xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำวินิจฉัย ทีมสู้คดีค่าโง่ “ไอทีวี-สปน.” 2.1 หมื่นล้าน แจ้ง ครม.เหตุศาลยุติธรรม สั่งจำหน่ายข้อพิพาทหมายเลขดำ 1/2550

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะกรรมการศึกษาและเตรียมการต่อสู้คดี ไอทีวีฟ้องค่าโง่ สปน. 21,814 ล้านบาท แจ้ง ครม.รับทราบ กรณีสำนักงานศาลยุติธรรมมีคำสั่งการจำหน่ายข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 ไม่ขอตั้งอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหรือคดีที่เกิดขึ้นจากสัญญา เข้าร่วมงานและดำเนินการสถานวิทยุโหรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ กับบริษัท ไอทีวี ต่อเนื่องคดีไอทีวีเรียกชดเชยค่าเสียหายจาก สปน.

วันนี้ (20 เม.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอรายงานกรณีสำนักงานศาลยุติธรรมมีคำสั่งการจำหน่ายข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 ระหว่างบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้เรียกร้อง กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)ผู้คัดค้าน กรณีสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม แจ้งให้ทราบว่า บริษัท ไอทีวีฯ ผู้เรียกร้อง ได้มีคำร้องแจ้ง ไม่ขอวางเงินประกันค่าป่วยการ อนุญาโตตุลาการ และไม่ขอตั้งอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากผู้เรียกร้อง ไม่ประสงค์จะดำเนินข้อพิพาทนี้ต่อไป

กรณีดังกล่าวเป็นคดีต่อเนื่อง ภายหลังนายกรัฐมนตรีเคยมีข้อสั่งการผ่าน สปน.ให้ระมัดระวัง และพยายามไม่ให้เกิดปัญหา เช่น คดีคลองด่าน พิจารณากรณีที่บริษัท ไอทีวีฯ ขอให้คณะอนุญาโตตุลาการ มีคำวินิจฉัยชี้ขาดกรณี สปน. ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อสัญญาเข้าร่วมงานฯ และความไม่ถูกต้องในการเรียกร้องให้บริษัทชำระค่าส่วนต่าง ดอกเบี้ย ค่าปรับมูลค่าทรัพย์สินที่ส่งมอบไม่ครบ และบริษัทขอเรียกค่าเสียหายจาก สปน.จำนวน 21,814 ล้านบาท พร้อมทั้งขอให้ชดเชยความเสียหายโดยให้บริษัทได้กลับเข้าดำเนินการสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ต่อไปจนครบอายุตามสัญญาฯ

ล่าสุด คณะกรรมการศึกษาและเตรียมการต่อสู้คดี สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กรณีข้อพิพาทหรือคดีที่เกิดขึ้นจากสัญญา เข้าร่วมงานและดำเนินการสถานวิทยุโหรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ กับบริษัท ไอทีวีฯ ได้รายงานผลการพิจารณาดังกล่าว เห็นว่า

กรณีการอุทธรณ์ของบริษัท ไอทีวีฯ ผู้คัดค้านนั้น ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลาง โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยว่าการตั้งอนุญาโตตุลาการหลังจากมีการเสนอข้อพิพาท เพื่อให้มีการระงับโดยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการนั้น จะต้องปรากฏว่า ได้มีการเสนอข้อพิพาทโดยชอบด้วย เพราะหากไม่มีการเสนอข้อพิพาทก็ดี หรือการเสนอข้อพิพาทไม่ได้กระทำโดยชอบก็ดี ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องมีการตั้งอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด

โดยกรณีนี้การเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการต้องประกอบด้วย ข้อ 7 วรรคหนึ่งของข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรม ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ กล่าวคือ ต้องมีลักษณะเป็นข้อเรียกร้อง และมีลักษณะเป็นข้อเรียกร้องที่อยู่ในขอบเขตที่อาจมีคำบังคับได้โดยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการ

ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยในเนี้อหา ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยมิได้พิจารณาในประเด็นที่บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ยื่นอุทธรณ์ ดังนั้น แม้ สปน.จะโต้แย้งคัดค้าน ในเรื่องของการแจ้งการอุทธรณ์ของศาลปกครองตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ข้อ 109 ในกรณีที่ตุลาการเจ้าของสำนวน เห็นว่าคำอุทธรณ์นั้นเป็นคำอุทธรณ์ที่สมบูรณ์ครบถ้วน

