xs
xsm
sm
md
lg

แรง!! รีพับลิกันหนุน ‘ทรัมป์’ สู้ผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุข เลิก ‘ชัตดาวน์’ เร่งฟื้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พวกผู้ประท้วงซึ่งบางคนถือปืนไรเฟิล ระหว่างการชุมนุมคัดค้านที่หน้าอาคารสภานิติบัญญัติรัฐมิชิแกน ในเมืองแลนซิ่ง รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันพุธ (15 เม.ย.)  พวกเขาไม่พอใจที่ผู้ว่าการรัฐสั่งใช้มาตรการชัตดาวน์อย่างเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น
เอพี/เอเจนซีส์ - ขณะที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ป่าวประกาศเสียงดังว่าต้องการเร่งรัดให้เศรษฐกิจสหรัฐฯกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เวลานี้เราก็สามารถพบเห็นชาวพรรครีพับลิกันชั้นนำออกมาเรียกร้องว่า การปิดเมืองตามมาตรการป้องกันไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำกันได้ต่อไปแล้ว ส่วนพวกนักเคลื่อนไหวพากันกดแตรรถยนต์ดังสนั่น ออกมาชุมนุมประท้วงกันที่สภาของมลรัฐแห่งหนึ่งเมื่อวันพุธ (15 เม.ย.) ทางด้านพวกผู้ช่วย ส.ส. และผู้ช่วยวุฒิสมาชิก กำลังจัดทำร่างกฎหมายกันอย่างเงียบๆ เพื่อทำให้แผนการเงินช่วยเหลือฉุกเฉินที่เพิ่งผ่านออกมาบังคับใช้กลายเป็นโมฆะ และผลักดันให้ชาวอเมริกันกลับมาทำงานตามปกติกันอีกครั้ง

สรุปแล้ว การที่ ทรัมป์ ออกมาเร่งรัดให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเปิดขึ้นมาใหม่ ตั้งแต่ช่วงที่โรคระบาดใหญ่ยังกำลังอาละวาดอยู่นี้ เขามีพวกพันธมิตรรีพับลิกันจับกลุ่มกันด้วยความกระตือรือร้นเพื่อช่วยเหลือทำให้ความปรารถนาของเขา (และก็เป็นความต้องการของกลุ่มเหล่านี้เองด้วย) กลายเป็นความจริงขึ้นมา

“ถึงเวลาเหมาะสมที่สุดแล้วจริงๆ ที่จะต้องเริ่มการพูดจาหารือกัน และเริ่มต้นคิดหาวิธีการกัน”ในเรื่องคลายการชัตดาวน์และฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แพต ทูมีย์ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯสังกัดพรรครีพับลิกันจากรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งมีความคิดเห็นอย่างเดียวกับทรัมป์ ออกมากล่าวย้ำ

กระแสผลักดันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอเมริกันให้คืนชีพขึ้นมาอีกครั้งนี้ กำลังได้รับอิทธิพลและกำลังได้รับการขยายให้ใหญ่โตกว้างขวาง จากกลุ่มพันธมิตรซึ่งเป็นการรวมตัวของพวกผลประโยชน์ทางธุรกิจรายใหญ่ๆ, พวกอนุรักษนิยมที่เชิดชูเสรีภาพทางศาสนา, และพวกนักเคลื่อนไหวซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลที่ดีควรมีขนาดเล็ก โดยที่บางคนสามารถหมุนโทรศัพท์พูดกับทรัมป์โดยตรง

กลุ่มพันธมิตรนี้กำลังถูกจับตาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะที่เป็นพวกทัดทานเหล่ามืออาชีพด้านสาธารณสุขซึ่งคอยเตือนประธานาธิบดีว่า หากรีบร้อนผ่อนคลายมาตรการให้ประชาชนอยู่กับบ้านอย่างรวดเร็วเกินไปแล้ว มันอาจเกิดผลต่อเนื่องทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิต

การปลุกระดมรวบรวมกำลังของกลุ่มพันธมิตรเช่นนี้ ชวนให้นึกไปถึงการก่อกบฏของพวก “ที ปาร์ตี้” (tea party) เมื่อช่วงประมาณ 10 ปีก่อน ตอนที่บรรดานักอนุรักษนิยมฮือกันคัดค้านการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลกลางเพื่อนำพาเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากภาวะถดถอย

สำหรับในครั้งนี้ กระแสเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการชัตดาวน์ ก็กำลังดึงดูดพวกหน้าเดิมๆ ทั้งพวกสายเหยี่ยวนักต่อต้านการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งตกใจกับแพกเกจช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่รัฐสภาเพิ่งผ่านออกมาด้วยมูลค่าสูงลิ่ว 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่พวกเคร่งศาสนาบอกว่าการสั่งปิดโบสถ์และสถานที่ทางศาสนากำลังเป็นการละเมิดเสรีภาพในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของพวกเขา ส่วนพวกสมาชิกรัฐสภาฝ่ายอนุรักษนิยมจัดพากันเตือนว่า อเมริกากำลังซวนเซไปสู่ “ลัทธิสังคมนิยม” ที่รัฐบาลมีขนาดใหญ่โต จากการขยายโครงการเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางสังคมทั้งหลาย

“คุณจะสามารถรั้งบังเหียนควบคุมการบังคับใช้กฎหมายกติกาที่เป็นผด็จการเหล่านี้ได้ยังไง” ส.ส.แอนดี้ บิกส์ สังกัดพรรครีพับลิกันจากรัฐแอริโซนาตั้งคำถามในการให้สัมภาษณ์รายการวิทยุ บิกส์ เป็นประธานของกลุ่ม ส.ส.อนุรักษนิยมจัด ซึ่งมีชื่อว่า House Freedom Caucus



พวกผู้ประท้วงคัดค้านมาตรการชัตดาวน์ที่เมืองแลนซิ่ง รัฐมิชิแกน เมื่อวันพุธ (15 เม.ย.) ซึ่งมีทั้งคนที่ออกมาชุมนุมหน้าอาคารสภานิติบัญญัติ  ผู้ที่โบกธงชาติอเมริกัน และผู้ขับขี่ยวดยานที่พากันบีบแตรดังสนั่นขณะผ่านอาคารแห่งนี้  รวมทั้งมีการปิดกั้นถนนทำให้รถราติดยาวเหยียด
ในส่วนของพวกนักเคลื่อนไหวนั้น สตีเฟน มัวร์ นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่กับมูลนิธิเฮอริเทจ (Heritage Foundation) กลุ่มคลังสมอง (think tank) สายอนุรักษนิยม กำลังเป็นผู้นำของกลุ่มแนวร่วมกลุ่มใหม่ซึ่งมุ่งปลุกระดมพวกนักเคลื่อนไหวทั่วสหรัฐฯ โดยที่มูลนิธิแห่งนี้ก็เพิ่งเสนอแผนการ 5 ประการในการเปิดเศรษฐกิจขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งนี้ ในช่วงสภาปิด พวกรีพับลิกันมีการหารือกันเกี่ยวกับออปชั่นต่างๆ แทบทุกสัปดาห์ผ่านทางคอนเฟอเรนซ์คอล

มัวร์ประกาศว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ ถือเป็นเรื่องของการโปรโมตอิสรภาพและเสรีภาพ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการยุติการใช้จ่ายงบประมาณซึ่งจะทำให้ประเทศชาติล้มละลาย และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำให้เครื่องจักรมูลค่า 20 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งก็คือเศรษฐกิจอเมริกัน เริ่มเดินเครื่องกันอีกครั้งให้เร็วที่สุด

ก่อนหน้าเข้าสู่วิกฤตการณ์คราวนี้ สัญชาตญาณของทรัมป์ที่ต้องการยุติชัตดาวน์และเปิดเมืองขึ้นมาใหม่ ได้ถูกทัดทานจากกลุ่มพลัง 2 กลุ่ม ได้แก่ พวกมืออาชีพด้านสาธารณสุขภายในทีมงานเฉพาะกิจว่าด้วยไวรัสโคโรนาของทำเนียบขาว และทีมงานรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์ ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของชาวรีพับลิกันผู้หนึ่งซึ่งขอให้สงวนนาม ทีมรณรงค์หาเสียงได้เตือนประธานาธิบดีว่าถ้ามีคนล้มตายเป็นจำนวนมากก็จะสร้างความเสียหายให้แก่โอกาสการได้รับเลือกตั้งอีกสมัยของทรัมป์ ยิ่งกว่าความหายนะทางเศรษฐกิจเสียอีก

แต่เมื่อคำชี้แนะให้ประชาชนทั่วประเทศอยู่กับบ้าน ดูเหมือนได้จำกัดการแพร่กระจายของไวรัส รวมทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตซึ่งเวลานี้เลยหลัก 20,000 คนไปก็จริง แต่ยังคงดูน้อยกว่าที่คาดการณ์กันไว้ในตอนแรกๆ ด้วยเหตุนี้ การคาดคำนวณทางการเมืองเหล่านี้จึงดูเหมือนกำลังหันเหจากความวิตกด้านสาธารณสุข และเหวี่ยงไปทางข้างห่วงใยเศรษฐกิจมากกว่า บุคคลผู้นี้เล่าต่อ

แอดัมส์ แบรนดอน ประธานของกลุ่ม “ฟรีดอม เวิร์กส์” (FreedomWorks) ซึ่งจัดการหารือกับพวกสมาชิกรัฐสภารีพับลิกันแบบเสมือนจริงเป็นประจำทุกสัปดาห์ ประกาศว่า เราควรจะต้องเรียนรู้และใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริงที่ว่า โรคระบาดจะยังแสดงฤทธิ์เดชต่อไป แต่ผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้สูงลิ่วอะไร ทั้งนี้ตัวเขาเองก็กำลังกระตุ้นกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่มีผู้สนับสนุนจำนวนเรือนพันเรือนหมื่นทั่วสหรัฐฯ ให้ออกมาสนับสนุนความพยายามนี้ของทรัมป์

พวกผู้สนับสนุนพากันบอกว่า พวกเขามุ่งโฟกัสเฉพาะที่บางภาคส่วนของเศรษฐกิจและบางพื้นที่ของสหรัฐฯซึ่งการระบาดของไวรัสอยู่ในระดับต่ำ หรือว่าพวกคนงานสามารถทำงานได้ขณะที่ยังต้องรักษาระยะห่างทางสังคมกันอยู่ ทั้งนี้ พวกเขาชี้ไปที่กิจการก่อสร้าง, งานปรับภูมิทัศน์ และการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม พวกเขายังระบุว่าจะประกาศกฎกติกาใหม่ๆ เป็นต้นว่า ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย ตลอดจนกระทำตามข้อควรระวังในเรื่องความปลอดภัยประการอื่นๆ

ชาวรีพับลิกันเหล่านี้เตือนว่า การเน้นหนักเรื่องสาธารณสุขมากเกินไป คือ ความบกพร่องล้มเหลวไม่คำนึงถึงความเสียหายทางสังคมในวงกว้าง เมื่อมีการชัตดาวน์อย่างยาวนาน ตลอดจนกระทั่งความเป็นไปได้ที่จะเกิดเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมโหฬาร ทั้งนี้รัฐบาลย่อมไม่สามารถปลุกเศรษฐกิจให้คืนชีวิตขึ้นมา เพียงแค่ด้วยการเที่ยวหว่านโปรยเงินไปทั่ว

จากการที่คนงานชาวอเมริกันทุกๆ 1 ใน 10 เวลานี้จู่ๆ ก็ต้องตกงาน ขณะเดียวกัน ก็คาดหมายได้ว่ารายงานผลประกอบการประจำไตรมาสของบริษัทธุรกิจต่างๆ จะต้องออกมาย่ำแย่ ทำให้ ส.ว. และ ส.ส. รีพับลิกันคนสำคัญๆ พากันบอกว่า ตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์กันได้แล้ว

ส.ว.เดวิด เพอร์ดิว จากรัฐจอร์เจีย สังกัดพรรครีพับลิกัน เผยว่าเขาเพิ่งพูดคุยกับทรัมป์ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้ทราบว่าทรัมป์ขบคิดถึงเรื่องการปรับเปลี่ยนนี้อยู่แล้ว

เพอร์ดิว บอกว่า สิ่งที่เราพบเห็นจากการชัตดาวน์เวลานี้ ก็คือ ระบบตลาดเสรี ระบบวิสาหกิจเสรี กำลังถูกคุกคาม เขาย้ำว่า ชาวอเมริกันจะต้องไม่ยอมให้ใครเข้ามาบอกเราว่า เราจะดำเนินชีวิตของเรากันอย่างไร

