กลายเป็นจุดพลิกผันครั้งใหญ่ของการเมืองมาเลเซียเมื่อนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮาหมัด ประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 ก.พ.) ปิดฉากรัฐบาลผสมที่บริหารประเทศมาได้ไม่ถึง 2 ปี ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่านี่อาจเป็นกลยุทธ์ของผู้นำเสือเฒ่าที่จะพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อสกัดไม่ให้ อันวาร์ อิบราฮิม ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศ
มหาเธร์ วัย 94 ปี และอันวาร์ วัย 72 ปี เป็นผู้นำแถวหน้าของมาเลเซียตั้งแต่ยุคแรกที่ มหาเธร์ ครองอำนาจอย่างยาวนานในช่วงปี 1981-2003 ก่อนที่ทั้งคู่จะกลายมาเป็นศัตรูกัน และกลับมาทำสัญญาการเมืองกันอีกครั้งกระทั่งสามารถคว่ำรัฐบาลของ นาจิบ ราซัก ผู้นำพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) ที่พัวพันคดีทุจริตในศึกเลือกตั้งเดือน พ.ค. ปี 2018
กระนั้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ไม่ราบรื่นนัก โดย มหาเธร์ ปฏิเสธที่จะกำหนดวันเวลาในการผ่องถ่ายอำนาจให้อันวาร์ แม้เคยตกลงกันไว้ก่อนการเลือกตั้งก็ตาม และนี่อาจเป็นปัจจัยที่ผลักดันการเมืองมาเลเซียมาถึงจุดนี้
กลุ่มแนวร่วมแห่งความหวัง (ปากาตัน ฮาราปัน) ของ มหาเธร์ และ อันวาร์ มีความแตกแยกภายในมานานแล้ว และแม้ว่า มหาเธร์ จะวางตัว อันวาร์ เป็นว่าที่นายกฯ ทว่าภายในพรรค ปาร์ตี เกออาดิลัน รักยัต (PKR) ของ อันวาร์ ก็มีพวกกบฏที่เลือกหนุน ‘อัซมิน อาลี’ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเป็นแคนดิเดตใหม่
สถานการณ์เริ่มทวีความตึงเครียดเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว หลังจาก อัซมิน และ ส.ส.ฟากรัฐบาลจำนวนหนึ่งเปิดการหารือกับฝ่ายค้านอย่างพรรคอัมโนเพื่อหาทางจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ที่ไม่มีอันวาร์ ขณะที่ อันวาร์ ออกมาให้สัมภาษณ์ในวันอาทิตย์ (23) กล่าวหา มหาเธร์ และสมาชิกพรรค PKR บางคนว่าเป็นพวก “ทรยศ”
อย่างไรก็ดี ความพยายามซุ่มจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่เป็นผล และในวันจันทร์ (24) มหาเธร์ ก็ยื่นหนังสือลาออกต่อสมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซีย ทั้งยังสละตำแหน่งประธานพรรค ปาร์ตี ปริบูมี เบอร์ซาตู มาเลเซีย ด้วย
ต่อมาพรรคเบอร์ซาตูได้ประกาศถอนตัวจากรัฐบาล ขณะที่ ส.ส. PKR จำนวน 11 คนซึ่งนำโดย อัซมิน อาลี ก็ตัดสินใจลาออกจากพรรคด้วย ส่งผลให้รัฐบาลเหลือที่นั่ง ส.ส. ไม่ถึงครึ่งสภา
สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่านอับดุลเลาะห์ ริอายาตุดดิน อัล-มุสตาฟา บิลลาห์ ชาห์ แห่งมาเลเซียทรงรับการลาออกของมหาเธร์ ทว่าก็ทรงแต่งตั้งเขาเป็นนายกฯ รักษาการต่อในทันที
เจมส์ ชิน ผู้เชี่ยวชาญด้านมาเลเซียจากมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย ชี้ว่ามหาเธร์ลาออก “ด้วยเหตุผลทางเทคนิค” เนื่องจากต้องการมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
ส.ส.มาเลย์บางคนระบุว่า มหาเธร์ ทำเช่นนี้เพราะเบื่อหน่ายการชิงอำนาจและไม่พอใจที่จะต้องร่วมงานกับพรรคอัมโน ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าผู้นำเสือเฒ่าซึ่งไม่กินเส้นกับ อันวาร์ มาแต่ไหนแต่ไรอาจสนับสนุนเกมการเมืองครั้งนี้อยู่อย่างลับๆ
มหาเธร์ เคยสัญญาจะมอบตำแหน่งนายกฯ ให้แก่ อันวาร์ หลังบริหารประเทศไปได้ราวๆ 2 ปี แต่ปฏิเสธที่จะให้กรอบเวลาชัดเจน ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ มหาเธร์ พูดว่าการส่งมอบอำนาจจะเกิดขึ้นภายหลังการประชุมเอเปกที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพในเดือน พ.ย.
อย่างไรก็ดี คาดีร์ จาซิน ที่ปรึกษาของมหาเธร์ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า สัญญามอบอำนาจหลังการประชุมเอเปก “ถือว่าสิ้นสุด” พร้อมกับการลาออกของผู้นำเฒ่า และกลุ่มแนวร่วมแห่งความหวังก็ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐบาลอีกต่อไป
สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 221 คนเข้าเฝ้าฯ ระหว่างวันที่ 25-26 ก.พ. ที่ผ่านมาเพื่อทรงสัมภาษณ์เป็นรายบุคคล โดยจะทรงนำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อในกระบวนการเฟ้นหานายกรัฐมนตรีคนใหม่
รัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐมาเลเซียมาตรา 43 (2) (a) ระบุว่า สมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งโดยปกติแล้วก็คือสมาชิกสภาที่ได้รับความไว้วางใจจาก ส.ส.ส่วนใหญ่
นักวิเคราะห์ชี้ว่า แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้สมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีฐานะเป็นกลางในทางการเมือง แต่ในสถานการณ์เช่นนี้พระองค์สามารถตัดสินพระทัยได้ว่า ฝ่ายใดได้เสียงสนับสนุนข้างมากในสภา และควรได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หรือจะทรงยุบสภาและจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด ขณะที่แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดพรรคเบอร์ซาตูแจงว่าถ้าไม่มีกลุ่มใดรวมเสียงในสภาได้ถึง 112 เสียงเพื่อครองเสียงข้างมาก ทางเลือกคือการจัดการเลือกตั้งใหม่
มหาเธร์ แถลงผ่านสื่อโทรทัศน์เมื่อวันพุธ (26) โดยขออภัยต่อชาวมาเลเซียที่การลาออกของตนทำให้เกิดความสับสนอลหม่านขึ้น พร้อมอาสาเป็นผู้จัดตั้ง “รัฐบาลปรองดอง” เพื่อรับมือปัญหาเศรษฐกิจและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
“เราจำเป็นต้องพักเรื่องการเมืองและพรรคการเมืองเอาไว้ก่อน” มหาเธร์ กล่าว “ผมขอเสนอจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ยึดโยงกับพรรคการเมือง แต่มองผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง”
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธโดย 4 พรรคการเมืองฝ่ายค้านมาเลเซีย รวมถึงพรรคอัมโนซึ่งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อยุติความยุ่งเหยิงทางการเมืองในแดนเสือเหลือง ขณะที่ อันวาร์ ก็ประกาศไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้ง “รัฐบาลประตูหลัง” (backdoor government) และอ้างว่า 3 พรรคการเมืองจากอดีตรัฐบาลแนวร่วมแห่งความหวังได้เสนอชื่อตนเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต่อสมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซียแล้ว
“เราจะรอฟังการตัดสินพระทัยของสมเด็จพระราชาธิบดี” อันวาร์ แถลงต่อสื่อมวลชน
ทั้งนี้ พรรค PKR ของ อันวาร์ เหลือ ส.ส. อยู่เพียง 39 ที่นั่ง และเมื่อรวมกับ ส.ส.จากพรรคพันธมิตรก็น่าจะได้เสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นมาอีก 62 ที่นั่ง
ในส่วนของ มหาเธร์ แม้จะมีนักการเมืองหลายคนประกาศหนุนให้นั่งนายกฯ ต่อ แต่ก็ยังไม่แน่ว่าจะรวบรวมเสียงได้มากพอจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่
บริดเจ็ต เวลช์ นักวิเคราะห์จากสถาบันหูเฟิงเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออก ชี้ว่ามหาเธร์ซึ่งเวลานี้เป็นเพียงผู้นำรักษาการจำเป็นต้องตั้งรัฐบาลใหม่ให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงการลงสู่สนามเลือกตั้งครั้งใหม่