เปิดตัว “สมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร” TBIM หวังวางมาตรฐานการทำงานบนระบบ BIM แบบจำลอง 3 มิติ เพิ่มความถูกต้องแม่นยำทุกกระบวนการทำงาน ลดการสูญเสีย ข้อผิดพลาดจากงานก่อสร้าง หวังยกระดับคุณภาพอสังหาฯ ไทยสู่ระดับสากล
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ศาสตราจารย์สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะนายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association : TBIM) กล่าวว่า ในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจก่อสร้างมากยิ่งขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างและงานออกแบบของไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพด้านงานออกแบบรองรับเศรษฐกิจยุคไทยแลนด์ 4.0 เป็นการปฏิรูปหรือปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยโฉมใหม่ทั้งระบบ เพื่อสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ทุกรูปแบบ อีกทั้งยังทำให้องค์กรเติบโตก้าวทันกระแสการพัฒนาของโลก
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างชาติในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนโฉมงานออกแบบใหม่ไปสู่ระบบ 3 มิติ ด้วยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า “BIM” (Building Information Modeling) ซึ่งในขณะนี้กระบวนการ BIM ในประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรกลาง คือ สมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร หรือ TBIM เพื่อช่วยสร้างกรอบการทำงาน และมาตรฐานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
ทั้งนี้ ระบบ BIM จะสร้างแบบจำลองเสมือนจริงใน Computer ทำให้ผู้ทำงานเกี่ยวข้องสามารถเห็นส่วนประกอบทุกส่วนตรงกัน โดย BIM จะสร้างเป็นโมเดล 3 มิติขึ้นมาพร้อมกับข้อมูลอัจฉริยะ (Intelligent Information) เช่น รายละเอียดวัสดุ เพื่อคำนวณปริมาณวัสดุก่อสร้าง ปรับปรุงกระบวนการออกแบบก่อสร้างและคำนวณพลังงานที่จะใช้ในอาคาร สร้างแบบจำลอง หรือ Digital Prototype Model ที่เสมือนจริง และเปลี่ยนจากการสร้างแบบบนกระดาษมาสู่เทคโนโลยีดิจิทัลและประสานข้อมูลบน Cloud สะดวกในการทำงานนอกสถานที่โดยสามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง Tablet ได้อีกด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การส่งมอบอาคารที่มีคุณภาพสูงขึ้นจากมาตรฐานของตลาดในปัจจุบัน
สำหรับประโยชน์ของการนำระบบ BIM เข้ามาใช้นอกเหนือจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการออกแบบและการก่อสร้างพัฒนาโครงการแล้ว ยังช่วยให้ประหยัดระยะเวลาในการก่อสร้างได้ พร้อมกับลดการสูญเสียจากการก่อสร้างได้ราว 20% ส่งผลให้เกิดการประหยัดต้นทุนในการก่อสร้างได้เพิ่มมากขึ้นจากระบบ 2D ที่ใช้ในปัจจุบัน และช่วยทำให้การวางแผนในการพัฒนาโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การที่จะนำระบบ BIM มาใช้จำเป็นต้องสร้างกรอบการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกันขึ้นมาให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายสามารถใช้ได้ในทิศทางเดียวกันก่อน โดยที่ทางสมาคม TBIM จะต้องเดินสายในการให้ความรู้แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ความรู้ หารือ และทำความเข้าใจเพื่อวางมาตรฐานร่วมกัน ทำให้กรอบในการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก่อนที่จะผลักดันให้เกิดการใช้จริงอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบัน มีผู้พัฒนาโครงการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยได้นำเทคโนโลยีระบบ BIM เข้ามาใช้ในงานก่อสร้างแล้ว เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่กำหนดให้ผู้ประมูลสนามบินให้ BIM ในการเสนอประมูล สถานีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีส้มของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทเอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) เซเว่น อีเลฟเว่น ของซีพี ออลล์ ส่วนในภูมิภาคอาเซียนมีประเทศสิงคโปร์เป็นผู้นำในการใช้ BIM ในการพัฒนาโครงการก่อสร้าง
“การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการสร้างแบบ (โมเดล) พิมพ์เขียวโครงการก่อสร้าง 3 มิติ หรือ BIM จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมโครงการก่อสร้างหรืออาคารประเภทต่างๆ มากขึ้น และเห็นแนวโน้มชัดเจนขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ทันทีที่เทคโนโลยี 5G เกิดขึ้นในประเทศไทย” ศ.ดร.อมร กล่าว
สมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร หรือ TBIM ประกอบด้วย คณะกรรมการที่มาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพและหลากหลายองค์กร เช่น สถาปนิกและวิศวกรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนที่มีความสนใจ BIM มาใช้ในการทำงานให้สอดคล้องไปในทางเดียวกันภายใต้มาตรฐานและข้อกำหนดต่างๆ ที่ใช้สำหรับการทำงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการร่างมาตรฐานการทำงานด้วยระบบ BIM คาดว่าจะสามารถใช้งานมาตรฐานภายในปี 2563
นอกจากนี้ ยังเล็งเห็นถึงการพัฒนาในส่วนของความสามารถในการทำงานของผู้ที่ทำงานด้วยระบบ BIM จึงมีการพัฒนาหลักสูตรการอบรม-สัมมนา เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ BIM ให้สมาชิกและบุคคลภายนอก คาดว่าจะสามารถเริ่มการอบรม-สัมมนาได้ภายในต้นปี 2563
ด้าน นายสันทัด ณัฎฐากุล ประธานเจ้าหน้าที่สายงานควบคุมการบริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อนันดาฯ เริ่มนำระบบการก่อสร้าง 3 มิติ เข้ามาใช้งานในปี 2560 เพื่อช่วยงานงานก่อสร้างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียจากการออกแบบและก่อสร้าง การคำนวณปริมาณการใช้วัสดุที่ถูกต้องแม่นยำลดความผิดพลาดในการสั่งซื้อวัสดุ ซึ่งการออกแบบที่รวดเร็ว งานก่อสร้างมีประสิทธิภาพก็จะทำให้การก่อสร้างเร็วขึ้น ลดต้นทุนการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันอนันดาใช้ BIM กับงานก่อสร้างคอนโดมิเนียมในทุกโครงการ และเตรียมนำไปใช้กับโครงการแนวราบในเร็วๆ นี้