กรมควบคุมโรค ยังไม่ฟันธงต้นตอป่วยปอดอักเสบระบาดที่อู่ฮั่น ประเทศจีน ใช่ "โรคซาร์ส" หรือไม่ แต่ไม่ได้เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ หวัดนก อะดิโนไวรัส หรือโรคทางเดินหายใจทั่วไป สั่งการด่านควบคุมโรคเฝ้าระวังคัดกรองเข้มคนเดินทางมาจากอู่ฮั่น
วันนี้ (4 ม.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีพบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสจำนวน 44 ราย ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ทางการจีนได้ดำเนินการสอบสวนโรคและอยู่ระหว่างการตรวจหาสาเหตุ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุการก่อโรค แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ไม่ใช่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก อะดิโนไวรัส หรือโรคทางเดินหายใจที่พบได้ทั่วไป ทั้งนี้ คร.ได้มอบหมายให้ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ทำการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น โดยการคัดกรองอาการไข้ และอาการที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ ในผู้ที่เดินทางจากเมืองอู่ฮั่น เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งมีหลายสายการบิน และสนามบินที่เตรียมรับ ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ได้ประกาศให้โรคซาร์ส (SARS) เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งต้องมีการรายงานผู้ป่วยที่สงสัย ทำการแยกกัก โดยมีการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ และทีมสอบสวนโรคติดต่ออันตราย ซึ่งมีในทุกจังหวัด และในส่วนกลางอีก 8 ทีม โดยโรคซาร์สหรือโรคทางระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนาไวรัส เดิมพบการติดเชื้อได้เฉพาะในสัตว์ที่มีขนาดเล็ก แต่ต่อมามีการกลายพันธุ์ เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ขึ้น และแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงแรกผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือมีอาการติดเชื้อที่ปอดและทางเดินหายใจ เช่น ไอแห้ง หรือหายใจลำบาก เป็นต้น
"สถานการณ์ของโรคซาร์สในประเทศไทย ไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยยืนยันภายในประเทศ ยกเว้นเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกที่ป่วยด้วยโรคซาร์ส และเดินทางเข้ามารับการรักษาที่ประเทศไทย โดยไม่มีการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติม สำหรับประเทศจีน เคยมีโรคซาร์สระบาดเมื่อปี 2546 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 349 ราย" นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า คำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อปอดอักเสบ เนื่องจากองค์การอนามัยโลกยังไม่มีประกาศห้ามการเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าว จึงสามารถเดินทางไปได้ แต่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ คือ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมีมลภาวะที่เป็นพิษ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว รักษาร่างกายให้อบอุ่น ส่วนคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ หากมีอาการเริ่มป่วย เช่น มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ขอให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวมได้