xs
xsm
sm
md
lg

ยุค 'Talent War' แย่งตัวนักเรียนหัวกะทิ มหา'ลัยระดับโลกชิงให้ทุนตัดหน้ารัฐไทย!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เข้าสู่ยุค 'Talent War' สงครามแย่งชิงคนเก่ง เข้าเรียนในสถาบันการศึกษาทั่วโลก 'ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์' ชี้มหาวิทยาลัยระดับ World Class ชิงตัดหน้าให้ทุน 'นักศึกษาไทย' ระดับหัวกะทิที่รัฐบาลให้ทุนไปแล้ว แจงต้องเร่งปั้นมหาวิทยาลัยรัฐ ทั้งจุฬาฯ มหิดล ติดลำดับท็อป 100 ให้ได้ เพื่อให้เด็กไทยอยากเรียนในไทย และดึงชนชั้นนำ-เจ้าสัว ในต่างประเทศเข้ามาเรียนด้วย ขณะเดียวกันแบ่ง 3 กลุ่มสถาบัน เพื่อสู้กับทั่วโลก พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมยกเครื่องราชภัฏ เป็นมหาวิทยาลัยกลุ่ม “เสาหลักของแผ่นดิน” ร่วมพัฒนาพื้นที่ให้สำเร็จ!

ปรากฏการณ์ 'Talent War' หรือสงครามแย่งชิงคน กำลังเกิดขึ้นในสังคมโลก ซึ่งประเทศไทยก็ต้องวางแผนไว้รองรับว่าจะทำอย่างไรถึงจะดึงคนเก่งของโลกมาอยู่กับเราให้ได้

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ความเห็นไว้และบอกด้วยว่าจะต้องรีบดำเนินการอย่างไรจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายตรงนี้ได้ เพราะนี่คือเหตุผลของการรวมสถาบันระดับอุดมศึกษาและตั้งเป็นกระทรวงใหม่คือกระทรวง 'อว.' ขึ้นมาเพื่อจะได้เป็นพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไปในอนาคต

“โจทย์ผมเวลานี้ คือ จะต้องทำให้มหาวิทยาลัยไทย ปรับตัวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 พร้อมกับคุณภาพที่ดี โดยจะยกระดับคุณภาพได้อย่างไร หากไม่มีคุณภาพ ทุกอย่างจบหมด”

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ดร.สุวิทย์ บอกว่า เวลานี้สถาบันการศึกษามักจะพูดเสมอว่าจำนวนนักศึกษาน้อย ทำให้สถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชนต้องแบกภาระไว้มาก ซึ่งในความเป็นจริงในอนาคตมีแนวโน้มเด็กจะลดลงไปกว่านี้อีก ดังนั้นสถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชน ต้องหาวิธีการปรับตัว โดยเฉพาะจะต้องออกไปเจาะตลาดต่างประเทศ ด้วยการไปเปิด Campus ในต่างประเทศ เช่นเดียวกับที่ 2 มหาวิทยาลัยต่างชาติ ที่มาเปิดในไทย อย่าง มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน หรือ มหาวิทยาลัยไต้หวันที่มาเปิด Campus ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นี่คือกระแสโลกาภิวัตน์ที่สถาบันการศึกษาของไทยต้องตามให้ทัน

“เรียกว่าต้องมี In-out กับ Out-in ซึ่ง In-out หมายถึง มหาวิทยาลัยของไทยต้องออกไปตั้ง Campus ที่ประเทศต่างๆ เช่นที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ไปตั้งที่ประเทศพม่า และมีนักศึกษาพม่าสนใจเรียนจำนวนมาก ปัจจุบันมีการตั้งสมาคมศิษย์เก่าที่เข้มแข็ง ช่วยกันโปรโมตและดึงคนพม่ามาเรียนที่ Campus ที่นั่น ส่วน Out-in ที่กำลังเกิดขึ้นมากในเวลานี้ก็คือการที่มหาวิทยาลัยไปดึงนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนในไทย”

แต่สิ่งสำคัญที่สถาบันการศึกษาจะต้องดำเนินการไม่ใช่เพียงแค่การเจาะตลาดต่างประเทศ แต่จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการดึง Talent หรือนักศึกษาที่มีความสามารถพิเศษ นักศึกษาที่มีคุณภาพสูง ชนชั้นสูง เจ้าสัว เข้ามาเรียนในสถาบันฯ การศึกษานั้นๆ

“การที่มหาวิทยาลัยไทยจะได้ Talent มาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ด้วย ว่ามีอะไรน่าสนใจ ที่จะสามารถเป็นแม่เหล็กดึงนักศึกษาคุณภาพได้ด้วย”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ระบุว่า การที่กระทรวง อว.มีเป้าหมายที่จะสร้างมหาวิทยาลัยของไทยให้เป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพ เพื่อติดอันดับท็อป 100 ของโลกให้ได้ จึงได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 สำหรับการพัฒนาด้านการศึกษา วิจัย และนวัตกรรม จำนวน 142,479 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณฯ 2562 จำนวน 2,871 ล้านบาท

