xs
xsm
sm
md
lg

'หัวเว่ย'ตอบโต้ 'ก.ต่างปท.มะกัน' ทำเอกสารกล่าวหาให้ร้ายเรื่อง 5จี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กอร์ดอน วัตส์



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Fact blurs with fiction in Huawei’s global rise
By GORDON WATTS
20/12/2019

บริษัทหัวเว่ยแจกแจงตอบโต้แบบ“หมัดต่อหมัด” หลังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯจัดทำเอกสารกล่าวหาและให้ร้ายยักษ์ใหญ่เทเลคอมจีนรายนี้ในเรื่องเทคโนโลยี 5จี

ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา หัวเว่ยซึ่งสร้างขึ้นมาโดย เหริน เจิ้งเฟย อดีตนายทหารวิศวกรของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ได้ถูกวอชิงตันลากเข้าไปในสงครามการค้าที่ทำกับปักกิ่ง โดยที่บริษัทอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ถูกสหรัฐฯประทับตราว่ามีความเสี่ยงต่อความมั่นคงแห่งชาติ เนื่องจากมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน และกองทัพปลดแอกประชาชนจีน

ทางด้าน เหริน และผู้บริหารอาวุโสคนอื่นๆ ของหัวเว่ย ตอบโต้ข้อกล่าวหาเหล่านี้ด้วยการปฏิเสธอย่างแข็งขัน และเรียกการที่สหรัฐฯแบนบริษัทว่าเป็นพฤติการณ์ไล่ล่าแม่มด เวลานี้บริษัทได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำในด้านโครงสร้างพื้นฐานของ 5 จี ที่เป็นระบบสื่อสารไร้สายความเร็วระดับอัลตราฟาสต์ หลังจากได้ลงนามในสัญญาเชิงพาณิชย์กับต่างประเทศเป็นจำนวนมากกว่า 60 ราย นอกจากนั้นธุรกิจแห่งนี้ที่ถูกถือเป็นกิจการภาคเอกชน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ถึงแม้จะระบุว่าเป็นกิจการซึ่งถือหุ้นโดยบรรดาลูกจ้างพนักงานก็ตาม ยังเป็นผู้จำหน่ายสมาร์ตโฟนได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

ในช่วงสิ้นปี 2019 ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (ซึ่งเจ้ากระทรวงคนปัจจุบันคือ ไมค์ พอมเพโอ เป็นผู้ที่มีนโยบายแอนตี้จีนอย่างหนักข้อคนหนึ่งในคณะบริหารประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ -ผู้แปล) ได้ออกรายงานระบุกล่าวหาบริษัทยักษ์ใหญ่จีนแห่งนี้เป็นข้อๆ โดยย้ำว่า หัวเว่ย “ไม่สามารถที่จะเชื่อถือไว้วางใจได้ว่าบอกเล่าความจริงหรือปกป้องคุ้มผลประโยชน์ของฝ่ายอื่นๆ ขณะที่ทางยักษ์สื่อสารจีนที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้นรายนี้ ก็จัดทำเอกสารสวนหมัดตอบโต้อย่างเป็นทางการ โดยกล่าวหาเอาคืนรัฐบาลสหรัฐฯว่า “เที่ยวแพร่กระจายข่าวสารข้อมูลผิดๆ มาเป็นเวลามากกว่า 1 ปีแล้ว”

ต่อไปนี้คือประเด็นหรือ “เรื่องโกหกหลอกลวง” ต่างๆ ที่หยิบยกขึ้นมากล่าวหาโดยวอชิงตัน และคำตอบโต้ของฝ่ายหัวเว่ย (ลิงก์เชื่อมโยงไปถึงรายงานฉบับเต็มในพากษ์ภาษาอังกฤษของทั้งสองฝ่าย ดูได้ที่ตอนท้ายของข้อเขียนชิ้นนี้)

เรื่องโกหกหลอกลวงหมายเลข 1: หัวเว่ยมีราคาถูกที่สุด

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ: “หัวเว่ยได้รับการอุดหนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน –เรื่องนี้มีเหตุผลของมันอยู่— แต่คนอื่นๆ ต้องตั้งราคาชนิดที่ให้ตนเองยังคงสามารถแข่งขันได้ พวกธนาคารที่หนุนหลังโดยรัฐของปักกิ่งก็จัดหาเงินกู้แบบมุ่งอุดหนุนเกื้อกูลเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่หัวเว่ย ทั้งนี้เพื่อที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะได้สามารถเข้าถึงตลาดต่างๆ ในต่างประเทศ และบรรลุฐานะครอบงำทั่วโลกในทางยุทธศาสตร์

“ความพยายามของหัวเว่ยในการผูกขาดตลาด 5จี กำลังก่อให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลต่อเนื่องต่างๆ ที่ติดตามมา ทั้งในแง่ของการขจัดทำลายการแข่งขัน,การควบคุมสายโซ่อุปทาน, และการปั่นราคา ซัมซุง, อีริคสัน, และโนเกีย ทั้งหมดเหล่านี้ต่างสามารถจัดหาโครงสร้างพื้นฐาน 5จีที่มีคุณภาพสูงในราคาที่สามารถเปรียบเทียบได้ โดยไม่ได้มีภัยคุกคามในเรื่องการกระทำอย่างเลยเถิดแบบเผด็จการรวบอำนาจ”

การตอบโต้ของหัวเว่ย: “เราไม่เคยบอกเลยว่าอุปกรณ์ของเรามีราคาถูกที่สุด เราเพียงแต่บอกว่ามันอยู่ในราคาที่จ่ายไหว อันจริงแล้วในหลายๆ กรณีทีเดียว ราคาของเราแท้ที่จริงสูงกว่าผู้ขายรายอื่นๆ ด้วยซ้ำ แต่อุปกรณ์ของเรานั้นให้คุณค่าแก่พวกลูกค้าของเรา ซึ่งเป็นผู้ที่มีข้อเรียกร้องสูง, เป็นมือเก่าผู้มีความรู้อย่างดีของอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคม

“สำหรับเรื่องเงินทุนของเรานั้น ส่วนหลักๆ เลยมาจากการนำเอารายรับของบริษัทไปลงทุนต่อ เรายังได้รับเงินกู้จากพวกธนาคารระหว่างประเทศด้วย เหมือนๆ กับบริษัทอื่นๆ จำนวนมากในอุตสาหกรรมเทเลคอม เราใช้ประโยชน์จากเงินทุนของภาครัฐเมื่อมีเงื่อนไขที่จะสามารถทำเช่นนั้นได้ แต่จำนวนเงินที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ถือได้ว่าค่อนข้างน้อย ในปี 2018 ปริมาณการให้การอุดหนุนของรัฐบาล เทียบเท่ากับเพียงแค่ 0.2% ของรายรับทั้งหมดของเราเท่านั้น เรานั้นไม่ได้รับความสนับสนุนเป็นพิเศษจากรัฐบาลจีน”

เรื่องโกหกหลอกลวงหมายเลข 2: หัวเว่ยคือบริษัทที่ก้าวหน้าที่สุด

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ: “หัวเว่ยนั้นล้าหลังในเรื่องสิทธิบัตรมีคุณค่าและถือเป็นสิทธิบัตรซึ่งเกี่ยวข้องเข้าเรื่องจริงๆ หัวเว่ยได้ยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรเป็นจำนวนมากที่สุดก็จริงอยู่ แต่ข้อเท็จจริงนี้มุ่งหมายที่จะสร้างความเข้าใจผิด เพราะถ้าหากประเมินผลกันโดยมุ่งที่เนื้อหาสาระ –มุ่งพิจารณาว่าสิทธิบัตรที่ยื่นขอจดทะเบียนแต่ละอย่างเป็นสาระสำคัญสำหรับ 5จี จริงๆ มากน้อยระดับไหน— หัวเว่ยก็ตกอยู่ในฐานะยังคงล้าหลังทั้ง อิริคสัน, ซัมซุง, โนเกีย, และ ควอลคอมม์

“ครั้นเมื่อประเมินผลจากเรื่องของขนาดขอบเขต หรือก็คือจำนวนสิทธิบัตรซึ่งยื่นขอจดทะเบียนในยุโรปและสหรัฐฯแล้ว หัวเว่ยกระทั่งอยู่ในฐานะที่ล้าหลังหนักข้อขึ้นไปอีก แม้กระทั่งเมื่อเทียบกับพวกคู่แข่งขันรายที่อยู่ขอบๆ อย่างเช่น ชาร์ป, อินเทล, และแอลจี แล้วเมื่อประเมินผลโดยดูจากจำนวนสิทธิบัตรที่ผ่านการพิจารณาได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนได้ หัวเว่ยก็ตามหลังทั้งโนเกีย, ซัมซุง, และแอลจี

“อิริคสัน, โนเกีย, และซัมซุง แต่ละรายต่างมีความสามารถคล้ายๆ กันในการสร้างเครือข่าย 5 จีตั้งแต่ต้นจนจบ โดยที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ยเลย”

