7 ประเทศเอเชีย ประกาศร่วมมืออียู เปิดตัว “โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล” ประกาศพลาสติกใช้ครั้งเดียวจะต้องหมดไป ทุ่มงบหนุนโครงการ 336 ล้านบาท เพื่อลดใช้พลาสติก ดึงกลับมาใช้ซ้ำ-รีไซเคิล แก้ปัญหาขยะในทะเล
7 ประเทศเอเชีย ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ร่วมมือกับ สหภาพยุโรป (EU) และรัฐบาลเยอรมนี ประสานความร่วมมือในการลดขยะพลาสติกและขยะทะเล ผ่านการเปิดตัว “โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล” เมื่อวันที่ 13 พ.ย.62 ณ ห้องประชุมจี ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ United Nations Convention Center (UNCC) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การบริโภคและการผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถลดปริมาณขยะในทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้มีการจัดงานแถลงข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ
นายอาวาโร ซุริตา ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการจัดตั้ง “โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล” นั้นมาจาก การเกิดปัญหาจากขยะในทะเล ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกๆ วัน ด้วยชุมชนเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจเติบโต และลักษณะของการบริโภคและการผลิตเปลี่ยนไป ส่งผลให้จำนวนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
"ในขณะที่ระบบการจัดการขยะ เช่น คัดแยก การจัดเก็บการรีไซเคิลขยะ ยังคงขาดประสิทธิภาพ จนทำให้เกิดทะเลในทะเลมากมาย จนเกิดเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ สัตว์ทะเล รวมไปถึงความเป็นอยู่ของชุมชนที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลที่นับวันยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ มีขยะที่ไหลลงสู่ทะเลมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ในปีพ.ศ. 2560 ทวีปเอเชียได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตพลาสติกมากถึงร้อยละ 50 ของโลก" นายอาวาโรระบุ
นายอาวาโร กล่าวต่อว่า โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 10 ล้านยูโร (ราว 336 ล้านบาท) จาก สหภาพ EU , กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) และ Expertise France (EF) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การบริโภคและการผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถลดปริมาณขยะในทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งหมด 3 ปี (พ.ศ.2562-2565) โดยกิจกรรมของโครงการฯ จะถูกพัฒนาภายใต้ความร่วมมือกับภาคีในระดับประเทศ รวมทั้งคณะผู้แทนของสหภาพยุโรปในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ 7 ประเทศเอเชีย ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม โครงการฯ จะให้คำปรึกษาและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งครอบคลุมเรี่องการจัดการขยะพลาสติก การบริโภคและการผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืน การลดปริมาณขยะ ณ แหล่งทิ้งขยะลงสู่ทะเล ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำหรือขยะที่มาจากเรือ และยังสนับสนุนโครงการนำร่อง เพื่อเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ดี และยังมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
ทางด้านผู้แทนจากประเทศไทย นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานความร่วมมือหลักของโครงการฯ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำแผนการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในประเทศไทยโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล จะดำเนินงานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจะมีการร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบายในประเทศไทยเพิ่มเติม หวังว่าประเทศไทยจะได้รับองค์ความรู้ในการจัดการกับขยะทะเล และการสนับสนุนในด้านต่างๆ จากโครงการนี้
“สหภาพยุโรปมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศไทย จีน อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ในโครงการฯ ด้วยแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียน และยุทธศาสตร์ยุโรปเพื่อจัดการพลาสติก เราจึงพร้อมก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการออกแบบ การใช้ และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ขยะพลาสติกลงสู่ทะเล โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ถือเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนและการปฏิบัติงานระดับโลก และเชื่อมั่นว่าแต่ละประเทศจะสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ของแต่ละประเทศร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างกำลังในความร่วมมือในการลดขยะพลาสติก ที่ส่งผลกระทบต่อทะเล” ฯพณฯ เอกอัครราชทูต เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวเสริม
ด้านของ ฯพณฯ นายเกออร์ค ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความท้าทายระดับโลก ซึ่งรวมถึงปัญหาขยะในทะเล ต้องการแรงสนับสนุนจากทั่วโลก ประเทศเยอรมนีมีความร่วมมือกับประเทศไทยมายาวนานและประเทศภาคีอื่นๆ รวมทั้งยังสนับสนุนให้มีการจัดการขยะอย่างยั่งยืนและการนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ทั่วโลก กิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความความร่วมมือมากขึ้น ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
"เราต้องมุ่งเน้นไปที่การหลีกเลี่ยง การรวบรวม การรีไซเคิลและการทิ้งขยะพลาสติกไปพร้อมกัน แทนที่จะปล่อยขยะต่างๆ เหล่านี้ลงสู่ทะเล จุดมุ่งหมายที่สำคัญของเราก็คือ พลาสติกจะต้องลดลง ถูกนำกลับมาใช้ซ้ำและรีไซเคิล ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่วางไว้แน่นอน" นายชมิดท์กล่าว