xs
xsm
sm
md
lg

รัฐสั่งสืบทางลับ ‘ทุนจีน’ ซื้อมหา’ลัยไทย หวั่นรุกคืบสู่ ‘ล้งจีน’ เหมือนที่ยึดตลาดผลไม้ไทย!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มทุนจีนเข้าซื้อกิจการมหาวิทยาลัยเอกชนไทย กำลังเป็นประเด็นสำคัญ ที่รัฐบาลบิ๊กตู่สั่งให้มีการตรวจสอบทางลับ เพราะกลุ่มจีนเป็นทุนขนาดใหญ่ เข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย ยึดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้จะมีการแปลงร่างเป็น “ล้งจีน” สร้าง Campus จีน สาขาประเทศไทย ที่มีอิทธิพลเหมือน ‘ล้งจีน’ ที่เข้าครอบงำตลาดการค้าผลไม้ไทย จนเกษตรกรเจ้าของสวนมีสถานะเป็นคนเฝ้าสวน ขณะที่ล้งไทยสูญพันธุ์!

กรณีที่กลุ่มทุนจีนเข้าซื้อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนของไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป เพราะเบื้องหลังที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สั่งวางแผนรับมือกับเรื่องดังกล่าว โดยได้ร่วมกันตั้งคณะทำงานเฝ้าระวังฯ ซึ่งมีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ อว. กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กรมที่ดิน สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ฯลฯ เป็นคณะทำงาน

อีกทั้งได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงปัญหาดังกล่าวให้กระทรวงพาณิชย์ต้องไปพิจารณาการถือหุ้นแบบนอมินีว่ามีกฎหมายอะไรควบคุมอยู่ รวมทั้งการออกวีซ่า นักเรียน นักศึกษา ของกระทรวงการต่างประเทศ ต้องมีความชัดเจน เหมือนสหรัฐอเมริกา (J1 visa) และกำหนดระยะเวลาที่อยู่ในไทยให้เหมาะสม

ขณะเดียวกัน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ต้องเข้มงวดการตรวจคนเข้าเมือง และตำรวจต้องกวดขันเรื่องการตรวจและรายงานผลกรณีพบนักศึกษาต่างชาติที่ลักลอบไปทำงาน เป็นต้น

ส่วนกระทรวง อว.ก็ได้กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เข้าไปกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานการจัดการศึกษาของสถาบันเหล่านั้น

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ขณะที่เรื่องของกลุ่มทุนจีน กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ภาครัฐจะต้องเร่งจัดการ ไม่เช่นนั้นจะลุกลามบานปลายเฉกเช่นเดียวกับเรื่องราวของล้งจีนที่เข้าครอบงําการค้าผลไม้ไทย ไม่ว่าจะเป็นยางพารา กล้วย มะพร้าวน้ำหอม ลำไยและทุเรียน โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งล้งจีนกว้านซื้อเช่นที่จันทบุรี อุตรดิตถ์ จากชาวสวนโดยตรง เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน เวียดนาม และฮ่องกง

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า เรื่องกลุ่มทุนจีนกว้านซื้อมหาวิทยาลัยในไทยนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ เพราะการเข้ามาของกลุ่มทุนและนักศึกษาที่เข้ามาเรียนนั้นมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่สิ่งที่รัฐประเมินสถานการณ์แล้วมันน่ากลัวและเป็นอันตรายในอนาคต เนื่องจากนักศึกษากลุ่มนี้เมื่อเรียนจบไม่ยอมกลับประเทศและเลือกที่จะทำงานในประเทศไทย

“มันมีความซับซ้อนในการเข้ามาลงทุนและการเข้ามาทำงานในประเทศเมื่อเรียนจบ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ต้องเข้าไปตรวจสอบและเข้มงวด ส่วนของ อว.ก็ต้องไปดูหลักสูตรว่าเขาสอนอะไร อย่างไร จะปล่อยแบบนี้ไม่ได้”

ทั้งนี้รัฐบาลได้มีการส่งทีมตรวจสอบเชิงลึก และเชิงลับ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพร้อมสกัดกั้นไม่ให้เรื่องนี้ลุกลามบานปลายด้วย

“พูดตรงๆ เรื่องทุนจีนซื้อธุรกิจการศึกษาเอกชน และขนคนจีนเข้ามาเรียน สิ่งที่รัฐบาลกังวลเพราะกลัวว่าจะเกิด ล้งจีน เหมือนที่เข้ามายึดและ ครอบงำตลาดผลไม้ไทย ที่เรากลัวคือทุนจีนมันใหญ่มากๆ ถ้าปล่อยให้ตลาดเดินไปแบบที่เป็นอยู่ เราจะเสร็จทุนจีน เพราะพวกนี้มีเงินและนำนักศึกษาเข้ามาแบบถูกกฎหมาย”


