เอเจนซีส์ - การเมืองมาเลเซียอลเวง หลัง “มหาเธร์” ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อสมเด็จพระราชาธิบดี รวมถึงลาออกจากพรรคการเมืองของเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรร่วมจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางข่าวลือผู้นำเฒ่าพยายามเขี่ย “อันวาร์” ที่ถูกวางตัวให้เป็นผู้นำแดนเสือเหลืองต่อจากเขาให้พ้นทางไป กระนั้นไม่กี่ชั่วโมงต่อมา อันวาร์แถลงภายหลังหารือกับมหาเธร์ว่า มหาเธร์ไม่มีแผนร่วมตั้งรัฐบาลใหม่กับฝ่ายใดๆ
สำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซียแถลงสั้นๆ ว่า มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อสมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซียเมื่อเวลา 13.00 น. วันจันทร์ (24 ก.พ.) โดยไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติม ทว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวกระฉ่อนว่า สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลบางคนซุ่มหารือกับฝ่ายค้านอย่างพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งจะไม่มีชื่ออันวาร์ อิบราฮิม
อย่างไรก็ตาม อันวาร์แถลงในวันจันทร์หลังข่าวการลาออกของมหาเธร์ และภายหลังเขาหารือกับผู้นำเฒ่าตลอดจนเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีว่า เหตุวุ่นวายทางการเมืองนี้เป็นฝีมือสมาชิกพรรคบางคนของตนและบุคคลอื่นๆ ที่นำชื่อมหาเธร์มาแอบอ้าง
อันวาร์สำทับว่า มหาเธร์ย้ำว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และจะไม่ร่วมมือกับคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดก่อนของพรรคอัมโน
นอกจากนั้นยังมีข่าวระบุว่า มหาเธร์ลาออกจากพรรคเบอร์ซาตูโดยไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ ขณะที่คำแถลงก่อนหน้านี้ของพรรคระบุเพียงว่า มหาเธร์ลาออกจากตำแหน่งประธานพรรค
ก่อนที่อันวาร์จะออกมาแถลงคราวนี้ มีรายงานว่า พวกผู้สนับสนุนมหาเธร์วางแผนตั้งรัฐบาลใหม่ร่วมกับพรรคฝ่ายค้านอย่างอัมโน และพรรคปาส ซึ่งเป็นพรรคแนวทางอิสลามิสต์ โดยจะสนับสนุนให้มหาเธร์เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย
ในวันอาทิตย์ (23) อันวาร์ให้สัมภาษณ์กล่าวหาพรรคของมหาเธร์และ “ผู้ทรยศ” ในพรรคพีเคอาร์ของตนเอง วางแผนตั้งรัฐบาลใหม่ร่วมกับอัมโน
หลังจากมหาเธร์ยื่นหนังสือลาออกไม่นาน พรรคเบอร์ซาตูประกาศถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาอีก 11 คน ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีหลายคน ประกาศลาออกจากพรรคพีเคอาร์ของอันวาร์
การที่สมาชิกรัฐสภา 50 คนจากเบอร์ซาตูและอดีตลูกพรรคของอันวาร์ทิ้งพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้เกิดคำถามว่า อันวาร์จะมีเสียงสนับสนุนมากพอจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่
มหาเธร์ วัย 94 ปี และอันวาร์ วัย 72 ปี เป็นผู้นำแถวหน้าของมาเลเซีย ตั้งแต่ยุคแรกที่มหาเธร์ครองอำนาจอย่างยาวนาน (ปี 1981-2003) ก่อนที่ทั้งคู่จะกลายเป็นศัตรูกัน และกลับมาทำสัญญาการเมืองกันอีกครั้งกระทั่งสามารถคว่ำรัฐบาลของนาจิบ ราซัค ผู้นำพรรคอัมโน ที่พัวพันกับการคอร์รัปชัน ในการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2018
กระนั้น ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไม่ใคร่ราบรื่นนัก โดยมหาเธร์ปฏิเสธที่จะกำหนดวันเวลาในการผ่องถ่ายอำนาจให้อันวาร์แม้ตกลงกันไว้ก่อนการเลือกตั้งก็ตาม และนี่อาจนำการเมืองมาเลเซียมาถึงจุดนี้
นักวิเคราะห์ระบุว่า พระราชาธิบดีสุลต่าน อับดุลเลาะห์ สุลต่าน อาหมัด ชาห์ แม้ตามรัฐธรรมนูญจะทรงมีฐานะเป็นกลางในทางการเมือง แต่ในสถานการณ์เช่นนี้พระองค์สามารถตัดสินพระทัยว่า ฝ่ายใดได้เสียงสนับสนุนข้างมากในสภา และควรได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หรือจะทรงยุบสภาและจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด ขณะที่แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดพรรคเบอร์ซาตูแจงว่า ถ้าไม่มีกลุ่มใดรวมเสียงในสภาได้ถึง 112 เสียงเพื่อครองเสียงข้างมาก ทางเลือกคือการจัดการเลือกตั้งใหม่
ทั้งนี้ หากสมเด็จพระราชาธิบดีทรงยอมรับการลาออกของมหาเธร์ รองนายกรัฐมนตรีอาซิซาห์ วัน อิสมาอิล ซึ่งเป็นภรรยาของอันวาร์ จะถือเป็นบุคคลที่มีอำนาจที่สุดในรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาของวันจันทร์ (24) โมห์ด ซูกิ อาลี เลขาธิการคณะรัฐมนตรีออกคำแถลงระบุว่า สมเด็จพระราชาธิบดีได้ทรงยอมรับใบลาออกภายหลังที่มหาเธร์เข้าเฝ้า แต่พระองค์ทรงแต่งตั้งมหาเธร์ให้เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี ขณะรอการแต่งตั้งนายกฯคนใหม่ต่อไป
นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า จุดเปลี่ยนนี้อาจทำให้พรรคอัมโนของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบที่กำลังถูกไต่สวนคดีทุจริต ฟื้นคืนอำนาจ รวมถึงเพิ่มบทบาทของพรรคอิสลามิสต์อย่างพรรคปาส ที่ปัจจุบันเป็นรัฐบาลท้องถิ่นปกครองสองรัฐของมาเลเซีย
เห็นกันว่าทั้งสองพรรคนี้ยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากชาวมาเลย์ที่มีสัดส่วนถึง 60% ของประชากรมาเลเซียทั้งหมด 32 ล้านคน ซึ่งหากเป็นจริงชาวมาเลเซียเชื้อสายอื่นๆ ก็วิตกกังวลว่าอาจทำให้เกิดลัทธิชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์เป็นใหญ่และลัทธิสุดโต่งทางศาสนา ซึ่งจะบ่อนทำลายสังคมหลากเชื้อชาติของมาเลเซีย