลื่อนได้รวดเร็ว 3. เร่งยกระดับการพัฒนาประเทศและศักยภาพก่อสร้างไทยเป็น Digital Constructions ที่แข่งขันได้ในเวทีสากล อาเซียนและ RCEP 4. รัฐบาลควรเร่งพัฒนาบุคคลากรด้าน BIM ใน 2 กลุ่ม คือ 1. บรรจุเข้าหลักสูตรมหาวิทยาลัย และอาชีวศึกษา 2. Reskill คนทำงานและผู้ประกอบการให้อัพเดทกับเทคโนโลยี BIM 5. หน่วยงานรัฐควรส่งเสริมการใช้ Thailand BIM Standard เพื่อเป็นมาตรฐานกลางของประเทศไทยสำหรับงานก่อสร้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยสอดคล้องกับหลักสากล


ด้านนายสันทัด ณัฎฐากุล ประธานเจ้าหน้าที่สายงานควบคุมการผลิต บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อนันดาฯ เริ่มนำระบบการก่อสร้าง 3 มิติ เข้ามาใช้งานในปี 2560 เพื่อช่วยให้งานก่อสร้างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียจากการออกแบบและก่อสร้าง การคำนวณปริมาณการใช้วัสดุที่ถูกต้องแม่นยำลดความผิดพลาดในการสั่งซื้อวัสดุ ซึ่งการออกแบบที่รวดเร็ว งานก่อสร้างมีประสิทธิภาพก็จะทำให้การก่อสร้างเร็วขึ้น ลดต้นทุนการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันอนันดาใช้ BIM กับงานก่อสร้างคอนโดมิเนียมในทุกโครงการ และเตรียมนำไปใช้กับโครงการแนวราบในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้การคำนวณเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ สำหรับในส่วนการทำโปรเจคของอนันดาฯ ซึ่งอยู่ในขั้นการพัฒนาการทำงานในระบบ BIM เปรียบเทียบโครงการที่ ไม่ได้ทำ BIM โครงการที่ทำ BIM สามารถพบปัญหาก่อนการก่อสร้างเป็นมูลค่าเท่ากับ 0.51% ของโครงการ และสามารถเซฟเวลาได้ 6.42% ของระยะเวลาในออกแบบและการก่อสร้าง หากพัฒนาได้ครบกระบวนการ คาดว่าจะสามารถพบปัญหาก่อนการก่อสร้างเป็นมูลค่าเท่ากับ 1% ของโครงการ และสามารถเซฟเวลาได้ 8%


หากประมาณการเป็นมูลค่าการก่อสร้างจากการวิเคราะห์ของ Economic Intelligence Center หรือ EIC การก่อสร้างในปี 2019 รวมระหว่างรัฐบาลและเอกชนจะเท่ากับ 1.371 ล้านล้านบาท ถ้าใช้ BIM ขั้นต้นเทียบเท่าที่อนันดาฯใช้งาน จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ก่อนที่จะทำการก่อสร้างมูลค่ารวมเกือบ 7,000 ล้านบาท และถ้าประเทศไทยพัฒนาการใช้ BIM ให้เต็มที่ จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ก่อนที่จะทำการก่อสร้างมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท”

“ในส่วนของไซต์ก่อสร้าง มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยสามารถเปรียบเทียบตอนไม่ได้ใช้ กับหลังจากใช้ BIM ทั้งในส่วนของต้นทุน บาท/ตารางเมตร วัสดุฐานราก วัสดุโครงสร้าง วัสดุส่วนประกอบ หลังจากที่ใช้ BIM ในการทำงาน สามารถลดปริมาณคำถามจากผู้รับเหมาถึงผู้ออกแบบถึง 50% และปริมาณงานเพิ่มต่างๆลดลงจาก 8-9% ต่อมูลค่าโครงการเหลือไม่เกิน 5%” นายสันทัดกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น