แหล่งข่าวบอกอีกว่า การเข้ามาถือหุ้นของกลุ่มทุนจีนนั้น เขาจะทำทุกอย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ทำให้ในด้านกฎหมายนั้นรัฐบาลจะเข้าไปทำอะไรกลุ่มทุนจีนได้ยาก แต่ในความเป็นจริงหน่วยงานของรัฐก็ต้องเข้าไปตรวจสอบให้ลึกว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายจริงหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วอาจซื้อกิจการทั้งหมด เพียงแต่ว่าใช้คนไทยบังหน้าคือกระทำในลักษณะ 'Nominee' และใช้ผู้บริหารเป็นคนไทยเพราะให้ดูว่าเป็นการถือหุ้นตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปตรวจสอบเชิงลับ ถ้าปล่อยให้เข้ามาอย่างเสรีต่อไป แบบนี้ประเทศไทยแย่แน่ๆ แต่จะให้รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายห้ามขายกิจการการศึกษาของเอกชนก็ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องทางธุรกิจ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ดูแลอยู่แล้ว หรือจะให้รัฐบาลออกนโยบายห้ามไม่ให้คนจีนเข้ามาซื้อกิจการ หรือจะห้ามนักศึกษาจีนมาเรียนก็ไม่ได้ เพราะจะกระทบเรื่องความสัมพันธ์ และถูกโจมตีว่าเป็นการแทรกแซง ก็จะวุ่นวาย เพราะทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย”

ดังนั้นรัฐบาลจึงเฝ้าติดตามดู จึงทำให้รู้ว่าส่วนหนึ่งเป็นข้อบกพร่องของมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งของไทย ที่ไม่ออกไปสร้างสัมพันธ์ หรือทำโครงการร่วมกับสถาบันการศึกษาของจีน เพื่อสร้างหลักสูตรและแสวงหานักศึกษาจีนเข้ามาเรียนด้วยตนเอง เพราะถ้ามหาวิทยาลัยเอกชนไทยทำเช่นนั้นก็จะสามารถเลือกสรรนักศึกษาจีนตามที่มหาวิทยาลัยต้องการได้

แต่กลับพบว่ามหาวิทยาลัยเอกชนเหล่านี้ใช้บริการโบรกเกอร์ หรือนายหน้าทางการศึกษาให้ไปหาเด็กจีนส่งมาเรียนในไทย พวกนี้ก็ได้โอกาสเพราะรู้ว่าสถานะของมหาวิทยาลัยเอกชนนั้นๆ เป็นอย่างไร ก็ประสานดึงกลุ่มทุนจีนเข้ามาซื้อกิจการกันไปเพื่อรองรับนักศึกษาจีนจำนวนมากที่ไม่มีที่เรียนในประเทศจีนเข้ามาเรียนในไทยได้สะดวก และใช้หลักสูตรเป็นภาษาจีน ส่งผลให้เกิดการหลั่งไหลของนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

“การที่มหาวิทยาลัยไหนได้นักศึกษาคุณภาพแบบไหน เกรด A B C ...ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของมหาวิทยาลัยเอกชนนั้นๆ ด้วย”

โดยรัฐบาลเกรงว่าหากปล่อยให้ไล่ซื้อกิจการสถาบันอุดมศึกษากันอย่างนี้ต่อไปก็จะกลายเป็นอิทธิพลของบรรดา 'ล้งจีน' ด้านการศึกษา ซึ่งเป็นอันตรายต่อประเทศไทยมาก เพราะการเข้ามาซื้อกิจการของกลุ่มทุนจีนก็เท่ากับประเทศจีนเข้ามาตั้ง Campus สาขาประเทศไทย ซึ่งในความเป็นจริงถ้าเราย้อนไปมองสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เราจะเห็นว่าจีนเข้าไปครอบงำได้ ซึ่งมีทั้งการลงทุนด้านอุตสาหกรรม การค้า เส้นทางคมนาคม และการเคลื่อนย้ายของชาวจีนที่เข้ามาอยู่ในประเทศลาวจำนวนมาก


“เราไม่ต้องการให้ประเทศไทยมีสภาพคล้ายแบบลาว ที่ถูกจีนครอบงำ เราจึงต้องเฝ้าระวัง แต่ประเทศไทยก็ต้องเปิดประเทศ ต้องดูทุกมิติ โดยเฉพาะด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะละเลยไม่ได้ แต่ทุกอย่างก็ต้องดำเนินการอย่างเงียบๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา”

