(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Can the US win in court against China?
By GRADY LOY
26/04/2020
พูดกันตามความสัตย์จริงแล้ว มันไม่มีหนทางอันดีงามอย่างแท้จริงที่จะทำอะไรให้ได้มากไปกว่าการตีฆ้องเอะอะเกรียวกราวให้สาธารณชนรับรู้
จากที่มีเสียงเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆ ให้จีนต้องจ่ายเงินค่าชดเชยสืบเนื่องจากโรคระบาดใหญ่คราวนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/04/calls-rising-for-china-to-pay-pandemic-reparations/) จึงขอสรุปความคิดเห็นของผมเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้:
1.ผมไม่คิดว่ารัฐบาลสหรัฐฯสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากจีนในศาลของสหรัฐฯได้ ยกเว้นในคดีซึ่งไม่มีการนำเอาความคุ้มกันที่ให้แก่อำนาจอธิปไตย (sovereign immunity) มาบังคับใช้ – อย่างเช่น การฟ้องร้องบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีนรายหนึ่งเพื่อให้รับผิดชอบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทดังกล่าวในสหรัฐฯ
2.สหรัฐฯสามารถที่จะฟ้องร้องรัฐบาลจีนในศาลจีนใดๆ ก็ตาม (ถ้าหากมี) ซึ่งฝ่ายจีนเปิดทางให้ทำได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ารัฐธรรมนูญของสหรัฐฯอนุญาตให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯยื่นฟ้องร้องในศาลอื่นๆ ด้วยนอกเหนือจากศาลสหรัฐฯ (ผมอยากจะสันนิษฐานว่า รัฐบาลสหรัฐฯสามารถที่จะเป็นคู่ความ ในคดีฟ้องร้องตามข้อตกลงสถานะของกองกำลัง (status of forces agreement) ซึ่งสหรัฐฯทำกับเกาหลีใต้) แต่ก็อยู่ภายในขอบเขตที่ว่า นี่เป็นการเปิดให้ฟ้องร้องคดีในศาลจีนโดยที่เราคงจะต้องเป็นฝ่ายแพ้
3.ในพวกเวทีระหว่างประเทศซึ่งในอดีตที่ผ่านมาสหรัฐฯเคยยอมรับเขตอำนาจของศาลและองค์การเหล่านี้เพียงแค่ระดับจำกัด เป็นต้นว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice ใช้อักษรย่อว่า ICJ) ในกรุงเฮก หรือองค์การการค้าโลก (WTO) แทบจะเป็นการแน่นอนกันเลยทีเดียวว่า การที่ศาลและองค์การเหล่านี้จะได้พิจารณาตัดสินคดีฟ้องร้องระหว่างสหรัฐฯกับมหาอำนาจอื่นๆ นั้น ต้องถือเป็นข้อยกเว้น อย่างไรก็ดี WTO ปฏิบัติงานไปได้ก็เพราะจีนต้องการเป็นสมาชิกขององค์การนี้ ขณะที่พวกอภิมหาอำนาจทั้งหลายนั้นมีความโน้มเอียงที่จะไม่ยอมปล่อยให้ตนเองถูกดึงลากเข้าไปอยู่ใต้อำนาจของ ICJ ในกรุงเฮก (ทั้งนี้ต้องยกเว้นให้พวกยุโรป ซึ่งทำตามหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องเกี่ยวกับ ICJ เป็อย่างมาก)
เกี่ยวกับ ICJ ยังมีประเด็นอื่นๆ อีก
ศาลระหว่างประเทศนี้เป็นสิ่งที่สมควรอภิปรายถกเถียงกันเพิ่มเติม ขอเพียงแค่พลิกอ่านวิกิพีเดียอย่างเร็วๆ เราก็ยอมมองเห็นได้ว่า ICJ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายทั้งในเรื่องของคำตัดสินที่ออกมา, กระบวนการพิจารณาคดี, และอำนาจของศาล เช่นเดียวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์สหประชาชาติ คำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้มักพาดพิงพูดถึงอำนาจโดยทั่วไปขององค์การ เช่น เป็นองค์การที่ได้รับมอบหมายอำนาจจากพวกรัฐสมาชิกโดยผ่านกฎบัตรขององค์การ มากกว่าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาเฉพาะเจาะจงในเรื่ององค์ประกอบของคณะผู้พิพากษา หรือการตัดสินคดีของศาลแห่งนี้
การวิพากษ์วิจารณ์ข้อสำคัญๆ มีดังเช่น:
อำนาจในการ “บังคับ” คดีให้เป็นไปตามคำตัดสินของ ICJ นั้น จำกัดอยู่แค่เฉพาะคดีซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมที่จะปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลแห่งนี้ ด้วยเหตุนี้ กรณีการก้าวร้าวรุกรานต่างๆ จึงมีความโน้มเอียงที่จะบานปลายขยายตัวโดยอัตโนมัติ และจากนั้นก็ต้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็นผู้วินิจฉัยตัดสิน
ตามหลักการว่าด้วยอำนาจอธิปไตย (sovereignty principle) ของกฎหมายระหว่างประเทศ นั้น ไม่มีชาติใดที่เหนือกว่าหรือด้อยกว่าอีกชาติหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่มีองค์การหน่วยงาน (entity) ใดๆ ซึ่งสามารถบังคับให้รัฐซึ่งเป็นคู่ความต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือสามารถลงโทษรัฐซึ่งเป็นคู่ความในกรณีที่มีการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศใดๆ ขึ้นมา
การไม่มีอำนาจผูกมัดบังคับเช่นนี้หมายความว่า รัฐสมาชิกทั้ง 193 รายของ ICJ ไม่จำเป็นที่จะต้องยอมรับขอบเขตอำนาจของศาลแห่งนี้ ยิ่งไปกว่านั้น การที่ประเทศหนึ่งๆ เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติและของ ICJ ก็ไม่ได้เป็นการทำให้ศาลแห่งนี้มีขอบเขตอำนาจในการตัดสินคดีความเหนือรัฐสมาชิกเหล่านั้น การที่รัฐแต่ละรัฐจะยอมรับหรือไม่ยอมรับขอบเขตอำนาจตัดสินของศาลแห่งนี้ต่างหากซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ
นอกจากนั้น ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังต้องปฏิบัติงานในสภาพที่ไม่ได้มีการแบ่งแยกอำนาจฝ่ายต่างๆ ออกจากกันอย่างเต็มที่ กล่าวคือ พวกสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นนั้นสามารถที่จะใช้อำนาจยับยั้ง (veto) ของตน ขัดขวางการบังคับให้ดำเนินการตามคำตัดสินของ ICJ แม้กระทั่งในหมู่ประเทศซึ่งได้แสดงความยินยอมที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามคำตัดสิน
เนื่องจากขอบเขตอำนาจตัดสินของ ICJ ไม่ได้มีอำนาจผูกมัดบังคับในตัวมันเองเช่นนี้แหละ ในกรณีของการก้าวร้าวรุกรานจำนวนมากจึงต้องได้รับการวินิจฉัยชี้ขาดด้วยการหันไปปฏิบัติตามญัตติของคณะมนตรีความมั่นคง
ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีความน่าจะเป็นอยู่มากที่พวกรัฐสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบทางกฎหมายซึ่งกำหนดขึ้นมาโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ อย่างที่แสดงเห็นในตัวอย่างคดีข้อพิพาทระหว่าง นิการากัว VS สหรัฐอเมริกา
แน่นอนอยู่แล้วว่า ทั้งจีนและสหรัฐฯต่างก็เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งสามารถใช้อำนาจยับยั้งกันทั้งคู่ ดังนั้นการบังคับให้เป็นไปตามคำตัดสินของ ICJ จึงไม่มีความเป็นไปได้เลยในทางเป็นจริง แม้กระทั่งถ้าหากจีนยินยอมที่จะถูกฟ้องร้องในศาลระหว่างประเทศแห่งนี้ โดยที่ถ้าหากผมเป็นจีนแล้ว ผมก็คงจะไม่ยินยอมหรอก
คดีที่ตัดสินโดยศาลกรุงเฮกแล้ว จะมีการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำตัดสินกันมากกว่า ในกรณีที่จำเลยน่าจะได้รับผลดีบางอย่างบางประการถ้าหากให้ความร่วมมือ
ข้อสรุป
ผมมองไม่เห็นเลยว่าจะมีหนทางอันดีงามอย่างแท้จริงที่จะทำอะไรให้ได้มากไปกว่าการตีฆ้องเอะอะเกรียวกราวให้สาธารณชนรับรู้ ถ้าเราสามารถเล่นงานจีนได้ ก็หมายความว่าจีนสามารถที่จะเล่นงานเราได้ในทำนองเดียวกัน คุณๆ สามารถจินตนาการได้หรือว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะยินยอมให้ตนเองถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยวิธีการเช่นนี้? (เอาล่ะ ผมยอมให้ก็ได้ว่าทางจีนสามารถฟ้องร้องเราได้ในศาลสหรัฐฯ แต่ปัญหามันก็จะเป็นอย่างเดียวกับข้อ 2 ที่ระบุไว้ข้างบนนี้นั่นแหละ)
ด้วยเหตุนี้ พูดกันตามความสัตย์จริงแล้ว ผมจึงมองไม่เห็นหนทางใดๆ เลย
นักกฎหมายชาวอเมริกัน เกรดี ลอย เคยเป็นที่ปรึกษากฎหมายประจำบริษัทให้แก่บริษัทเคมีญี่ปุ่นชั้นนำแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเขาเกษียณแล้ว และเป็นผู้สื่อข่าวอิสระตลอดจนเป็นนักวิจารณ์ผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) อิสระ ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น