xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ทรัมป์เซ็ง! ‘อังกฤษ’ ไม่บ้าจี้สั่งแบน ‘หัวเว่ย’ เปิดทางร่วมพัฒนา 5G อย่างจำกัด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษประกาศเปิดทางให้ ‘หัวเว่ย เทคโนโลยีส์’ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจำกัดในการพัฒนาเครือข่าย 5G ของสหราชอาณาจักร ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ถูกมองว่าเป็นการหักหน้าสหรัฐฯ ที่พยายามอ้างเรื่องภัยคุกคามความมั่นคงเพื่อกดดันพันธมิตรยุโรปให้กีดกันยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจีนรายนี้ออกจากระบบสื่อสาร next-generation ของโลกตะวันตก

ในคำแถลงซึ่งถูกมองว่าเป็นการเลือกข้างจีนมากกว่ามิตรสำคัญที่สุดอย่างสหรัฐฯ และมีขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่อังกฤษจะอำลาสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ จอห์นสัน ชี้ว่า “กลุ่มผู้จำหน่ายที่มีความเสี่ยงสูง” (high-risk vendors) อย่าง หัวเว่ย จะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพัฒนาเครือข่ายแบบจำกัดไม่เกิน 35% และจะถูกกันออกจากส่วนที่อ่อนไหว เช่น การประมวลผลข้อมูล และถูกห้ามไม่ให้เข้าถึงเครือข่ายที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ หรือสถานที่เปราะบางอย่างเช่นโรงงานนิวเคลียร์และฐานทัพ เป็นต้น

ทั้งนี้ การที่ผู้นำอังกฤษออกมาปฏิเสธข้อกังวลของวอชิงตันที่อ้างว่าหัวเว่ยอาจถูกปักกิ่งใช้เป็นเครื่องมือจารกรรมความลับของตะวันตก สร้างความยินดีต่อบริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1987 โดยอดีตวิศวกรของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน แต่แน่นอนว่าไม่เป็นที่พอใจของรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ

รัฐบาลลอนดอนเปิดเผยว่า จอห์นสัน ได้คุยโทรศัพท์กับ ทรัมป์ หลังประกาศการตัดสินใจให้สาธารณชนทราบ โดยย้ำว่า “แต่ละประเทศที่มีแนวคิดสอดคล้องกันควรร่วมมือกันทำงานเพื่อเพิ่มความหลากหลายในตลาด และป้องกันการผูกขาดโดยบริษัทเพียงไม่กี่แห่ง”

เจ้าหน้าที่รัฐบาลทรัมป์ออกมาเตือนอังกฤษว่า “การยินยอมให้ผู้จำหน่ายที่ไม่น่าเชื่อถือเข้ามาควบคุมเครือข่าย 5G ไม่ว่าจะในส่วนใดก็ตาม ย่อมไม่ปลอดภัย” และสหรัฐฯ ยังหวังที่จะร่วมมือกับสหราชอาณาจักรต่อไปเพื่อกันผู้จำหน่ายอุปกรณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจเหล่านี้ออกไปจากระบบ 5G

สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ พากันตำหนิการตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษ โดย ลินด์ซีย์ เกรแฮม หนึ่งในแกนนำพรรครีพับลิกัน ขู่ว่าเรื่องนี้อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ หลังจากที่อังกฤษถอนตัวจากอียูในวันที่ 31 ม.ค. ขณะที่ ส.ว. ทอม คอตตอน จากรัฐอาร์คันซอเตือนว่า “อังกฤษอาจปลดปล่อยตัวเองออกจากบรัสเซลส์ได้ แต่ต้องสูญเสียอธิปไตยให้แก่จีน” และยังยุให้วอชิงตันทบทวนข้อตกลงแบ่งปันข่าวกรองกับลอนดอน

เจ้าหน้าที่อังกฤษผู้ไม่ประสงค์ออกนามให้เหตุผลว่า การกีดกันหัวเว่ยจะยิ่งทำให้เครือข่าย 5G ในอังกฤษล่าช้าและเพิ่มต้นทุนแก่ผู้บริโภคโดยไม่จำเป็น ซึ่งสอดคล้องกับคำเตือนจากคนในแวดวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

ทั้งนี้ ความสามารถในการจัดการข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จะทำให้ 5G กลายเป็นรากฐานที่สำคัญของอุตสาหกรรมหลายประเภท และช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

