WTO จับมือ WHO ออกแถลงการณ์รับมือวิกฤตโควิด-19 ขอความร่วมมือเปิดตลาดสินค้าวัสดุทางการแพทย์ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตให้ทุกประเทศเข้าถึง เพื่อใช้ป้องกันโรค พร้อมวอนประเทศสมาชิกเร่งคิดค้นเทคโนโลยีการรักษา และช่วยแบ่งปันข้อมูลการรับมือและแนวทางป้องกัน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า นายโรแบร์โต อาเซเวอโด ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และนายเทดรอส แอดนาฮอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา โดยทั้ง 2 ฝ่าย เล็งเห็นความสำคัญของการเปิดตลาดสินค้าวัสดุทางการแพทย์ที่จำเป็นให้ทุกประเทศได้เข้าถึง เพื่อป้องกันและควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาด โดย WTO และ WHO เห็นพ้องร่วมกันว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัญหาในระดับสากลที่ไม่เคยมีมาก่อน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมของประชากรโลกอย่างกว้างขวาง การร่วมมือกันป้องกันและควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ทั้ง 2 องค์กรเห็นว่าประเทศสมาชิกยังคงประสบปัญหาในการเข้าถึงเครื่องมือหรือวัสดุทางการแพทย์ที่จำเป็นและมีความต้องการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าทางการแพทย์เป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย จึงยืนยันที่จะทำงานร่วมกันตามเจตนารมย์ของกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation: IHR) ที่จะปกป้องและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการสนับสนุนให้มีการค้าขายวัสดุทางการแพทย์ รวมทั้งสินค้าและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างเป็นปกติ รวมถึงการจัดหาวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าทางการแพทย์หรือสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และกำหนดให้ประเทศสมาชิกหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการที่กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกด้านวัสดุทางการแพทย์
ก่อนหน้านี้ WTO จะยืดหยุ่นให้แต่ละประเทศสามารถกำหนดมาตรการทางการค้าที่มีความจำเป็นในช่วงวิกฤตได้ แต่มาตรการดังกล่าวจะต้องมีความเหมาะสม โปร่งใส และเป็นมาตรการที่ใช้เป็นระยะเวลาชั่วคราว โดยในส่วนของประเทศไทย ได้ออกมาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าที่ใช้เพื่อการรักษาและป้องกันโรคโควิด-19 ชั่วคราว เพื่อจัดหาสินค้าดังกล่าวให้เพียงพอต่อความจำเป็นในประเทศ
นอกจากนี้ WTO และ WHO ยังเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาวิจัยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรการที่นำมาใช้ในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ทุกประเทศสามารถนำข้อมูลไปบูรณาการเพื่อรับมือวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพอีกด้วย