“จุฬาฯ กับมหิดล อยู่ในระดับที่ 300 กว่าๆ ซึ่งผมตั้งใจพัฒนาเพื่อให้จุฬาฯ และมหิดล ขยับขั้นไปในระดับท็อป 100 ให้ได้ ถ้าเราทำได้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ในไทย ก็จะขยับขึ้นมาได้ด้วย”




อย่างไรก็ดี สถาบันการจัดอันดับ Quacquarelli Symonds (QS) แห่งสหราชอาณาจักร ในปี 2019 ได้มีการเปิดเผยข้อมูลการจัดอันดับล่าสุด พบว่าจุฬาฯ ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 271 ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพของมหาวิทยาลัย คุณภาพบัณฑิต คุณภาพด้านการวิจัย เป็นต้น ส่วนมหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ในลำดับที่ 380 และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในช่วง 601-650 เป็นต้น

ดร.สุวิทย์ บอกว่าถ้ารัฐบาลสามารถพัฒนาให้มหาวิทยาลัยของไทยติดอันดับท็อป 100 ได้ก็จะมีนักศึกษาและนักวิจัยที่มีคุณภาพดีๆ ซึ่งจะทำให้เป็นแม่เหล็กดึงนักศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาเรียนในประเทศไทย แต่ถ้ามหาวิทยาลัยของไทยยังอยู่ในระดับต่ำๆ นักศึกษาไทยที่เรียนดีและมีโอกาสก็จะไม่เลือกเรียนที่ประเทศไทย

“เด็กหัวกะทิในระดับ Top 5 ของนักศึกษาที่เรียนดีที่สุดของประเทศ พวกนี้จะเลือกไปเรียนต่างประเทศกันหมด เพราะดีกว่าเลือกเรียนที่จุฬาฯ หรือมหิดล เราจึงต้องเร่งพัฒนาให้จุฬาฯ หรือมหิดล ขึ้น Top 100 ของโลกให้ได้”

หากรัฐสามารถพัฒนาได้ถึงขั้น Top 100 เด็กหัวกะทิก็จะเลือกเรียนเมืองไทยดีกว่าจะไปต่างประเทศ และจะทำให้นักศึกษาต่างประเทศเลือกที่จะเข้ามาเรียนเมืองไทยได้ง่ายเช่นกัน

“อนาคตจะเป็น Talent War สงครามแย่งชิงคน เราต้องการให้คนเก่งของโลกมาอยู่กับเราให้ได้ แต่ถ้าเราทำไม่ได้ คนเก่งก็จะเลือกไปทำงานต่างประเทศกันหมด”

ดร.สุวิทย์ บอกอีกว่า สถานการณ์ในขณะนี้ ทางกระทรวง อว.มีทุนให้นักศึกษาไปสอบเรียนต่อในมหาวิทยาลัยลำดับดีๆ ในต่างประเทศ แต่ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยลำดับดีๆ ในต่างประเทศกลับแย่งตัวนักศึกษาเหล่านี้ด้วยการให้ทุนเรียนไปเลย

'มหาวิทยาลัยระดับ World Class เหล่านี้ให้ทุนแย่งเด็กเราไปก่อน นี่คือรูปแบบสงครามที่เกิดขึ้นในอนาคต เป็นสงครามแย่งชิงทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่า และนี่คือเหตุผลที่เราต้องแบ่งมหาวิทยาลัยเป็น 3 กลุ่ม”


การแบ่งมหาวิทยาลัยเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 มหาวิทยาลัยที่จะไปสู้กับโลก ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้ต้องดึงให้ขึ้นมาเป็นท็อป 100 ให้ได้ ถ้าเราก้าวไปไม่ได้ นักศึกษาเก่งๆ ก็จะไม่เลือกเรียนสถาบันเหล่านี้ ส่วนนักศึกษาที่ดีๆ มีคุณภาพของโลก ก็จะไม่มาเรียนในประเทศไทย

กลุ่มที่ 2 มหาวิทยาลัยที่เน้นเทคโนโลยี นวัตกรรม จะประกอบด้วย 3 พระจอม คือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งจะตอบโจทย์อุตสาหกรรมในอนาคต

กลุ่มที่ 3 มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ คือกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ที่จะเน้นเรื่องของการพัฒนาท้องถิ่น โดยในแผนจะให้ราชภัฏ 1 แห่งดูแล 2 จังหวัด และจะให้ไปทำวิจัยเชิงพื้นที่ เพราะในอนาคตการผลิตครูอาจจะ Over Supply ไปแล้ว

"ราชภัฏต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ครูในศตวรรษที่ 21 หน้าตาจะเป็นอย่างไร Demand กับ Supply ครู เป็นอย่างไร และคุณภาพครูที่ผลิต เป็นอย่างไร แต่ที่วางไว้ราชภัฏจะไม่ใช่ผลิตครูอย่างเดียว"