การตอบโต้ของหัวเว่ย: “ตามการศึกษาของ ซีพีเอ โกลบอล (CPA Global) บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา เรามีปริมาณสิทธิบัตรด้าน 5จี สูงที่สุด รวมทั้งมีพวกตระกูลสิทธิบัตรได้รับการจดทะเบียนแล้ว ซึ่งเป็นแกนกลางของ 5จี อยู่เป็นจำนวนมากที่สุด ในความพยายามอย่างไร้เหตุผลของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าอุปกรณ์ 5จี ของหัวเว่ยไม่ได้เป็นอุปกรณ์ที่ก้าวหน้าที่สุดนี้ ทางกระทรวงกระทั่งเปรียบเทียบพวกสิทธิบัตรของหัวเว่ย กับพวกสิทธิบัตรของชาร์ป, อินเทล, และแอลจี ทั้งๆ ที่พวกบริษัทเหล่านี้ ไม่ได้เป็นซัปพลายเออร์อุปกรณ์ 5จี แต่อย่างใด

“ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศแผนการ 5จี ของอเมริกาออกมาในเดือนเมษายน 2019 แต่การวิจัยของหัวเว่ยในเรื่องนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อ 1 ทศวรรษก่อน นี่จึงทำให้เราอยู่ในฐานะออกสตาร์ทก่อนคนอื่นๆ ไกลมาก ทุกวันนี้เราเป็นบริษัทแห่งเดียวในโลกที่ทำทั้งโทรศัพท์มือถือ 5จี, สถานีฐาน 5จี, สายใยแก้วนำแสง 5จี, ตลอดจนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่เป็นเครือข่ายแกนกลางของ 5จี เราเป็นผู้ครอบครองสิทธิบัตรด้าน 5จี เอาไว้ราว 20% ของทั้งหมด –มากกว่าผู้ขายอุปกรณ์เครือข่ายรายอื่นๆ ไม่ว่ารายไหนก็ตามในโลกนี้”

เรื่องโกหกหลอกลวงหมายเลข 3: หัวเว่ยยึดถือคุณค่าต่างๆ อย่างเดียวกับของเรา

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ: “การกระทำต่างๆ ของหัวเว่ยไม่ได้เข้ากับคุณค่าแบบประชาธิปไตยเอาเลย หัวเว่ยกล่าวว่าตนเองยึดถือในคุณค่าต่างๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สิทธิของปัจเจกบุคคล, ความเป็นส่วนตัว, หลักนิติธรรม, และอำนาจอธิปไตย ทว่าการกระทำต่างๆ ของหัวเว่ย กลับบ่งชี้ให้เห็นเป็นอย่างอื่น –บริษัทให้การสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นแก่พวกระบอบการปกครองเผด็จการ, การโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา, และการเฝ้าติดตาม ซึ่งถูกใช้ไปในการควบคุมประชากรของจีนและในการปราบปรามพวกชนกลุ่มน้อยของจีน

“อย่างที่ผู้บริหารระดับท็อปของหัวเว่ยได้เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2018 ที่ว่า ‘เรามีระบบคุณค่าของพวกเราเอง’ ผู้บริหารผู้นี้ยังยอมรับอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า หัวเว่ยไม่ได้ปฏิบัติตาม “กฏระเบียบการปกป้องคุ้มครองข้อมูลโดยทั่วไป” (General Data Protection Regulation ใช้อักษรย่อว่า GDPR) ของอียู และก็ยังจะไม่ปฏิบัติตามไปอีกอย่างน้อย 5 ปี”

การตอบโต้ของหัวเว่ย: “ในปริมณฑลดิจิตอลนั้น คุณค่าที่ได้รับการยกย่องว่าสอดคล้องถูกเรื่องถูกราว ก็คือ สิทธิทางด้านความมั่นคงและความเป็นส่วนตัว หัวเว่ยให้คุณค่าแก่สิ่งเหล่านี้มากพอๆ กับที่บรรดาพลเมืองของอเมริกาให้คุณค่า –โดยบางทีอาจจะมากกว่าที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯให้คุณค่าด้วยซ้ำไป อย่างที่หัวเว่ยได้เน้นย้ำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน เรานั้นปฏิบัติตามบรรดากฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวในทั่วโลกทุกๆ ฉบับที่สามารถนำมาใช้ได้ รวมทั้ง “กฏระเบียบการปกป้องคุ้มครองข้อมูลโดยทั่วไป” ของอียูด้วย

“สำหรับเรื่องความมั่นคง ไม่มีลูกค้าหัวเว่ยรายใดเลยมีประสบการณ์ว่าพบรูรั่วรูโหว่ขนาดใหญ่ๆ ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และก็ไม่ได้เคยมีหลักฐานปรากฏเลยว่า หัวเว่ยได้เคยยินยอมอ่อนข้อให้แก่รัฐบาลจีนหรือตัวแสดงรายอื่นๆ ไม่ว่ารายใดก็ตาม แต่ในทางตรงกันข้าม สหรัฐฯกลับมีภาพรวมของผลงานที่ผ่านมาซึ่งเป็นที่รับรู้กันอย่างยาวนานแล้ว ในเรื่องการดัดแปลงผลิตภัณฑ์ดิจิตอลต่างๆ เพื่อใช้ในการเก็บรวบรวมข่าวกรอง”


