รอยเตอร์ - องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยวานนี้ (8 ม.ค.) ว่าการแพร่ระบาดของโรคปอดบวมซึ่งพบผู้ป่วยแล้วกว่า 50 รายที่เมืองอู่ฮั่นของจีนอาจจะเกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งแตกต่างจากไวรัสโรค SARS และ MERS ที่เคยระบาดก่อนหน้านี้
WHO อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อระบุชนิดของไวรัสที่ทำให้เกิดอาการปอดบวม แต่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่สถานีโทรทัศน์แห่งชาติจีนออกมาสรุปยืนยันแล้ว
“ในวันที่ 7 ม.ค. ปี 2020 ห้องปฏิบัติการได้ตรวจพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” สถานีโทรทัศน์ CCTV รายงาน “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้มีความแตกต่างจากโคโรนาไวรัสที่เคยพบในมนุษย์ และต้องมีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจมัน”
รายงานของ CCTV ไม่ได้ระบุชื่อห้องปฏิบัติการ หรือคณะผู้เชี่ยวชาญที่ค้นพบข้อมูลดังกล่าว
โคโรนาไวรัสถือเป็นตระกูลไวรัสขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้หลายชนิด ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดาเรื่อยไปจนถึงโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) และโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS)
การระบาดของโรคปอดบวมซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค. ทำให้มีผู้ป่วยแล้วทั้งสิ้น 59 ราย จากข้อมูลล่าสุดของทางการจีนเมื่อวันอาทิตย์ (5)
โคโรนาไวรัสเคยเป็นสาเหตุการแพร่ระบาดของโรค SARS ในปี 2002 และโรค MERS ในปี 2012
ทางการจีนระบุว่า ไวรัสโรคปอดบวมที่เมืองอู่ฮั่นทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการค่อนข้างรุนแรง แต่ดูเหมือนจะไม่แพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ง่าย
เมื่อปี 2003 เจ้าหน้าที่จีนเคยพยายามปิดข่าวการระบาดของโรค SARS เอาไว้นานหลายสัปดาห์ กระทั่งมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเกิดกระแสข่าวลือไปทั่ว ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องออกมาเผยความจริง
เชื้อไวรัสได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปตามเมืองและประเทศต่างๆ และทำให้มีผู้ป่วยมากกว่า 8,000 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 775 ราย