นอกจากนี้ในหลักการแล้ว คนที่เรียนราชภัฏจะต้องอยู่กับพื้นที่ ไม่ต้องเข้ามาในกรุงเทพฯ และไม่ต้องเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ แต่จะมีประเด็นที่ให้ราชภัฏดำเนินการได้ในพื้นที่ ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องโอทอป เรื่องสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ซึ่งจะเป็นการกระจายรายได้ กระจายโอกาสให้สามารถดำรงชีพอยู่ในพื้นที่ได้ด้วย “เราจะต้องยกเครื่องมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพราะราชภัฏต้องดูแลเด็กถึง 80% ซึ่งถ้าเด็กกลุ่มนี้คุณภาพไม่ดี ปัญหาจะตกอยู่กับประเทศไทย เพราะเด็ก 70% เป็นสายสังคมศาสตร์ อีก 30% เป็นสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะต้องทำให้เด็กกลุ่มนี้มีพลัง ถึงมียุวชนสร้างชาติ ลงพัฒนาพื้นที่ ท้องถิ่น เอามหาวิทยาลัยไปติดอาวุธทางปัญหาท้องถิ่น”



“เราจะต้องยกเครื่องมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพราะราชภัฏต้องดูแลเด็กถึง 80% ซึ่งถ้าเด็กกลุ่มนี้คุณภาพไม่ดี ปัญหาจะตกอยู่กับประเทศไทย เพราะเด็ก 70% เป็นสายสังคมศาสตร์ อีก 30% เป็นสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะต้องทำให้เด็กกลุ่มนี้มีพลัง ถึงมียุวชนสร้างชาติ ลงพัฒนาพื้นที่ ท้องถิ่น เอามหาวิทยาลัยไปติดอาวุธทางปัญหาท้องถิ่น”

ขณะเดียวกันการจะยกเครื่องกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น กระทรวง อว. ได้มีการประสานกับMicrosoft ที่จะนำเรื่องของภาษาอังกฤษ กับเรื่องของดิจิทัล เพื่อยกระดับครูราชภัฏได้ระดับหนึ่งก่อน ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการวิจัย เพื่อตอบโจทย์ในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน

“เราต้องติดอาวุธ หรือ เติมพลังให้ราชภัฏเพราะคนกลุ่มนี้คือเสาหลักของแผ่นดิน กระทรวง อว.จะต้องทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏแข็งแรงขึ้น พร้อมๆ กับพัฒนาให้มหาวิทยาลัยไทยก้าวสู่ท็อป 100 ให้สำเร็จ”

อีกทั้งจะต้องปลุกพลังให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างราชภัฏและราชมงคลในแต่ละจังหวัดให้ได้ เพราะราชมงคล จะได้เรื่องเทคโนโลยี ส่วนราชภัฏจะเน้นเรื่องการบริหาร เรื่องการท่องเที่ยว เพราะประเทศไทยมี 2 อย่างคือ ด้านการเกษตร และต้องสร้าง High Value Service ในด้านการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้น รวมทั้งต้องไปจับมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับ Smart Farmer ให้มีคุณภาพ

ส่วนเรื่องของสถาบันการศึกษาเอกชนนั้น ทางรัฐบาลมิได้ทอดทิ้ง ก็ได้มีการประสานกับทางสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย โดยสมาคมฯ ได้เสนอขอให้รัฐให้การสนับสนุน 2 เรื่อง คือในเรื่องของการเชื่อมโยงกับเอสเอ็มอี ซึ่งทาง อว.ก็ได้ประสานกับหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไว้ให้แล้ว และอีกเรื่องมหาวิทยาลัยเอกชน ต้องการให้ช่วยเหลือในเรื่องของการเจาะตลาดนักศึกษาในต่างประเทศ ทั้งเรื่องการไปเปิด Campus และการดึงนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในประเทศไทย เช่นนักศึกษากัมพูชา นักศึกษาลาว ซึ่งปัจจุบันมีการเปิด Campus ที่พม่าแล้ว
ดังนั้นเป้าหมายนักศึกษาที่ ดร.สุวิทย์ ต้องการให้สถาบันการศึกษาของไทยทั้งภาครัฐและเอกชน จะต้องเร่งพัฒนาและยกระดับคุณภาพของสถาบัน เพื่อรักษานักศึกษาไทยระดับหัวกะทิไว้ให้ได้ และยังสามารถเป็นพลังดึงดูดนักศึกษาที่มีคุณภาพจากต่างประเทศเข้ามาเรียนในไทย ซึ่งหมายถึงสถาบันการศึกษาไทยมีสิทธิ์เลือกคนเก่งเข้ามาเรียนในไทย

“เราต้องได้คนเก่งในระดับหนึ่งมาเรียน และต้องการชนชั้นนำหรือระดับเจ้าสัวของต่างประเทศเข้ามาเรียนในไทยด้วย”

ตรงนี้คือประเด็นหนึ่งที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตั้งเป้าหมายไว้เพื่อสอดคล้องกับการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพย่อมได้นักศึกษาที่มีคุณภาพเช่นกัน !



กำลังโหลดความคิดเห็น