รอยเตอร์ - 4 พรรคการเมืองฝ่ายค้านของมาเลเซียออกมาปฏิเสธแนวคิดของ มหาเธร์ โมฮาหมัด รักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเสนอตัวเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลปรองดอง และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อยุติความยุ่งเหยิงทางการเมืองในแดนเสือเหลือง
มหาเธร์ วัย 94 ปี ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันจันทร์ (24 ก.พ.) ซึ่งทำให้รัฐบาลผสมกลุ่ม ‘ปากาตัน ฮาราปัน’ ที่เผชิญความขัดแย้งภายในอย่างหนักและสูญเสียคะแนนนิยมลงไปเรื่อยๆ ต้องแตกสลายลง
สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียทรงยอมรับการลาออกของมหาเธร์ ทว่าก็ทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อทันที ซึ่งทำให้ผู้นำเสือเฒ่ายังคงกุมอำนาจบริหารเต็มที่จนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
แหล่งข่าวระบุว่า มหาเธร์ ได้เสนอแนวคิดจัดตั้ง ‘รัฐบาลปรองดอง’ ระหว่างประชุมหารือกับผู้นำพรรคการเมืองใหญ่ๆ เมื่อวานนี้ (25) ซึ่งรวมถึง อันวาร์ อิบราฮิม และ 4 พรรคฝ่ายค้านที่พ่ายศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2018
อย่างไรก็ดี กลุ่มพรรคฝ่ายค้านซึ่งนำโดยพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) ประกาศจุดยืนร่วมว่าต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่
“ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ” อันนูอาร์ มูซา สมาชิกพรรคอัมโนคนหนึ่ง ระบุในงานแถลงข่าว
ทั้งนี้ การจัดตั้งรัฐบาลปรองดองอาจเปิดทางให้ มหาเธร์ ได้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งกว่าสมัยที่เขาครองเก้าอี้นายกฯ นานกว่า 2 ทศวรรษเมื่อช่วงปี 1981-2003 ซึ่งถือเป็นยุคทองที่มาเลเซียเปลี่ยนจากรัฐเกษตรกรรมสู่ความเป็นชาติอุตสาหกรรมที่รุ่งเรือง
มหาเธร์ ในวัย 90 เศษๆ หวนคืนสู่เวทีการเมืองในปี 2018 และทำให้กลุ่ม ‘ปากาตัน ฮาราปัน’ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้นสามารถโค่นรัฐบาล นาจิบ ราซัก ซึ่งพัวพันคดีทุจริตอื้อฉาวลงได้สำเร็จ
ในขณะที่ขั้วการเมืองต่างๆ ของมาเลเซียกำลังวุ่นอยู่กับการฟอร์มรัฐบาลใหม่ มหาเธร์ได้ทวีตภาพของตนเองขณะนั่งอ่านเอกสารอยู่ภายในห้องทำงานเมื่อวานนี้ (25) พร้อมเขียนบรรยายว่า “อีกหนึ่งวันในออฟฟิศ” โดยไม่อธิบายเหตุผลที่ตัดสินใจลาออก
ขณะเดียวกัน สำนักพระราชวังมาเลเซียแถลงว่า สมเด็จพระราชาธิบดีจะทรงพยายามเฟ้นหาสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ส่วนใหญ่เพื่อเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล โดยทรงนัดสัมภาษณ์ ส.ส. จำนวน 221 คนตั้งแต่วันอังคาร (25) จนถึงวันนี้ (26)
ส.ส.ที่กลับออกมาจากพระราชวังหลวง ‘อิสตานา เนอการา’ ระบุว่า พวกเขาได้รับแบบฟอร์มให้กรอกว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี หรืออยากจะให้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่
สำหรับ 3 พรรคการเมืองซึ่งเคยอยู่ในรัฐบาลผสมของ มหาเธร์ และ อันวาร์ ประกาศว่า พวกเขาได้ “มติเอกฉันท์” แล้วว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร และจะกราบทูลต่อสมเด็จพระราชาธิบดีในวันนี้ (26) ทว่ายังไม่ขอเปิดเผย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าพวกเขามีจำนวน ส.ส. รวมกันมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ทั้ง 3 พรรคก็ยืนยันว่า “มี”
วิกฤตการเมืองที่ปะทุขึ้นคาดว่าจะยิ่งส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจมาเลเซีย หลังจาก GDP ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปี
เดิมทีนั้น มหาเธร์ มีแผนจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในวันพรุ่งนี้ (27) ทว่าแผนการดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
มหาเธร์ และ อันวาร์ ซึ่งเป็นทั้งอดีตมิตรและศัตรูคู่แค้นได้จับมือกันก่อตั้งกลุ่ม ปากาตัน ฮาราปัน เพื่อโค่นอำนาจของพรรคอัมโนและกลุ่มบาริซานเนชันแนล (บีเอ็น) ในศึกเลือกตั้งปี 2018
อันวาร์ เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลมหาเธร์ ก่อนจะถูกจับกุมและโดนพิพากษาจำคุกในข้อหาทุจริตและมีสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชายด้วยกันในช่วงปลายทศวรรษ 1990
อันวาร์ และผู้สนับสนุนยืนยันว่าข้อครหาเหล่านี้เป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เขาหมดอนาคตทางการเมือง