เรื่องโกหกหลอกลวงหมายเลข 4: หัวเว่ยปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของลูกค้าและของหุ้นส่วนทางธุรกิจเสมอมา

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ: “สิ่งที่หัวเว่ยได้กระทำมา ให้ภาพรวมของบริษัทว่าเป็นสายลับ, กระทำโจรกรรม, และสนับสนุนพวกระบอบการปกครองเผด็จการ หัวเว่ยถูกฟ้องร้องในคดีความเรื่องโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งจาก โมโตโรลา, นอร์เทล, ซิสโก, และบริษัทอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งนี้หัวเว่ยได้ตกลงยอมความในบางคดีด้วยการจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายและการยอมรับว่ากระทำความผิดจริง

“หัวเว่ยยังถูกตัดสินโดยคณะลูกขุนว่ากระทำความผิดฐานโจรกรรมความลับทางการค้าจาก ที-โมไบล์ (T-Mobile) ในปี 2017 รวมทั้งหัวเว่ยถูกกล่าวหาว่าจ่ายเงินโบนัสให้แก่พวกลูกจ้างพนักงานของบริษัทซึ่งโจรกรรมความลับทางการค้าจากพวกคู่แข่ง เวลาเดียวกันมีรายงานว่าหัวเว่ยได้ขายอุปกรณ์ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในลักษณะที่เป็นการละเมิดมาตรการแซงก์ชั่น ให้แก่พวกระบอบการปกครองอันกดขี่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน, เกาหลีเหนือ, หรือซีเรีย

“มีรายงานว่าพวกนักเทคนิคของหัวเว่ยยังได้ช่วยเหลือรัฐบาลหลายรัฐบาลในแอฟริกาในการสืบความลับของพวกฝ่ายค้านทางการเมือง”

การตอบโต้ของหัวเว่ย: “มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะบรรลุความสำเร็จเชิงพาณิชย์จนถึงระดับนี้ด้วยการโจรกรรม ถ้าหากเราพยายามที่จะกระทำเช่นนั้นจริงๆ แล้ว พวกลูกค้าก็จะต้องทอดทิ้งหนีห่างจากเราไปตั้งแต่เมื่อหลายๆ ปีก่อนแล้ว หัวเว่ยไม่จำเป็นต้องขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของใครเลย เพราะเรามีของเราเองอย่างมากมายอยู่แล้ว เมื่อปีที่แล้ว เราได้ยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรมากกว่า 5,000 รายการกับทางองค์การทรัพย์สิทธิทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization)

“เรานั้นชำระค่าธรรมเนียมสำหรับทรัพย์สินทางปัญญาที่เราขอไลเซนซ์จากบริษัทอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา หัวเว่ยได้จ่ายเงินไปมากกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์เป็นค่าไลเซนซ์สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่บริษัทได้มาจากฝ่ายที่สาม 80%ในจำนวนนี้เป็นการจ่ายให้แก่พวกบริษัทสหรัฐฯ พวกผู้กล่าวหาให้ร้ายซึ่งพยายามที่จะใส่ความหัวเว่ย ชี้ถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเราถูกฟ้องร้องจากพวกคู่แข่งของเราบางรายด้วยข้อกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา แต่พวกผู้กล่าวหาให้ร้ายเหล่านี้อาจจะไม่ได้ตระหนักเลยว่า ในภาคอุตสาหกรรมเทคนั้น ลักษณะที่โดดเด่นอย่างหนึ่งก็คือมีการฟ้องร้องเรื่องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญากันบ่อยมาก”

เรื่องโกหกหลอกลวงหมายเลข 5: เครือข่ายที่กำลังใช้ 4จี ของหัวเว่ย จะต้องใช้ 5จีของบริษัทด้วย ไม่เช่นนั้นจะเจอกับค่าใช้จ่ายซึ่งแพงลิ่วตลอดจนประสบความล่าช้า

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ: “อุปกรณ์ของหัวเว่ยนั้นสามารถที่จะใช้ของบริษัทอื่นแทนได้อย่างง่ายดายเมื่อถึงเวลาที่ควรจะต้องเปลี่ยน หัวเว่ยเที่ยวแพร่กระจายความคิดผิดๆ ที่ว่าผู้ที่กำลังใช้โครงสร้างพื้นฐาน 4จี หัวเว่ยอยู่ จะต้องซื้อ 5จี ของหัวเว่ยด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะต้องเจอค่าใช้จ่ายพิเศษเพิ่มเติม และประสบกับความล่าช้าถ้าหากใช้วิธีรื้อตัดเฉพาะบางส่วนแล้วเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ 5จี ของผู้ขายรายอื่น หรือที่เรียกว่าวิธีการ “rip and replace”

“4จี หัวเว่ยที่มีอยู่แล้วสามารถที่จะเปลี่ยนไปใช้ 5จี ของรายอื่นได้อย่างง่ายดายเมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยน ต้นทุนแท้จริงของการเปลี่ยนอุปกรณ์สถานีฐาน (radio access equipment) จากหัวเว่ยไปเป็นการใช้รายอื่นในตลอดทั่วทั้งยุโรปนั้น ประมาณการกันเอาไว้ว่าอยู่ที่เพียงแค่ 3,500 ล้านดอลลาร์ –นั่นคือ 7 ดอลลาร์ต่อลูกค้าลงทะเบียนใช้โทรศัพท์ไร้สายแต่ละราย— และจะไม่ทำให้ต้องประสบความล่าช้าอย่างสำคัญในการเปิดตัว 5จี แต่อย่างใด รวมทั้งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาของการติดตั้งใช้งานระบบ 5จี ใหม่”

การตอบโต้ของหัวเว่ย: “กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯบอกว่าค่าใช้จ่ายในการนำเอาของรายอื่นมาแทนที่อุปกรณ์หัวเว่ยในยุโรป อยู่ที่ราคาประมาณ “เพียงแค่ 3,500 ล้านดอลลาร์” ถึงแม้การเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์เครือข่ายของรายอื่นๆ ถือเป็นเรื่องค่อนข้างสามัญพบเห็นได้ทั่วไปก็จริง แต่การถอดอุปกรณ์หัวเว่ยออกแล้วใช้ของรายอื่นแทนที่นั้น แน่นอนทีเดียวว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าที่รัฐบาลสหรัฐฯประมาณการเอาไว้

“ตามรายงานที่เผยแพร่ทาง เดลี่เมล์ (Daily Mail) (หนังสือพิมพ์ที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงลอนดอน) การสั่งห้ามซึ่งจะหยุดยั้งทำให้หัวเว่ยไม่สามารถเป็นผู้ซัปพลายอุปกรณ์ให้แก่เครือข่ายไร้สาย 5จี ในอังกฤษได้นั้น จะต้องให้กิจการต่างๆ ในอังกฤษเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 1,000 ล้านปอนด์ (1,300 ล้านดอลลาร์) นี่ว่าเฉพาะในอังกฤษแห่งเดียวเท่านั้น สำหรับการศึกษาของ ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ (Oxford Economics)* ประมาณการว่าหากมีการแบนบริษัทไม่ให้เข้าร่วมเครือข่าย 5จี แล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 11,800 ล้านดอลลาร์ในอังกฤษ, 13,800 ล้านดอลลาร์ในเยอรมนี, และ 15,600 ล้านดอลลาร์ในฝรั่งเศส การประมาณการเหล่านี้ยังไม่ได้มีการคำนวณค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในประเทศยุโรปอื่นๆ

*รายงานเรื่อง Restricting Competition in the 5G Network Equipment – An Economic Impact Study ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ เป็นผู้จัดทำ โดยมีหัวเว่ยเป็นผู้ออกเงิน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.oxfordeconomics.com/recent-releases/Economic-Impact-of-Restricting-Competition-in-5G-Network-Equipment)

เรื่องโกหกหลอกลวงหมายเลข 6: หัวเว่ยเป็นเหยื่อรายหนึ่งของ “สงครามการค้า” สหรัฐฯ-จีน

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ: “บริษัทอื่นๆ ที่สามารถเลือกใช้แทนได้ หากไม่ใช้อุปกรณ์ 5จี ของหัวเว่ยนั้น ไม่ได้มีบริษัทสหรัฐฯรวมอยู่ด้วยเลย ในปัจจุบันไม่มีบริษัทอเมริกันรายใดกำลังเสนอโซลูชั่นเครือข่าย 5จี แบบตั้งแต่ต้นจนจบเลย ความกังวลด้านความมั่นคงที่สหรัฐฯแสดงออกมา จึงเป็นเรื่องของการมุ่งหาทางทำให้เกิดความมั่นใจเกี่ยวกับความมั่นคงร่วมของพวกเราอย่างแท้จริง พวกซัปพลายเออร์ที่เป็นทางเลือกอื่นๆ ซึ่งสามารถเสนอโซลูชั่นแบบตั้งแต่ต้นจนจบนั้น ต่างตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในพวกประเทศประชาธิปไตยซึ่งเคารพในหลักนิติธรรม และให้การคุ้มครองด้านศาลยุติธรรมที่จะป้องกันการมีอำนาจมากเกินไปของรัฐบาล อันได้แก่ อิริคสัน (สวีเดน), โนเกีย (ฟินแลนด์), และ ซัมซุง (เกาหลีใต้)”

การตอบโต้ของหัวเว่ย: “ขณะที่แรงกระตุ้นผลักดันสำคัญที่สุดซึ่งอยู่เบื้องหลังการรณรงค์ต่อต้านหัวเว่ยของวอชิงตัน คือ เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ แต่การรณรงค์นี้ก็โยงใยเกี่ยวข้องกับเรื่องสงครามการค้าด้วย ประธานาธิบดีทรัมป์เองยังยอมรับเรื่องนี้เอาไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 ตอนที่เขาให้ความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีการทำความตกลงทางการค้ากับจีนนั้น โดยประธานาธิบดีทรัมป์พูดว่า “ถ้าพวกเรา (สหรัฐฯกับจีน) ทำดีลกันได้ ผมก็สามารถจินตนาการได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่หัวเว่ยจะถูกนำมารวมเข้าไว้ด้วยในบางรูปแบบหรือในบางส่วนของดีลนี้”

เรื่องโกหกหลอกลวงหมายเลข 7: ข้อตกลงเรื่องการแชร์โคด (Shared code) และข้อตกลงยืนยันว่า “ไม่มีการสอดแนมสืบความลับใดๆ” (no-spy) จะทำให้มีความปลอดภัยขึ้นมาได้

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ: “คำมั่นสัญญาต่างๆ ในเรื่องนี้ของหัวเว่ยเป็นการเล่นละครโดยแท้ แม้กระทั่งพวกประเทศที่ปัจจุบันทำงานร่วมกับหัวเว่ย ก็ยังบอกว่าพวกเขาไม่สามารถทำซ้ำซอร์สโคด (source code) ของหัวเว่ยได้ และจะไม่มีทางทราบเลยว่าหัวเว่ยบอกความจริงหรือไม่ในเรื่องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ 5จี ของบริษัท หัวเว่ยนั้นสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง ชอร์สโคด 5จี ของตนได้ทุกเวลา ด้วยการเพิ่ม “ประตูหลัง” หรือ “สวิตช์ที่ทำให้ระบบเดี้ยง” เข้าไปกับการอัปเดตระบบอย่างรวดเร็ว ซึ่งในทางเป็นจริงแล้วไม่มีใครสามารถที่จะเฝ้าติดตามตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะโดยใช้มนุษย์หรือใช้เครื่องจักร

“ไม่ว่าหัวเว่ยจะให้คำมั่นสัญญาว่าอย่างไร แต่กฎหมายข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence Law) และกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cybersecurity Law) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็กำหนดให้บริษัทต้องให้ความร่วมมืออย่างปิดไว้เป็นความลับตามแต่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะเรียกร้องต้องการ –โดยรวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลอ่อนไหวของลูกค้าด้วย นอกจากนั้นแล้ว ก็ดังที่มีการกำหนดเอาไว้ให้บริษัททุกๆ แห่งในประเทศจีนต้องปฏิบัติตาม ภายในโครงสร้างบริษัทของหัวเว่ย ก็มีสาขาของพรรคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน วางเครือข่ายครอบคลุมอยู่”

การตอบโต้ของหัวเว่ย: “ไม่มีกฎหมายของจีนใดๆ เลยที่กำหนดให้พวกบริษัทเอกชนของจีนต้องเข้ามีส่วนร่วมในการจารกรรมทางไซเบอร์ และรัฐบาลจีนก็ไม่ได้เข้าควบคุมบรรดาบริษัทเอกชนที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ภายในเขตพรมแดนของตน องค์การอิสระต่างๆ ในอังกฤษ, เยอรมนี, และเบลเยียม คอยติดตามทดสอบผลิตภัณฑ์ของเราอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่บริษัทเราก่อตั้งขึ้นในปี 1987 ก็ไม่ได้มีลูกค้าหัวเว่ยแม้แต่รายเดียวที่เคยประสบกับการรั่วไหลทางด้านความมั่นคงทางไซเบอร์อย่างใหญ่โต

“สืบเนื่องจากระดับของการติดตามตรวจสอบซึ่งหัวเว่ยและอุปกรณ์ของเราประสบอยู่ รวมทั้งความลึกซึ้งของเทคโนโลยีความมั่นคงเครือข่าย ความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะติดตั้งประตูหลังเข้าไปในฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ของเราจะถูกลูกค้าตรวจพบแน่ๆ อะไรก็ตามที่บิดผันไปจากแบบแผนปกติธรรมดาแล้ว ในไม่ช้าก็เร็วจะต้องถูกตราหน้าเปิดโปง แล้วในทันทีที่เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นมา ก็จะไม่มีบริษัทใดหรือรัฐบาลไหนในโลกที่จะซื้ออุปกรณ์ของเรากันอีกเลย เราก็จะต้องล่มสลายไป”

เรื่องโกหกหลอกลวงหมายเลข 8: หัวเว่ยเป็นบริษัทอิสระ ปลอดจากการถูกรัฐบาลก้าวก่ายแทรกแซง

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ: “หัวเว่ยมีสายสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนและฝ่ายทหารของจีน ขณะที่หัวเว่ยไม่ได้อนุญาตให้ผู้สอบบัญชีภายนอกเข้าไปตรวจสอบบัญชี ด้วยเหตุนี้สุขภาพที่แท้จริงของบริษัท –อันรวมถึงยอดขายและผลกำไรด้วย – จึงไม่สามารถที่จะตรวจสอบยืนยันอย่างปราศจากอคติได้ อัตลักษณ์ตัวตนที่แท้จริงของผู้ที่เป็นเจ้าของหัวเว่ยถึง 99% ทีเดียว รวมทั้งกระบวนวิธีในการดำเนินงานอย่างแท้จริงของบริษัท คือความลับที่ถูกปิดบังอย่างเหนียวแน่น ทราบกันเฉพาะบุคคลเพียงหยิบมือเดียวภายในประเทศจีน

“หัวเว่ยอ้างว่าผู้ที่เป็นเจ้าของบริษัทคือพวกพนักงานทั้งหลายโดยถือหุ้นผ่านทางสหภาพแรงงานแห่งหนึ่ง ทว่าสหภาพแรงงานทุกแห่งในจีนนั้นในความเป็นจริงแล้วล้วนมีรัฐเป็นเจ้าของ หัวเว่ยกับพวกลูกจ้างของบริษัทก็ร่วมมือกับกองทัพปลดแอกประชาชนของสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่บ่อยๆ”

การตอบโต้ของหัวเว่ย: “ขอตอบโต้การกล่าวหาอย่างผิดๆ ช่วงที่สองก่อน ที่บอกว่าผู้ถือหุ้นของหัวเว่ย “เป็นความลับที่ถูกปกป้องอย่างมิดชิด” นั้น เป็นข้อกล่าวหาที่ห่างไกลความเป็นจริงเหลือเกิน อัตลักษณ์ตัวตนของพวกผู้ถือหุ้นของบริษัทเรานั้น ใครก็ตามที่ต้องการได้ข้อมูลข่าวสารนี้ย่อมจะสามารถหาได้อยู่แล้ว เรานั้นเชื้อเชิญพวกนักข่าวและแขกคนอื่นๆ ให้มาเยือนสำนักงานใหญ่ของบริษัทเรา ที่ซึ่งพวกเขาสามารถอ่านตรวจพิจารณาทะเบียนผู้ถือหุ้นของเราได้อย่างเสรี

“หัวเว่ยเป็นบริษัทเอกชนที่พนักงานของเราเป็นผู้ถือหุ้น 100% เต็ม ผู้ถือหุ้นรายบุคคลซึ่งถือหุ้นเอาไว้มากที่สุด ได้แก่ เหริน เจิ้งเฟย ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท โดยเป็นเจ้าบริษัทแห่งนี้อยู่เพียงแค่เกิน 1% ไปนิดเดียว ส่วนที่เหลืออีก 99% ของหุ้นของเรานั้นถือครองไว้โดยสหภาพแรงงานของหัวเว่ย พวกเขาไม่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลจีนหรือองค์การที่อยู่ในเครือของรัฐบาลใดๆ ทั้งสิ้น สหภาพแรงงานนี้ก็ไม่ได้รายงานการดำเนินงานทางธุรกิจของหัวเว่ยต่อสหภาพแรงงานของจีนแห่งอื่นๆ ไม่ว่าในระดับไหนก็ตามที

“แต่ถึงแม้เราเป็นกิจการที่ถือครองโดยภาคเอกชน เราก็ยังคงเผยแพร่รายงานประจำปีซึ่งบรรจุเอาไว้ด้วยบรรดารายงานทางการเงินอย่างละเอียด ให้สาธารณชนรับทราบ รายงานนี้ได้รับการสอบบัญชีรับรองโดย (บริษัทสอบบัญชีชื่อดังระดับโลก) เคพีเอ็มจี (KPMG) สำหรับข้อกล่าวหาเรื่องสายสัมพันธ์กับรัฐบาลนั้น: เราไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นพิเศษใดๆ กับรัฐบาลแห่งไหนๆ เลย รวมทั้งรัฐบาลของประเทศจีน”