ผู้ว่าการรัฐเทกซัส เกร็ก แอบบอตต์ แถลงข่าวว่าด้วยไวรัสโคโรนาระบาด เมื่อวันศุกร์ (10 เม.ย.) ในเมืองออสติน รัฐเทกซัส  แอบบอตต์บอกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในรัฐอยู่ในระดับต่ำกว่ารัฐอื่นๆ จำนวนมาก

ทางฝ่ายเดโมแครตนั้นใช้ท่าทีตักเตือนว่า การขยับทำอะไรกันลงไปก่อนหน้าคำชี้แนะทางสาธารณสุขจะบังเกิดผลเต็มที่ อาจส่งผลทำให้เกิดความวิบัติหายนะ โดยถ้าหากคนอเมริกันเกิดเลิกปฏิบัติตามหลักวางระยะห่างทางสังคม จนเป็นชนวนให้เกิดจุดฮอตสปอตใหม่ๆ ขึ้นมา กลายเป็นภาระหนักซึ่งโรงพยาบาลต่างๆ รับมือไม่ไหว เพราะมีคนไข้ล้นเกินเตียงที่จะจัดหามารองรับได้


แนนซี เปโลซี ส.ส.เดโมแครต ที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเตือนชาวอเมริกันอย่างตรงไปตรงมาว่า อย่าไปฟังพวกคำโกหก แต่ให้รับฟังพวกนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาชีพที่น่านับถืออื่นๆ จึงจะเป็นการปกป้องคุ้มครองทั้งตัวพวกเขาเองและผู้เป็นที่รัก


“พวกเราทุกคนต่างต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่มีค่าและสวยงามกลับคืนมาอีกครั้ง เป็นชีวิตชนิดซึ่งมาจากเสรีภาพอันพิเศษเฉพาะของอเมริกา” เปโลซีเขียนเช่นนี้ในจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งส่งถึงเพื่อนร่วมงานชาวเดโมครแตทั้งหลายของเธอ “แต่ถ้าเราไม่ทำงานโดยอิงกับความจริงแล้ว เราก็จะต้องสูญเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ความลำบากทางเศรษฐกิจและความทุกข์ยากต่างๆ ก็จะขยายตัวยืดเยื้อออกไปโดยไม่จำเป็น”


ยังมีผู้นำรีพับลิกันบางราย ซึ่งกำลังผลักดันให้ใช้หนทางแก้ไขด้วยวิธีดูแลสุขภาพ ส.ว.ลามาร์ อเล็กซานเดอร์ จากรัฐเทนเนสซี ซึ่งเป็นประธานของคณะกรรมาธิการสาธารณสุขด้วยขณะที่คลายการชัตดาวน์ โดยเขาเรียกร้องให้ดำเนินการตรวจทดสอบผู้ติดเชื้ออย่างกว้างขวาง เพื่อให้คนอเมริกันมีความมั่นใจว่าเด็กๆ สามารถกลับไปเรียนหนังสือได้อย่างปลอดภัยในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้


อย่างไรก็ดี ในหมู่มวลชนแล้ว ตามจุดต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ กำลังเกิดการประท้วงเรียกร้องให้ยุติมาตรการชัตดาวน์ไม่ขาดสาย


ที่เทกซัส พวกสมาชิกสภานิติบัญญัติของมลรัฐ ร่วมกันส่งจดหมายไปถึงผู้ว่าการัฐ ระบุว่า ถึงที่สุดแล้วย่อมต้องเป็นความรับผิดชอบของชาวเทกซัสแต่ละคนเอง ในการดูแลรักษาตนเองให้มีความปลอดภัย


ในวันพุธ (15) พวกผู้ขับขี่ยวดยานพากันเข้าร่วมการประท้วงซึ่งจัดขึ้นที่อาคารสภานิติบัญญัติของรัฐมิชิแกน หลังจากผู้ว่าการ เกรตเชน วิตเมอร์ ตัดสินใจเพิ่มความเข้มงวดในการใช้มาตรการให้อยู่กับบ้าน แทนที่จะผ่อนคลายตามการเรียกร้องของพวกเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น