ให้ส่งสำเนาคำอุทธรณ์ให้คู่กรณีในอุทธรณ์ทำคำแก้อุทธรณ์ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด หรือโต้แย้งคัดด้านในกรณีที่ศาลปกครอง มิได้มีหมายแจ้งให้มารับฟังคำสั่ง ตามมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 นั้น เป็นการโต้แย้งในกระบวนการ ซึ่งอาจทำให้สมบูรณ์ได้ภายหลัง และมิอาจทำให้ผลการพิจารณา ของศาลปกครองสูงสุด ที่ได้พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับการร้องขอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการเปลี่ยนแปลงไป

กรณีที่สถาบันอนุญาโตตุลาการแจ้งให้ทราบว่า ได้จำหน่ายข้อพิพาทโดยอาศัยคำสั่ง ของศาลปกครองสูงสุดในคำร้องที่ ค. 5/2561 และคำสั่งที่ ค. 5/2562 เมื่อศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับ คำสั่งศาลปกครองขั้นต้น และยกคำร้องของผู้ร้อง โดยอ้างเหตุว่า กรณีข้อพิพาทนี้ ไม่ใช่ข้อพิพาทที่จะนำเสนอต่อ คณะอนุญาโตตุลาการได้ ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ประกอบข้อ 7 วรรคหนึ่ง ของข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรม ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ

สถาบันอนุญาโตตุลาการ จึงไม่อาจ ร้องขอให้ศาลปกครองตั้งอนุญาโตตุลาการแทนผู้เรียกร้องได้ นั้น หากสถาบัน เห็นว่า คำเสนอข้อพิพาทไม่ถูกต้อง หรือมีรายการไม่ครบถ้วน ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง สถาบันอาจมีคำสั่งไม่รับหรือคืนคำเสนอข้อพิพาทนั้นไปให้ทำมาใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วนภายในระยะเวลาและกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตามที่เห็นสมควร ตามข้อ 8 วรรคสอง ซึ่งสถาบันอนุญาโตตุลาการ จะสั่งจำหน่ายข้อพิพาทออกจากระบบมิได้ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจ

อย่างไรก็ตาม สถาบันอนุญาโตตุลาการได้อ้างถึงคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ในคำร้องที่ ค. 5/2561 และคำสั่งที่ ค. 5/2562 มาพิจารณาในการจำหน่ายข้อพิพาท กรณีจึงไม่จำต้องโต้แย้ง คัดค้านคำสั่งสถาบันอนุญาโตตุลาการ ประกอบกับสำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ

สำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นกรณีสถาบันอนุญาโตตุลาการ ได้มีคำสั่งจำหน่ายข้อพิพาทนี้ออกจากระบบ โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดนั้น ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วไม่มีเหตุขอเพิกถอน คำสั่งสถาบันอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด

สำหรับกรณีนี้ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งว่า สถาบันอนุญาโตตุลาการ ได้รับคำร้องขอถอนคำเสนอข้อพิพาท และขอให้มีคำสั่งจำหน่ายข้อพิพาท และ/หรือ ไม่รับคดีข้อพิพาทจากผู้เรียกร้อง และสถาบันอนุญาโตตุลาการ พิจารณาแล้ว มีคำสั่งว่าไม่อาจรับข้อพิพาท หมายเลขดำที่ 1/2550 ระหว่างบริษัท ไอทีวีฯ กับ สปน.ไว้ดำเนินการได้อีกต่อไป ให้ยกเลิกคำสั่งชะลอกระบวนพิจารณาลงวันที่ 26 ต.ค. 2561 และจำหน่ายข้อพิพาทออกจากระบบ

ซึ่งสำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า สถาบันอนุญาโตตุลาการ ได้มีคำสั่งจำหน่ายข้อพิพาทนี้ออกจากระบบ โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ที่ระบุว่า ข้อพิพาทนี้ไม่ใช่ข้อพิพาทที่จะนำเสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้ เป็นเหตุให้ข้อพิพาทนี้ไม่สามารถดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ที่สถาบันอนุญาโตตุลาการต่อไปได้นั้น ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุขอเพิกถอนคำสั่งสถาบันอนุญาโตตุลาการ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 211/2561 แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและเตรียมการต่อสู้คดี กรณีข้อพิพาทหรือคดีที่เกิดขึ้นจากสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ กับบริษัท ไอทีวีฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินข้อพิพาทที่เกิดขึ้น จึงได้นำเสนอ ครม.รับทราบ


กำลังโหลดความคิดเห็น