ทั้งนี้เพราะการที่คนจีนเข้ามาเรียน เมื่อจบแล้วก็ยังทำงานที่ประเทศไทย ซึ่งหากรัฐบาลปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ในอนาคตคนจีนก็จะมาแย่งอาชีพของคนไทย เพราะทุกวันนี้ไปไหนก็จะเห็นคนจีนเดินอยู่เต็มไปหมด และเราเองก็เห็นแล้วว่าการปล่อยให้ทุนจีนเข้ามาครอบงำได้สร้างผลกระทบต่อประเทศอย่างไรบ้าง

“คนจีนเวลาทำธุรกิจ เขาต้องการเป็นเจ้าของตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เพราะสามารถมีอำนาจต่อรองราคาและกำหนดราคาตลาดได้อย่างดี เราจะเห็นเรื่องของผลไม้ไทย ทุเรียน ลำไย ล้งจีนยึดไปหมด มาตั้งโรงคัดผลไม้และแจ้งราคาที่จะรับซื้อในแต่ละวัน จนทำให้ชาวสวนไทยหรือล้งไทยมีอำนาจต่อรองต่ำ จนล้งไทยแทบจะสูญพันธุ์พร้อมหาตลาดส่งออกเอง ซึ่งเวลานี้มีการตั้งโรงงานแปรรูปผลไม้ในไทยด้วย”

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า การที่กลุ่มทุนจีนจะยึดได้เบ็ดเสร็จก็ต้องซื้อกิจการสวนทุเรียนและผลไม้ต่างๆ ที่ต้องการ และก็จ้างชาวสวนเดิมดูแล พร้อมคนงานเดิมๆ หรือหาแรงงานใหม่ๆ เข้ามาทดแทน ซึ่งตรงนี้ถ้าเทียบกับธุรกิจการศึกษา ก็คือการซื้อสถาบันการศึกษาของไทย และหาคนไทยบริหาร เพื่อให้ทำทุกขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทย ก็จะทำให้ธุรกิจการศึกษาของกลุ่มทุนนั้นเดินหน้าต่อไปได้

มีมหาวิทยาลัยของเขาเอง จัดหาอาจารย์จากจีนมาเอง จัดหลักสูตรเป็นภาษาจีนและหานักศึกษาจากจีนที่ต้องการเข้ามาเรียนได้ง่ายๆ จบแล้วก็หาช่องทำงานในบริษัทของชาวจีนที่เข้ามาลงทุน โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ บางคนจบแล้วก็กลับไปจีน ก็มองหาบริษัทไทยที่ไปลงทุนในจีนเพื่อเข้าทำงาน”


อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้สั่งให้มีการเฝ้าระวังและอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าเวลานี้มีมหาวิทยาลัยเอกชนไทยอีกกว่า 10 แห่งที่กลุ่มทุนจีนได้มีการเจรจาซื้อขายนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งทาง ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรี อว.ก็ได้มีการหารือกับทางสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยแล้วว่าจะร่วมหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหานักศึกษาน้อย ส่งผลต่อรายได้ของสถาบัน และทำให้หลายสถาบันแบกรับภาระไม่ไหวจนต้องเลือกที่จะขายกิจการอย่างไรได้บ้าง

“จริงๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็อยู่ที่ตัวมหาวิทยาลัยด้วย ไม่ว่าจะเป็นของรัฐและเอกชนก็ต้องหาวิธีที่จะทำให้อยู่ได้ เพราะแนวโน้มเด็กลดลง ก็ต้องไปหาเด็กต่างประเทศที่มีคุณภาพเข้ามา ไม่ใช่ใช้นายหน้าแบบที่กำลังทำกันอยู่ หรือมหาวิทยาลัยออกไปตั้ง Campus ในต่างประเทศ เริ่มจากกลุ่ม CLMV ก่อนก็ได้ ซึ่งทางสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ สนใจ เพราะมีตัวอย่างจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยไปตั้ง Campus ที่พม่าก็มีนักศึกษาสนใจเรียนเยอะมาก และยังได้ศิษย์เก่าที่นั่นช่วยกันดึงคนมาเรียน”

นั่นคือหนึ่งในทางออกที่กระทรวง อว.และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ จะร่วมกันแก้ไขปัญหา รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ ที่จะต้องร่วมกันหามาตรการป้องกัน แต่ทั้งหมดจะสามารถสกัดกั้นกลุ่มทุนจีนหรือล้งจีนเข้ามายึดครองสถาบันการศึกษาเอกชนไทยได้หรือไม่? ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม!



กำลังโหลดความคิดเห็น