สหรัฐฯ เกรงว่าการเป็นผู้นำในด้านเครือข่าย 5G อาจส่งผลให้จีนครอบครองเทคโนโลยีที่เหนือชั้นกว่า ซึ่งจะกลายเป็นตัวกำหนดภูมิรัฐศาสตร์โลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนมองว่าแนวคิดเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับความเป็นปรปักษ์ระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น

แคนาดาซึ่งยังไม่ตัดสินใจเปิดรับหัวเว่ยร่วมพัฒนา 5G ยอมรับว่ากำลังศึกษาข้อมูลจากการตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษ


สหรัฐฯ ย้ำเตือนอังกฤษมาโดยตลอดว่าไม่ควรอนุญาตให้หัวเว่ยเข้าร่วมพัฒนา 5G เป็นอันขาด โดยให้เหตุผลว่าส่วนชายขอบ (edge) กับส่วนที่เป็นแกนหลัก (core) จะไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาดเมื่อมีการประมวลผลข้อมูลผ่าน 5G ซึ่งหมายความว่าการสกัดกั้นภัยคุกคามก็จะทำได้ยากขึ้นด้วย

หัวเว่ย ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารรายใหญ่ที่สุดของโลกชี้ว่า สหรัฐฯ มีเจตนาขัดขวางการเติบโตของบริษัทเพราะไม่มีผู้ผลิตอเมริกันรายใดที่สามารถนำเสนอเทคโนโลยีได้ทัดเทียมกับ หัวเว่ย ในราคาที่ต่ำกว่า

“การตัดสินใจโดยอิงกับหลักฐานจะนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่ปลอดภัยและคุ้มค่า ซึ่งเหมาะสมกับยุคอนาคต” วิกเตอร์ จาง รองประธานหัวเว่ย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

ทั้งนี้ ผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารรายใหญ่ๆ ที่พอจะเป็นคู่แข่งกับหัวเว่ยได้ก็มีเพียงอีริคสัน (Ericsson) จากสวีเดน และโนเกีย (Nokia) จากฟินแลนด์

จาง ระบุว่า หัวเว่ยทุ่มงบด้านการวิจัยสูงถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่แล้ว และลงทุนอย่างเต็มที่เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด แม้จะถูกสหรัฐฯ กีดกันก็ตาม

เมื่อปี 2018 หัวเว่ยประกาศทุ่มเงินลงทุน 3,000 ล้านดอลลาร์ในอังกฤษ ซึ่งบริษัทมองว่ามีทำเลที่ตั้งซึ่งได้เปรียบทางยุทธศาสตร์และเป็น “ฮับนวัตกรรมของโลก”

เจเรมี ทอมป์สัน รองประธานหัวเว่ยประจำสหราชอาณาจักร ยอมรับว่าการได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมไม่เกิน 35% “ถือว่าสอดคล้องกับความคาดหวังของบริษัท”

เอกสารที่รัฐบาลอังกฤษเผยแพร่เมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้วระบุว่า หัวเว่ยเข้ามามีบทบาทราว 35% ของเครือข่าย 4G ในอังกฤษ โดยถูกจำกัดเฉพาะส่วนที่ไม่ใช่แกนหลัก

รัฐบาลอังกฤษยืนยันว่า การเปิดโอกาสให้ หัวเว่ย จะช่วยให้รัฐบาลสามารถพัฒนาระบบสื่อสารให้มีคุณภาพระดับ “เวิลด์คลาส” โดยยังคงปกป้องความมั่นคงของชาติเอาไว้ได้ และเชื่อว่านโยบายนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อข้อตกลงแบ่งปันข่าวกรองกับกลุ่มประเทศ ‘Five Eyes’ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ แคนาดา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย

ศูนย์ความมั่นคงไซเบอร์แห่งอังกฤษ (NCSC) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานข่าวกรองอังกฤษ (GCHQ) ชี้แจงว่า รัฐบาลอังกฤษ “ไม่เคยไว้ใจ” หัวเว่ย และได้มีมาตรการพิเศษเพื่อบรรเทาความเสี่ยงเรื่อยมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอังกฤษไม่ได้ปฏิบัติต่อหัวเว่ยเหมือนกับผู้จำหน่ายรายอื่นๆ

การตัดสินใจของลอนดอนมีขึ้นหลังจากที่บรัสเซลส์ก็ออกมาระบุเช่นกันว่าจะอนุญาตให้ หัวเว่ย เข้าร่วมพัฒนาเครือข่าย 5G ในสหภาพยุโรปอย่างจำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น