xs
xsm
sm
md
lg

กรมคุ้มครองสิทธิฯ ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ จัดงานประกาศแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมคุ้มครองสิทธิฯ ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ จัดงานประกาศแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565)

วันนี้ (16 ธ.ค.) ณ ห้อง Conference Room 1 ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UN Conference Center) ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานประกาศแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1(พ.ศ. 2562 – 2565) โดยมี นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวรายงาน และมีนางสุนันทา เตียสุวรรณ์ รองนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คประเทศไทย และ Ms. Deirdre Boyd ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดีกับประเทศไทยเนื่องในโอกาสที่ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

สืบเนื่องจากกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 ม.ค.60 ให้เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nation Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) และจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนตามที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นโดยสมัครใจและตอบรับข้อเสนอแนะของประเทศสวีเดนในเวทีการประชุมเพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยตามกระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 สมัยที่ 25 เมื่อวันที่ 11 พ.ค.59 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และนับตั้งแต่ที่ได้รับมอบหมาย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเรื่อยมา

จนเมื่อวันที่ 29 ต.ค.62 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) ตามที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ เสนอ ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นการประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ อีกทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และยืนยันเจตนารมณ์และแสดงถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการขับเคลื่อนงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน กรมคุ้มครองสิทธิฯ จึงร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ จัดงานประกาศแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565) ขึ้นในวันนี้

ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2562) ดำเนินการด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ และประชาสังคม ภายใต้กรอบหลักการ UNGPs ซึ่งให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก ได้แก่ การคุ้มครอง (Protect) เคารพ (Respect) เยียวยา (Remedy) โดยได้เชื่อมโยงเข้ากับบริบทของประเทศไทย อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนนโยบาย กฎหมาย กฎ ระเบียบ มาตรการ แนวปฏิบัติ และบริบทสถานการณ์ภายในประเทศ รวมถึงพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และมาตรฐานสากลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงข้อท้าทาย และประเด็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข ภายในกรอบระยะเวลาการบังคับใช้แผนปฏิบัติการฯ ตลอดจนการรับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเพื่อเติมเต็มให้แผนปฏิบัติการฯ มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สะท้อนข้อเท็จจริง และสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริงเป็นสำคัญ สาระสำคัญของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครอบคลุม 4 ประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข คือ 1) แรงงาน 2) ชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 3) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 4) การลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ การประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยนั้น เป็นการเน้นย้ำเจตนารมณ์ ความตั้งใจจริง และความมุ่งมั่นในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนานาประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนทั้งภายในและระหว่างประเทศ และนำไปสู่สังคมที่สงบสุข สันติสุข มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนสืบไป

ในโอกาสนี้ รัฐบาลขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ทุกท่าน รวมทั้งภาคีเครือข่ายทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ ที่ได้ร่วมกันให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ฉบับแรกของประเทศไทย และเอเชีย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจควรปฏิบัติตนเป็นต้นแบบ (Leading by Example) ให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งหากทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญ และร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ไปสู่การปฏิบัติ ย่อมจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพ มีความเป็นอยู่ที่ดี มีสุขอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถและเติมเต็มโอกาส ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและสังคม พร้อมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิด การละเมิดสิทธิ ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาเคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม นำไปสู่สังคมแห่งการเกื้อกูลและแบ่งปัน และเมื่อประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ก็ย่อมจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป สมดั่งหลักคิดของผมที่ได้เคยกล่าวไว้ว่า “เราจะเดินหน้าไปด้วยกันและไม่ทิ้งใครไว้ข้าหลัง”

Ms. Deirdre Boyd ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การละเมิดสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นภาคธุรกิจต้องร่วมมือกับรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม ในการดำเนินการแก้ไข้ปัญหาสิทธิมนุษยชน”

Mr. Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ของสหประชาชาติในประเทศไทย จะร่วมกันสนับสนุนประเทศไทยในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ตลอดจนช่วยในการติดตามการดำเนินงานตามแผน ในขณะเดียวกัน เราจะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาค ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ












กำลังโหลดความคิดเห็น