xs
xsm
sm
md
lg

มาแล้วตัวช่วยทิ้งขยะเปียก "ถุงพลาสติกสลายตัวได้" ประเดิมใช้งานกาชาด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวทช.-พันธมิตร โชว์นวัตกรรม ‘ถุงพลาสติกสลายตัวได้’ จากแล็บสู่ใช้งานจริง เหมาะใส่เศษอาหารทิ้งเป็นขยะเปียก ประเดิมงาน ‘กาชาดสีเขียว 2562’

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBiA) และพันธมิตรภาคเอกชนร่วมแถลงข่าว "ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์ จากแล็บสู่การขยายผลเพื่อใช้งานจริง” เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องคริสตัล 1-2 ชั้น 3 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค

ผลงานดังกล่าวเป็นการนำ "ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์” ผลงานวิจัยของเอ็มเทค สวทช. ที่ร่วมกับ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด พัฒนาสูตรพลาสติกชีวภาพ มาแปรรูปเป็นพลาสติกและทำการผสมสูตรเพื่อเพิ่มสมบัติทางวิศวกรรมให้เหมาะสมกับการนำไปขึ้นรูปเป็นฟิล์มบาง โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีอุตสาหกรรมพลาสติก ได้แก่ บริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด ผู้สนับสนุนวัตถุดิบเม็ดพลาสติกชีวภาพ และบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนกระบวนการเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติกสลายตัวได้ สำหรับใช้แยกขยะอินทรีย์ใน “งานกาชาด 2562” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-24 พฤศจิกายนนี้ ที่สวนลุมพินี

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า ปัญหา“ขยะพลาสติก” ทั้งบนบกและในทะเลกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกตื่นตัวกันมาก ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกสู่ท้องทะเลมากที่สุดในโลก สาเหตุสำคัญมาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use Plastic) มีอัตราส่วนที่มากถึง 40% ของขยะพลาสติกทั้งหมด จากผลกระทบของการหลุดรอดของขยะออกไปสู่สิ่งแวดล้อมทำให้ภาครัฐร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก 20 ปี และกำหนดการลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำนวน 7 ชนิด ที่พบมากในทะเลของประเทศไทยและก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และในโอกาสที่การจัดงานกาชาด ปีนี้มุ่งเป้าเป็นต้นแบบงาน ‘การกุศลสีเขียว’ เพื่อลดขยะ งดใช้โฟม ลดพลาสติก

ผู้อำนวยการ เอ็มเทค สวทช. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้สิ่งสำคัญของกระบวนการจัดการขยะมีความจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกเพื่อรวบรวมและขนส่งขยะ โดยเฉพาะขยะอินทรีย์เช่น ขยะเศษอาหาร ไม่ให้ปนเปื้อนกับขยะที่รีไซเคิลได้และขยะอื่นๆ และเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานเก็บขยะ เอ็มเทค สวทช. ได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBiA) ผลิต "ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์” ที่เป็นผลงานวิจัยของเอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด พัฒนาสูตรพลาสติกชีวภาพขึ้นโดยใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศไทยคือ แป้งมันสำปะหลัง นำมาแปรรูปเป็นพลาสติกและทำการผสมสูตรเพื่อเพิ่มสมบัติทางวิศวกรรมให้เหมาะสมกับการนำไปขึ้นรูปเป็นฟิล์มบาง

ดร.จุลเทพกล่าวว่า "ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์” เป็นนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นโดยนักวิจัยไทยและภาคเอกชนของไทย เตรียมประเดิมใช้ในงานกาชาด 2562 ตั้งแต่วันที่ 15-24 พฤศจิกายน 2562 ณ สวนลุมพินีเป็นงานแรก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคีอุตสาหกรรมพลาสติก ได้แก่ บริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด ผู้สนับสนุนวัตถุดิบเม็ดพลาสติกชีวภาพ และบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนกระบวนการเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติกสลายตัวได้

"จึงอยากเชิญชวนทุกท่านที่มาเที่ยวงานกาชาดครั้งนี้ ช่วยกันคัดแยกขยะเพื่อการนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนและส่งเสริมการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และสนับสนุนการสร้างค่านิยมใหม่ให้คนไทย บริโภคด้วยความรับผิดชอบ และสร้างสังคมที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะ ด้วยการคัดแยกตั้งแต่ต้นทางเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของโครงการในการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในทางที่ดีขึ้น"