เรื่องโกหกหลอกลวงหมายเลข 9: การสกัดกั้นขัดขวางหัวเว่ย จะสร้างความเสียหายให้แก่การแข่งขัน และชะลอการเปิดตัว 5จี ให้ล่าช้าออกไป

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ: “ประเทศต่างๆ ไม่ควรที่จะรีบร้อนเพื่อไปประสบความล้มเหลว ในเมื่อทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากหัวเว่ยเป็นสิ่งที่สามารถหาได้อยู่แล้วในปัจจุบัน หัวเว่ยพยายามส่งเสริมสนับสนุนวาทกรรมผิดๆ ที่ว่าการแบนตนเองจะทำให้ประเทศนั้นๆ ต้อง “ตกหล่นอยู่ข้างหลัง” ปัจจุบันบริษัทอื่นๆ ก็เป็นเจ้าของศักยภาพและขนาดขอบเขตที่จะเติมเต็มความต้องการต่างๆ ของตลาดได้ ด้วยการจัดหาอุปกรณ์ 5จี ซึ่งมีคุณภาพเปรียบเทียบกับหัวเว่ยได้ หรือกระทั่งดีกว่าด้วยซ้ำ

“เทคโนโลยี 5จี นั้นกำลังอยู่ในช่วงเป็นทารกเดินเตาะแตะ –ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เครือข่ายยังจะวิวัฒนาการต่อไปและปรับปรุงยกระดับให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่การใช้งานในกรณีต่างๆ (เป็นต้นว่า ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ autonomous vehicles และโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตฉลาดหลักแหลม smart manufacturing) ก็กำลังได้รับการพัฒนาไป การเปิดทางให้หัวเว่ยยังคงสามารถใช้วิธีปฏิบัติแบบต่อต้านการแข่งขันมาตัดทอนการแข่งขันนั้น จะเป็นอันตรายต่อตลาดที่เป็นธรรมยิ่งกว่าการแบนบริษัทนี้มากมายนัก”

การตอบโต้ของหัวเว่ย: “พวกผู้ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม คือผู้ที่จะเปิดตัวนำเอาเครือข่าย 5จี ออกมา พวกเขานี่แหละ ไม่ใช่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯหรอก ที่ทราบดีว่าการสกัดกั้นขัดขวางหัวเว่ยจะชะลอการเปิดตัว 5จี หรือไม่

“ในความเป็นจริง พวกผู้ให้บริการในอังกฤษ, เยอรมนี, และประเทศอื่นๆ ได้กล่าวสรุปออกมาแล้วว่า การสกัดกั้นขัดขวางหัวเว่ยจะชะลอการเปิดตัวเครือข่าย 5จี หลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานย่อมบอกให้คุณทราบอยู่แล้วว่า การกีดกันคู่แข่งสำคัญรายหนึ่งให้ออกไปนอกวง สามารถที่จะเป็นปัญหาขึ้นมาได้อย่างแน่นอน ในเมื่อตั้งแต่ตอนเริ่มต้นทีเดียวก็มีคู่แข่งขันเพียงแค่หยิบมือเดียวอยู่แล้ว”

หมายเหตุบรรณาธิการ: ฝรั่งเศสจะไม่แบนหัวเว่ยจากการเข้าร่วมเครือข่าย 5จี เจเนอเรชั่นหน้าของประเทศตน แต่จะตรวจสอบพวกผู้ผลิตอุปกรณ์ทั้งหมดเพื่อดูว่าอาจจะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงใดๆ หรือไม่ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเอาไว้เช่นนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/us-france-huawei-minister/france-will-not-exclude-chinas-huawei-from-5g-rollout-minister-idUSKBN1XZ1U9) สำหรับอังกฤษยังคงไม่ได้มีการตัดสินใจอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องจะให้หัวเว่ยมีส่วนในการเปิดตัว 5จี ในประเทศตนหรือไม่ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.nikkei.com/Spotlight/5G-networks/Huawei-opens-London-5G-center-as-UK-weighs-ban) ส่วนเยอรมนีจะตัดสินใจเรื่องให้หัวเว่ยเข้ามีส่วนในโครงสร้างพื้นฐาน 5จี หรือไม่ โดยอิงอยู่กับประเด็นปัญหาด้านความมั่นคง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/us-germany-china-huawei/with-or-without-huawei-german-coalition-delays-decision-on-5g-rollout-idUSKBN1YL22Z)

(เอกสารของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ชื่อ US Department of State – Huawei: Myth vs Fact | Full Report ดูได้ที่ https://translations.state.gov/2019/12/09/huawei-myth-vs-fact/)

(เอกสารตอบโต้ของหัวเว่ย ชื่อ Huawei – Facts, Not Myths | Full Report ดูได้ที่ https://huawei.eu/press-release/huawei-facts-not-myths)
กำลังโหลดความคิดเห็น