xs
xsm
sm
md
lg

In Pics: ทั้งสุขทั้งเศร้า! ‘อังกฤษ’ ถอนตัวจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ ปิดฉากสมาชิกภาพ 47 ปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ชาวอังกฤษทั่วประเทศออกมาเปิดแชมเปญฉลองอย่างครึกครื้น และบ้างก็หลั่งน้ำตาด้วยความเสียใจ เนื่องในโอกาสแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของกระบวนการเบร็กซิตที่ยืดเยื้อมาหลายปี ขณะเดียวกันก็เป็นย่างก้าวแรกสู่อนาคตข้างหน้าที่ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ชาวอังกฤษหลายพันคนออกมายืนโบกสะบัดธงยูเนียนแจ็คที่ด้านนอกจัตุรัสรัฐสภาในกรุงลอนดอน เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในขณะที่เบร็กซิตเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 23.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับเที่ยงคืนตามเวลาบรัสเซลส์

ไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคเบร็กซิตและอดีตสมาชิกรัฐสภาอังกฤษซึ่งสนับสนุนการแยกตัวจากอียูมานานหลายปี ประกาศต่อหน้าผู้สนับสนุนว่า “เราทำสำเร็จแล้ว!” ก่อนที่ฝูงชนจะพากันเปล่งเสียงร้องเพลงชาติอังกฤษดังกระหึ่ม

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าเบร็กซิตได้สร้างความแตกแยกร้าวลึกในสังคมอังกฤษ และหลายฝ่ายยังคงหวั่นเกรงผลกระทบจากการที่อังกฤษยุติสมาชิกภาพกับกลุ่มชาติยุโรปที่มีมายาวนานถึง 47 ปี

ฝ่ายโปรยุโรปซึ่งรวมถึงพลเมืองอียู 3.6 ล้านคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษ ได้ตอบสนองเหตุการณ์สำคัญนี้ด้วยการจุดเทียนไว้อาลัย

ขณะเดียวกันเบร็กซิตก็ทำให้อียูต้องตั้งคำถามถึงอนาคตของตัวเอง หลังจากที่สูญเสียชาติสมาชิกซึ่งมีประชากร 66 ล้านคน รวมถึงมหานครการทูตและศูนย์กลางการเงินที่สำคัญของโลกอย่างลอนดอนไป

นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษซึ่งเป็นหนึ่งในหัวหอกของค่ายโหวต LEAVE เมื่อครั้งที่อังกฤษลงประชามติถอนตัวจากอียูในปี 2016 ยอมรับว่า “หนทางข้างหน้าอาจไม่ราบรื่นนัก” แต่ตนเชื่อแน่ว่าอังกฤษ “จะประสบความสำเร็จอย่างน่าตกตะลึง”

จอห์นสัน ทำนายว่าอังกฤษกำลังจะ “ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความร่วมมือฉันมิตรกับอียู” และจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในเวทีโลก

“สิ่งสำคัญที่สุดที่จะกล่าวในคืนนี้ก็คือ มันไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นการเริ่มต้น” จอห์นสัน ระบุในถ้อยแถลงซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์

สถาบันต่างๆ ของอียูในบรัสเซลส์เริ่มปลดธงชาติอังกฤษลงก่อนที่เบร็กซิตจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ขณะที่นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนียอมรับว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ (sea change) ของกลุ่มอียูซึ่งเวลานี้เหลือสมาชิกอยู่เพียง 27 ประเทศ

ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ยอมรับว่า การถอนตัวของอังกฤษถือเป็น “สัญญาณเตือนครั้งประวัติศาสตร์” ที่ทำให้ชาติสมาชิกอียูที่เหลืออยู่ รวมถึงประชากรกว่า 440 ล้านคน ต้องหยุดคิดทบทวน

รัฐสภายุโรปลงมติอนุมัติข้อตกลงถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Withdrawal Agreement) ของอังกฤษเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ซึ่งหลังจากการลงมติเสร็จสิ้นลง บรรดาสมาชิกรัฐสภายุโรปได้ร่วมกันร้องเพลง ‘Auld Lang Sye’ ซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านของชาวสก็อตต์ที่สื่อความหมายถึงการอำลา

ไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคเบร็กซิต
ทั้งนี้ ข้อตกลงเบร็กซิตได้กำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 11 เดือนจนถึงสิ้นปี 2020 เพื่อให้อังกฤษและอียูได้เจรจากำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในอนาคต ระหว่างนี้พลเมืองอังกฤษและอียูยังสามารถทำงานและค้าขายร่วมกันได้อย่างเสรีจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. ทว่าในทางกฎหมายถือว่าสหราชอาณาจักรได้ถอนตัวอย่างเป็นทางการแล้ว และจะไม่มีตัวแทนในสถาบันของอียูอีกต่อไป

“เราต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้กับสหราชอาณาจักร แต่ก็คงจะไม่ดีเท่าตอนที่อังกฤษยังมีสมาชิกภาพอยู่” อูร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แถลงที่บรัสเซลส์

ตั้งแต่วันนี้ (1 ก.พ.) เป็นต้นไป รัฐบาลอังกฤษจะสามารถทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงกับสหรัฐฯ ด้วย

นายกฯ จอห์นสัน ประกาศชัดว่าต้องการทำข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนกับอียูให้แล้วเสร็จภายใน 11 เดือน ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการค้าเรื่อยไปจนถึงประเด็นความมั่นคง ท่ามกลางเสียงเตือนว่าระยะเวลาเพียงเท่านี้อาจไม่เพียงพอ

ผู้นำอังกฤษยังได้หารือกับคณะรัฐมนตรีวานนี้ (31) เกี่ยวกับการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับต่างประเทศให้ครอบคลุมมูลค่าการค้าของอังกฤษถึง 80% ภายในระยะเวลา 3 ปี

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ซึ่งเชียร์เบร็กซิตอย่างออกหน้าออกตามาโดยตลอด รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอเมริกาบางคน ออกมากล่าวชื่นชมที่อังกฤษกำลังก้าวสู่ “ยุคสมัยใหม่ที่น่าตื่นเต้น”

“เราจะยังคงสานต่อความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักรให้เข้มแข็ง สร้างสรรค์ และเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป ระหว่างที่พวกเขาก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่” ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น