ดร.นพดล เกิดดอนแฝก นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีพลาสติก กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง เอ็มเทค สวทช. เปิดเผยว่า จุดเด่นของถุงพลาสติกย่อยสลายได้ มีส่วนผสมจากวัตถุดิบธรรมชาติ คือ แป้งมันสำปะหลัง จากบริษัท เอสเอ็มเอสฯ นำมันสำปะหลังของเกษตรกรไทยเป็นวัตถุดิบหลักมาผสมด้วยการใช้ความร้อนหลอม ซึ่งทีมวิจัยมีการออกแบบกระบวนการผสมเทคนิค โดยหลอมนวดเนื้อวัตถุดิบให้เข้ากันได้ดี ผลิตออกมาเป็นเม็ดคอมพาวด์ หรือเม็ดพลาสติกผสมที่มีความเหนียว ยืดหยุ่นและมีความแข็งแรง สามารถเป่าขึ้นรูปได้ง่ายด้วยเครื่องจักร เครื่องเป่าถุงที่โรงงานบริษัท ทานตะวันฯ โดยที่ไม่ต้องดัดแปลงเครื่องจักรและได้ต้นแบบถุงพลาสติกย่อยสลายได้ สำหรับใช้คัดแยกขยะอินทรีย์มี 2 ขนาด คือ ถุงหน้ากว้าง 18 นิ้ว สำหรับใช้ตามร้านขายอาหาร และถุงหน้ากว้าง 30 นิ้วสำหรับวางตามจุดคัดแยกมากกว่า 40 จุดทั่วงานกาชาด โดยมีทีมงานจิตอาสาที่จะคอยให้ข้อมูลและแนะนำวิธีการคัดแยกขยะที่ถูกต้องก่อนที่ทางกรุงเทพมหานครจะนำไปบริหารจัดการขยะในโรงงานขยะต่อไป
“ทีมวิจัยเรามีความคาดหวังว่า ถุงขยะย่อยสลายได้นี้จะถูกนำไปใช้งานจริงและจะช่วยพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บขยะ สามารถจัดการขยะเปียกได้ง่ายขึ้น มีความปลอดภัย สามารถนำขยะในถุงนี้ไปทิ้งในพื้นที่ (หมักขยะ หรือหมักปุ๋ย) ถึงแม้ในห้องแล็บจะรู้ว่าถุงนี้ย่อยสลาย แต่เรายังมีทีมวิจัยที่จะไปติดตามการย่อยสลาย ขยะและถุงขยะยังจะถูกติดตามไปอีก 3 เดือนในสภาวะจริง ผลงานวิจัยนี้เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายจะจุดประกายให้ทุกคนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม” ดร.นพดล กล่าว

ด้าน ดร.วีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBiA) เปิดเผยว่า บริษัทเอสเอ็มเอสฯ สนับสนุนแป้งมันสำปะหลังดัดแปรในรูปของเม็ดพลาสติก TAPIOPLAST สำหรับผลิตถุงขยะย่อยสลายได้ในงานกาชาดปี 2562 ในฐานะที่บริษัท เอสเอ็มเอสฯ คือผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร กระดาษ กาว สิ่งทอ และอีกหลากหลายอุตสาหกรรม โดยใช้วัตถุดิบจากมันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่มากในประเทศไทย ผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าให้กับมันสำปะหลังเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้กับชาวไร่ของไทย

ดร.วีรวัฒน์ระบุว่า ปัจจุบันมีการใช้พลาสติกชีวภาพเพียง 1 % ของการใช้พลาสติกทั้งหมด และอุปสรรคในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่สำคัญคือ ปัญหาในด้านต้นทุนการผลิตทำให้การนำมาประยุกต์ใช้จริงเป็นไปได้ยาก หากบริษัทฯ สามารถช่วยลดต้นทุนส่วนนี้ได้ ก็จะเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

“การคิดค้นพัฒนาแป้งมันสำปะหลังให้อยู่ในรูปของเม็ดพลาสติก TAPIOPLAST และนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ เช่น ขึ้นแผ่นฟิล์มสำหรับถุงขยะย่อยสลายได้นั้น เนื่องจาก TAPIOPLAST มีความเข้ากันได้กับเม็ดพลาสติกย่อยสลาย จึงสามารถนำมาผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่มีคุณภาพดีและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เกิดเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปุ๋ยในดินที่เป็นประโยชน์กับพืช ดังนั้นการใช้ TAPIOPLAST เป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลาย นอกจากทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้นและยังเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม” ดร.วีรวัฒน์ กล่าว

ด้าน นางสาวนฤศสัย มหฐิติรัฐ กรรมการบริหาร บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทานตะวันมีนโยบายการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ทานตะวันเพื่อทุกชีวิตที่ยั่งยืน” และดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และสำหรับงานกาชาดประจำปี 2562 นี้ เราขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งผลักดันให้เกิดการจัดงานกาชาดในรูปแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “Green Fair” ผ่านการสนับสนุนถุงขยะพลาสติกชีวภาพที่สามารถสลายตัวได้โดยธรรมชาติ ซึ่งบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรมฯ มีการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มาโดยตลอด
“ทานตะวันฯ เชื่อว่าภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมงานกาชาดในปีนี้ นอกจากจะได้จับจ่ายสินค้าคุณภาพดี ได้มาเที่ยวภายในงานกาชาดแล้ว ทุกท่านก็มีความใส่ใจ และอยากดูแลปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วยไปพร้อมกันทุกคน สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่สลายได้ตามธรรมชาติ 100% ของบริษัทฯ ภายใต้เครื่องหมายการค้า (SUNBIO) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของบริษัทฯ เราส่งเสริมการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านช่องทางออนไลน์ พันธมิตรทางธุรกิจในช่องทาง Modern Trade และตัวแทนจำหน่ายต่างๆ อย่างไรก็ดีอยากย้ำเตือนว่าพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย พลาสติกเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และอยู่ในชีวิตประจำวัน เมื่อเรานำมาใช้ซ้ำ และมีการจัดการอย่างถูกวิธีที่เหมาะสม ซึ่งทานตะวันในฐานะองค์กรหนึ่งที่ตั้งอยู่และดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งรณรงค์ส่งเสริมกับพันธมิตรที่สนับสนุนการจัดงาน ให้งานกาชาดประจำปี 2562 นี้ ให้เป็นงานกาชาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ากับคอนเซ็ปต์ “Green Fair” นางสาวนฤศสัย กล่าวทิ้งท้าย


























กำลังโหลดความคิดเห็น