xs
xsm
sm
md
lg

ข้าหลวงใหญ่ฯUNแพร่ถ้อยแถลงชื่นชมไทย หลังครม.มีมติเห็นชอบตั้งระบบคัดกรองผู้ลี้ภัย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพ) ภาพเมื่อครั้ง ปู ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ทูตสันถวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(UNHCR)เดินทางไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่สุรินทร์ 31 มกราคม 2018 -- ขอบคุณภาพจาก UNHCR ประจำประเทศไทย(https://www.unhcr.or.th/)
UNHCR - สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เผยแพร่ถ้อยแถลงในวันพฤหัสบดี(26ธ.ค.) ชื่นชมไทย หลังคณะมนตรีมีมติเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ อนุมัติการจัดตั้งระบบเพื่อคัดกรองบุคคลที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศ ชี้ระบบนี้จะทำให้การคุ้มครองผู้ลี้ภัยมีเสถียรภาพมากขึ้น

ถ้อยแถลงระบุว่า UNHCR รู้สึกยินดีที่คณะรัฐมนตรีของไทยมีมติเมื่อวันอังคาร(24ธ.ค.) อนุมัติการจัดตั้งระบบเพื่อคัดกรองบุคคลที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศ มตินี้สืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มกราคม 2560 เห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งและปรับใช้ระบบดังกล่าว

ประเทศไทยมิได้เป็นภาคีในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยปี 1951 และไม่มีกฏมายว่าด้วยผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุนี้ผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยผู้ซึ่งมิได้มีสิทธิตามกฏหมายที่จะพำนักในประเทศไทย จึงมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฏหมาย ถ้อยแถลงระบุ

ในการนี้ เป็นที่คาดหวังว่าหลังจากมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ระบบคัดกรองนี้จะทำให้บุคคลที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศสามารถพำนักในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว และทำให้การคุ้มครองผู้ลี้ภัยมีเสถียรมากขึ้น

“มติคณะรัฐมนตรีในวันนี้แสดงให้เห็นถึงคำมั่นของรัฐบาลไทย ในการดำเนินการให้ความคุ้มครองต่อผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในอาณาเขตของไทย” นายจูเซปเป้ เด วินเซ็นทิส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าว

“สิ่งสำคัญของระบบคัดกรองคือการนำมาปรับใช้ตามหลักมาตรฐานระหว่างประเทศและหลักการการขอลี้ภัย โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ พร้อมสนับสนุนรัฐบาลไทยในเรื่องนี้อย่างเต็มที่”

มติคณะรัฐมนตรีนี้มีขึ้นหลังจากรัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นในการเสริมสร้างความสามารถและทักษะให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในการนำระบบคัดกรองมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ให้ไว้ระหว่างการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย (Global Refugee Forum: GRF) ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เป็นครั้งแรก ณ นครเจนีวา เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

การประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย(GRF) จัดขึ้นหนึ่งปีหลังจากการรับรองข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย (Global Compact on Refugees: GCR) ซึ่งนับเป็นกรอบการทำงานระหว่างนานาประเทศเพื่อเพิ่มความเสถียรและแบ่งปันความรับผิดชอบในการหาทางแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัย ซึ่งจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้หากปราศจากความร่วมมือระหว่างประเทศ

การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในระเบียบสำนักนายกฯ นี้นับเป็นผลมาจากคำมั่นของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ จันทร์โอชา ที่ได้ให้ไว้ เมื่อเดือนกันยายน 2016 ในเรื่องการจัดตั้งระบบคัดกรองดังกล่าว ณ เวทีการประชุมสุดยอดผู้นำเรื่องผู้ลี้ภัยโลก ที่จัดขึ้นที่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก
กำลังโหลดความคิดเห็น